ข้อมูลเบื้องต้น
ปัจจุบัน ภาครัฐได้มีความพยายามที่จะเร่งรัดให้มีการบังคับใช้กฎกระทรวงว่าด้วยเรื่องการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงานกับอาคารสร้างใหม่ให้มีผลบังคับใช้เกณฑ์มาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานของอาคาร (Building Energy Code: BEC) อย่างเป็นรูปธรรม ที่ผ่านมา โครงการความร่วมมือไทย-เยอรมันฯ (TGP-EEDP) ได้ทำหน้าที่สนับสนุนในด้านวิชาการในการศึกษาเพื่อยกระดับและปรับปรุงเกณฑ์มาตรฐานขั้นต่ำให้เข้มข้นขึ้นอย่างต่อเนื่องทุก ๆ 5 ปี ซึ่งคาดว่าผลลัพธ์ของการปรับปรุงเกณฑ์มาตรฐาน BEC อย่างมีระบบและมีกรอบเวลาที่แน่นอนจะช่วยให้ผู้ลงทุนในภาคอาคารธุรกิจทราบแนวทางการออกแบบอาคารที่ชัดเจนมากขึ้นและจะสามารถวางแผนการลงทุนในอนาคตอย่างมีแบบแผน ทั้งนี้ นอกเหนือไปจากการศึกษาดังกล่าวแล้ว โครงการฯ ได้เล็งเห็นความสำคัญของการริเริ่มมาตรการหรือกลไกทางการเงินเพื่อเพิ่มแรงจูงใจและส่งเสริมอาคารก่อสร้างใหม่ที่เป็นอาคารอนุรักษ์พลังงานประสิทธิภาพสูงมากกว่าเกณฑ์ BEC ควบคู่ไปกับการสนับสนุนให้มีการติดฉลากประสิทธิภาพพลังงาน (Energy Efficiency Labeling) ของอาคารก่อสร้างใหม่ด้วย โดยหลักการทั่วไปแล้ว อาคารอนุรักษ์พลังงานที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าควรจะได้รับการอุดหนุนอัตราดอกเบี้ยและเงื่อนไขสินเชื่อที่ดีกว่า เป็นต้น
ในการนี้ GIZ โดยโครงการ TGP-EEDP จึงได้มอบหมายให้ บริษัท เอเบิล คอนซัลแตนท์ จำกัด เป็นที่ปรึกษาดำเนินการศึกษาวิเคราะห์มาตรการและกลไกสนับสนุนทางการเงินเพื่อส่งเสริมอาคารอนุรักษ์พลังงานประสิทธิภาพสูงจากประสบการณ์และแนวทางปฏิบัติที่ดี (Best Practice) จากกรณีศึกษาของประเทศเยอรมนีและเนเธอร์แลนด์ ได้แก่ กรณี the KfW program “Energy Efficient Construction: EEC/ Energy Efficient Refurbishment: EER” จากประเทศเยอรมนี และกรณี the “Green Funds scheme” จากประเทศเนเธอร์แลนด์ นอกจากนี้ GIZ ยังได้มอบหมายให้ที่ปรึกษาดำเนินการศึกษาวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการพัฒนากลไกในการสนับสนุนทางการเงินเพิ่มเติมที่เหมาะสมและมีศักยภาพในการประยุกต์ใช้ในบริบทของประเทศไทย เพื่อนำมาใช้ในการส่งเสริมอาคารอนุรักษ์พลังงานประสิทธิภาพสูง รวมถึงขอบเขตการดำเนินมาตรการและกรอบเวลาการดำเนินการด้วย
วัตถุประสงค์ของการจัดสัมมนา
โครงการความร่วมมือไทย-เยอรมันตามแผนอนุรักษ์พลังงาน ร่วมกับที่ปรึกษา มีความประสงค์ที่จะจัดการสัมมนานี้ขึ้น เพื่อเผยแพร่ผลการศึกษาและรับฟังข้อแสนอแนะจากมุมมองด้านวิชาการและประสบการณ์จากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ในการดำเนินการด้านการส่งเสริมอาคารอนุรักษ์พลังงาน อันได้แก่ ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ สมาคม สถาบันการศึกษา ผู้ประกอบการด้านอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงผู้แทนจากสถาบันการเงิน เป็นต้น โดยมีวัตถุประสงค์หลัก ดังต่อไปนี้
- เพื่อเผยแพร่แนวคิดและการวิเคราะห์กรณีศึกษากลไกสนับสนุนทางการเงินเพื่อส่งเสริมอาคารอนุรักษ์พลังงานประสิทธิภาพสูงของประเทศเยอรมนีและเนเธอร์แลนด์
- เพื่อนำเสนอกรอบแนวคิดในการพัฒนาขยายผลจากกรณีศึกษาทั้งสอง มาประยุกต์ใช้ในบริบทของประเทศไทย อันสามารถนำไปสู่การวางกรอบแนวทางเพื่อพัฒนากฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง การกำหนดแนวทางการบริหารจัดการและการจัดหาแหล่งเงินทุนดำเนินการต่อไป
เอกสารประกอบการสัมมนาสำหรับดาวน์โหลด
1. Agenda
2. ถอดบทเรียน (Lesson Learnt) มาตรการและกลไกสนับสนุนทางการเงินเพื่อส่งเสริมอาคารอนุรักษ์พลังงานประสิทธิภาพสูงจากประสบการณ์และแนวทางปฏิบัติของ ประเทศเยอรมนีและเนเธอร์แลนด์ และ Road map และโครงสร้างการนำมาประยุกต์ใช้กับบริบทของประเทศไทย