อาเซียนจัดอบรมการจัดการการแพร่ระบาดของข้อมูลด้านสาธารณสุข เพื่อเสริมศักยภาพสาธารณสุขฉุกเฉิน

ภาพหมู่ของผู้เข้าร่วมจากประเทศสมาชิกอาเซียน องค์กรอนามัยโลก องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) สำนักความร่วมมือระหว่างประเทศ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขประเทศไทยและมาเลเซีย
- การอบรมเรื่องการจัดการกับการแพร่ระบาดของข้อมูลด้านสาธารณสุขมีวัตถุประสงค์เพื่อเน้นย้ำเรื่องความท้าทายจากข้อมูลข่าวสารที่เผยแพร่ในช่วงวิกฤตด้านสาธารณสุข โดยมุ่งเน้นสร้างขีดความสามารถให้ประเทศสมาชิกอาเซียนในการจัดการกับการแพร่ระบาดของข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ
- หลักสูตรการฝึกอบรมครอบคลุม 5 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ การทำความเข้าใจการแพร่ระบาดของข้อมูลด้านสาธารณสุข การป้องกันข่าวปลอม การสื่อสารความเสี่ยง พฤติกรรมศาสตร์ และทักษะการตรวจสอบข้อเท็จจริง
- เจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้ทักษะเพิ่มเติมจากการแบ่งปันประสบการณ์ ซึ่งช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการรับมือกับข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง สร้างความตระหนักรู้ของชุมชน และพัฒนาการสื่อสารความเสี่ยงทั้งระดับชาติและภูมิภาคอาเซียน
การรับมือกับข้อมูลผิดๆ ในยุคดิจิทัลที่ทุกสิ่งเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วนับเป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดวิกฤตด้านสาธารณสุขซึ่งจำเป็นต้องมีแนวทางเชิงรุกและการทำงานร่วมกัน จากการศึกษาวิจัยในปี พ.ศ. 2564 เรื่องการประเมินความต้องการด้านศักยภาพในการตอบสนองต่อการระบาดรวมถึงโรคโควิด-19 ในประเทศสมาชิกอาเซียน ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกระทรวงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาแห่งสหพันธรัฐเยอรมนี (BMZ) ดำเนินการโดยองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) กลุ่มประเด็นสุขภาพอาเซียนที่ 2 (ASEAN Health Cluster 2) ด้านการตอบโต้ต่อภัยคุกคามด้านสุขภาพ และกรมควบคุมโรค ประเทศไทย พบว่าประเทศสมาชิกอาเซียนยังมีข้อจำกัดในการจัดการกับการแพร่ระบาดของข้อมูล (Infodemics) ด้วยเหตุนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมและการรับมือกับโรคระบาดในอนาคต โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งในการฟื้นตัวของอาเซียนผ่านการสร้างศักยภาพหลักในด้านสาธารณสุขฉุกเฉิน (ASEAN PHE) ซึ่งดำเนินการโดย GIZ จึงเดินหน้าสนับสนุนประเทศสมาชิกอาเซียนในการพัฒนาขีดความสามารถให้พร้อมรับมือกับกรณีฉุกเฉินด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะการสื่อสารความเสี่ยง (risk communication) ซึ่งเป็น 1 ใน 8 สมรรถนะหลักที่ใช้เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรคตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ พ.ศ. 2548
สำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ประเทศไทย เครือข่ายศูนย์ควบคุมฉุกเฉินของอาเซียน (ASEAN EOC Network) นำโดยกระทรวงสาธารณสุขประเทศมาเลเซีย กลุ่มประเด็นสุขภาพอาเซียนที่ 2 ด้านการตอบโต้ต่อภัยคุกคามด้านสุขภาพ สำนักงานองค์การอนามัยโลก (WHO) ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิกตะวันตก และ GIZ จึงร่วมกันจัดการอบรมแบบไฮบริดเรื่องการจัดการกับการแพร่ระบาดของข้อมูลด้านสาธารณสุข (Training Programme on Infodemic Management in Public Health) ซึ่งมีการอบรมรูปแบบออนไลน์ในวันที่ 14, 16 และ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 และรูปแบบออนไซต์ ณ โรงแรมพูลแมน พัทยา จี ระหว่างวันที่ 21-23 พฤศจิกายนที่ผ่านมา การอบรมในครั้งมีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 65 คน โดยมีตัวแทนจาก 7 ประเทศสมาชิกอาเซียน รวมถึงบุคคลและองค์กรที่มีส่วนร่วมดำเนินโครงการฯ

ดร. ซูชีล จันทรา เลขฮัค (Susheel Chandra Lekhak) เลขาธิการโครงการ องค์การอนามัยโลก (WHO) ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวเปิดการประชุม
ในพิธีเปิด ดร.ซูชีล จันทรา เลขฮัค (Susheel Chandra Lekhak) เลขาธิการโครงการ องค์การอนามัยโลก (WHO) ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวถึงความท้าทายของการมีข้อมูลท่วมท้นในช่วงที่มีการระบาดของโรคว่า “การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ได้ตอกย้ำถึงความท้าทายที่เกิดจากข้อมูลที่มีอยู่มากเกินไปและข้อมูลที่ไม่ถูกต้องซึ่งแพร่ไปทั่วในช่วงที่เกิดโรคระบาดและเหตุฉุกเฉินด้านสาธารณสุขอื่นๆ เราเรียกว่าการแพร่ระบาดของข้อมูล (infodemic) ซึ่งบางครั้งก็แพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วกว่าตัวโรคจริงๆ เสียอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคดิจิทัลที่ทั่วโลกสามารถเชื่อมต่อกันได้อย่างไร้รอยต่อ”

ดร.เสาวพักตร์ ฮิ้นจ้อย ผู้อำนวยการสำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขประเทศไทย กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วม
พร้อมกันนั้น ดร.เสาวพักตร์ ฮิ้นจ้อย ผู้อำนวยการสำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขประเทศไทย ได้ย้ำว่าความท้าทายดังกล่าวมีลักษณะเป็นสากล “เมื่อทั่วโลกต้องเผชิญกับความท้าทาย นอกจากโรคภัยไข้เจ็บจะแพร่ไปทั่วอย่างไร้พรมแดนแล้ว ข้อมูลผิดๆ ก็แพร่ไปทั่วเช่นกัน” พร้อมเน้นว่า “วันนี้เรามาผนึกกำลังในระดับภูมิภาค และรับรู้ว่าเราต้องทำงานอย่างมีเอกภาพเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ ผ่านการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การรวบรวมองค์ความรู้ และการแสวงหาแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งจะช่วยให้เราก้าวไปพร้อมกันในระดับภูมิภาคสู่ความมั่นคงด้านสุขภาพเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคน”
การฝึกอบรมในครั้งนี้ได้รับการออกแบบมาเพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้และเตรียมความพร้อมสำหรับการจัดการกับการแพร่ระบาดของข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ โดยหลักสูตรครอบคลุม 5 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1) การทำความเข้าใจบทบาทของการแพร่ระบาดของข้อมูลด้านสาธารณสุข 2) การจัดการกับข่าวปลอม (Fake News) และการส่งเสริมการตรวจสอบข้อเท็จจริง 3) การพัฒนาความสามารถในการสื่อสารประเด็นที่มีความเสี่ยง 4) การศึกษาพฤติกรรมสุขภาพและวิทยาศาสตร์เชิงพฤติกรรมที่มีส่วนช่วยในการจัดการกับการแพร่ระบาดของข้อมูล และ 5) การเพิ่มทักษะในการใช้เครื่องมือตรวจสอบข้อเท็จจริงให้กับผู้เข้าร่วม
การอบรมครั้งนี้แตกต่างจากการอบรมที่ผ่านมาเพราะเน้นผสมผสานความเชี่ยวชาญของผู้เข้าร่วมงานและองค์กรพันธมิตรเพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับอาเซียนในการฟื้นตัวด้านสุขภาพ พร้อมสร้างกระบวนการร่วมมือด้านสุขภาพในระดับภูมิภาค ซึ่งจะมีการเตรียมความพร้อมให้กับผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพในการตรวจจับและตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉินด้านสาธารณสุขโดยใช้เครื่องมือที่จำเป็นในการรับมือกับความท้าทายที่เกิดจากการแพร่ระบาดของข้อมูล นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจากทั้งระดับชาติและระดับภูมิภาคยังมารวมตัวกันเพื่อเรียนรู้เครื่องมือและวิธีการที่มีประสิทธิภาพในการสื่อสารความเสี่ยงเพื่อจัดการกับการแพร่ระบาดของข้อมูลในช่วงวิกฤต เนื่องจากกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนยังมีสมรรถนะหลักขั้นพื้นฐานไม่เท่ากัน ซึ่งส่งผลต่อการเตรียมความพร้อมและตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขตามที่ผลการศึกษาก่อนหน้าได้ระบุไว้

กิจกรรมกลุ่มเรื่องข่าวปลอมและการสร้างวัฒนธรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในภาคประชาสังคม
การอบรมในครั้งนี้ไม่เพียงแต่สร้างเครือข่ายด้านการสื่อสารความเสี่ยงเพื่อตอบสนองภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขในภูมิภาคอาเซียนสำหรับการระบาดใหญ่ในอนาคต แต่ยังเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนได้พัฒนาขีดความสามารถที่จำเป็นเพื่อจัดการกับการแพร่ระบาดของข้อมูล ผ่านการเรียนรู้จากกรณีศึกษาและประสบการณ์กลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งจะช่วยให้คุ้นชินกับเครื่องมือตรวจสอบข้อเท็จจริงยิ่งขึ้น และเตรียมความพร้อมให้ผู้เข้าร่วมได้นำความรู้จากการอบรมไปประยุกต์ให้เกิดประโยชน์และสร้างความตระหนักรู้ในชุมชน สร้างการมีส่วนร่วมเพิ่มการตรวจสอบข่าวลือ ตลอดจนสนับสนุนการสื่อสารด้านสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพทั้งระดับประเทศและระดับอาเซียน

คุณพจมาน วงษ์สง่า ผู้อำนวยการโครงการ GIZ ประจำประเทศไทย กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงาน
คุณพจมาน วงษ์สง่า ผู้อำนวยการโครงการฯ PHE GIZ ประจำประเทศไทย กล่าวในพิธีเปิดว่า “การทำงานร่วมกันจะสามารถสร้างผลสะท้อนที่ยั่งยืนต่อภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและการความเตรียมพร้อมเพื่อป้องกันวิกฤตในภูมิภาคต่อไป”

ดร. ซุก ฮอง แทน (Seok Hong Tan) ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์สาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข ประเทศมาเลเซีย กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วม
ขณะที่ ดร. ซุก ฮอง แทน (Seok Hong Tan) ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์สาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข ประเทศมาเลเซีย ได้กล่าวช่วงเปิดงานเช่นเดียวกันว่า “การอบรมเพื่อเตรียมความพร้อมจึงถือเป็นเรื่องจำเป็นซึ่งจะช่วยให้ผู้เข้าร่วมสามารถต่อสู้กับข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง และนำความรู้ที่ได้รับไปใช้เพื่อปกป้องประชาชน งาน และส่งเสริมวัฒนธรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้กลายเป็นบรรทัดฐานของสังคม”
ความพยายามร่วมกันในครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการทำให้การสื่อสารด้านสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพทั้งภายในชุมชนและทั่วทั้งภูมิภาคเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชนท่ามกลางวิกฤต
คุณพจมาน วงษ์สง่า
ผู้อำนวยการโครงการ PHE
อีเมล:pouchamarn.wongsanga(at)giz.de
ดร. อรพรรณ ตาทา
ที่ปรึกษาโครงการ PHE
อีเมล:oraphan.tatha(at)giz.de
ข่าวที่เกี่ยวข้อง