หน่วยงานราชการของไทย องค์การพัฒนาเอกชน และองค์กรระหว่างประเทศได้สาธิตแนวทางและตัวเลือกที่เป็นไปได้ในการพัฒนาระบบการติดตามและประเมินผลสำหรับการปรับตัวในบริบทของไทยในการประชุมเชิงปฏิบัติการ “การพัฒนากรอบการทำงานเพื่อติดตามและประเมินผลสำหรับแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับชาติ”
เมื่อวันที่ 28-30 สิงหาคม พ.ศ. 2560 สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และ GIZ เป็นเจ้าภาพร่วมจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “การพัฒนากรอบการทำงานเพื่อติดตามและประเมินผลสำหรับแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับชาติ” ที่กรุงเทพ ผู้เข้าร่วมประกอบด้วยผู้แทนจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานราชการอื่นๆ อาทิ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กรมอนามัย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กรมทรัพยากรน้ำ ศูนย์เครือข่ายงานวิเคราะห์วิจัยและฝึกอบรมการเปลี่ยนแปลงของโลกแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA START) และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และองค์กรระหว่างประเทศ (FAO และ UNDP) การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนได้เรียนรู้เกี่ยวกับข้อพิจารณาและกระบวนการที่สำคัญในการพัฒนาระบบติดตามและประเมินผลสำหรับแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับชาติ (NAP) ผ่านแนวทางและวิธีการต่างๆ สำหรับการติดตามและประเมินผล NAP
ในระหว่างการประชุมเชิงปฏิบัติการ ผู้เชี่ยวชาญจาก GIZ ได้แนะนำข้อมูลที่เชิงทฤษฎีและทางเทคนิค ซึ่งได้กล่าวถึงแนวคิดและแนวทางการติดตามและประเมินผลต่างๆ รวมทั้งบทเรียนที่ได้รับจากประชาคมระหว่างประเทศ และข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับกระบวนการพัฒนาระบบติดตามและประเมินผล NAP ของไทย การฝึกปฏิบัติจริงรวมถึงการกำหนดตัวบ่งชี้ ตามคุณสมบัติที่ดีของตัวบ่งชี้ที่เรียกว่า “SMART” (เฉพาะเจาะจง วัดผลได้ บรรลุผลได้ ตรงประเด็น และใช้ได้ในกรอบเวลาที่กำหนด) ในบริบทของการปรับตัว (เฉพาะเจาะจงสำหรับแต่ละภาคส่วน)
ผลจากการฝึกปฏิบัติ คือผู้เข้าร่วมได้สาธิตแนวทางและตัวเลือกที่เป็นไปได้ในการพัฒนาระบบการติดตามและประเมินผลสำหรับการปรับตัวในบริบทของไทย โดยได้นำเสนอและอภิปรายวัตถุประสงค์และขอบเขตของระบบการติดตามและประเมินผลที่มีอยู่ในแต่ละภาคส่วน โดยคำนึงถึงการปรับเปลี่ยนเพื่อให้ครอบคลุมถึงประเด็นการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตัวชี้วัดที่ใช้ในร่าง NAP โดยเฉพาะจากภาคการเกษตรและสาธารณสุขได้รับการทบทวนและแก้ไขเพิ่มเติม ในตอนท้ายของการประชุม ผู้เข้าร่วมยังได้จัดทำโครงร่างของกรอบความร่วมมือ เพื่อจัดทำระบบการติดตามและประเมินผลสำหรับ NAP ที่มีประสิทธิภาพ