การจัดการน้ำเสียชุมชนในประเทศไทยมีการใช้ระบบบำบัดน้ำเสียหลากหลายรูปแบบ และหลากหลายขนาด ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ อาทิเช่น ความหนาแน่นของประชากร ปริมาณน้ำเสีย คุณลักษณะของน้ำเสีย รวมทั้งลักษณะของพื้นที่ที่ติดตั้งระบบ เป็นต้น โดยระบบบำบัดแต่ละประเภทมีการเดินระบบ การใช้พลังงาน และปริมาณการปล่อยก๊าชเรือนกระจกที่แตกต่างกัน ด้วยเหตุนี้ โปรแกรม ECAM จึงถูกพัฒนาขึ้นเพื่อช่วยให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในการจัดการน้ำเสียชุมชน สามารถวิเคราะห์และนำข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์จากโปรแกรมไปบริหารจัดการน้ำเสียชุมชนในแบบองค์รวมได้ ซึ่งนำไปสู่แนวทางการลดการเกิดน้ำเสีย การลดการใช้พลังงาน รวมทั้งการลดการปล่อยก๊าชเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเป็นไปตามแผนการจัดการคุณภาพน้ำ รวมทั้งการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ
ระหว่างวันที่ 1 และ 2 เมษายน พ.ศ. 2564 กรมควบคุมมลพิษ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย และ GIZ ภายใต้การสนับสนุนของโครงการการจัดการขยะและน้ำเสียชุมชน แผนงานความร่วมมือไทย-เยอรมันด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (TGCP-Waste) ได้จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรการใช้โปรแกรมประเมินการใช้พลังงานและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการจัดการน้ำเสียชุมชน เวอร์ชั่นล่าสุด (ECAM 2.2) ขึ้น ณ โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต กรุงเทพฯ โดยการอบรมแบ่งออกเป็นสองกลุ่มเป้าหมายหลัก ได้แก่ กลุ่มผู้ใช้งานโปรแกรม (User) และกลุ่มวิทยากรผู้ถ่ายทอดการใช้งานโปรแกรม (Trainers)
การอบรมในวันแรกได้เชิญผู้แทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เข้าร่วมในฐานะหน่วยงานผู้รับผิดชอบการจัดการน้ำเสียชุมชนในพื้นที่ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ใช้งานโปรแกรม และในวันที่สองของการอบรม ได้เชิญผู้แทนจากองค์การการจัดการน้ำเสีย (อจน.) กรุงเทพมหานคร (กทม) และสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค (สสภ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานผู้ให้คำแนะนำด้านการจัดการน้ำเสียชุมชนแก่ อปท. ในพื้นที่ที่รับผิดชอบร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ เพื่อช่วยขยายผลและเป็นที่ปรึกษาให้กับอปท. ในพื้นที่รับผิดชอบสำหรับการนำโปรแกรม ECAM ไปประยุกต์ใช้ต่อไป
ในระหว่างพิธีเปิด นายสมชาย ทรงประกอบ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวถึงประโยชน์ที่อปท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้รับในการขยายผลการนำเครื่องมือ ECAM ไปใช้ว่าโปรแกรมนี้ช่วยลดความยุ่งยากในการคำนวณค่าพลังงานและปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะเป็นชุดข้อมูลที่มีความสำคัญต่อการวางแผนการจัดการน้ำเสียชุมชนให้มีประสิทธิภาพสูงสุดในองค์กรและในระดับประเทศ
นายสมพร เหมืองทอง นักวิชาการสุขาภิบาลชำนาญการ จากเทศบาลนครหาดใหญ่ แสดงความเห็นในฐานะผู้มีประสบการณ์การใช้โปรแกรม ECAM ตั้งแต่เวอร์ชั่นแรกว่า ความท้าทายหลักในระยะเริ่มต้น คือ การรวบรวมข้อมูลพื้นฐานให้เพียงพอต่อการคำนวณในโปรแกรม เนื่องจากหลายองค์กรมักมีข้อมูลในส่วนนี้ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลกิจกรรม (Activity Data) เช่น จำนวนประชากรที่ได้รับบริการ ค่าไฟฟ้ารายเดือน ปริมาณน้ำเสียที่เข้าสู่ระบบ เป็นต้น ซึ่งการเก็บข้อมูลอย่างถูกต้องและเป็นระบบจะช่วยให้โปรแกรมสามารถคำนวณผลลัพธ์ที่สะท้อนความเป็นจริง นำไปสู่การวางแผนการแก้ปัญหาที่รวดเร็วและตรงจุด ลดค่าใช้จ่ายในการเดินระบบ และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ระหว่างการฝึกอบรม คณะทำงานได้รวบรวมและนำข้อเสนอแนะของผู้เข้าร่วมอบรมไปพิจารณาปรับปรุงโปรแกรมให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้งานในประเทศไทย และวางแนวทางการนำโปรแกรมไปใช้ต่ออย่างเป็นรูปธรรมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป