GIZ ร่วมกับภาครัฐและเอกชน เปิดตัวโครงการสนับสนุนการพัฒนาด้านการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืนในเอเชีย ลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว
เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา ตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนได้เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการ เปิดตัวโครงการสนับสนุนการพัฒนาด้านการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืนในเอเชีย ซึ่งจัดโดย GIZ ประจำประเทศไทย เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันและหารือเกี่ยวกับการดำเนินโครงการ ตลอดจนเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว
ปัจจุบัน ประเทศไทยได้นำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ในระเบียบวาระแห่งชาติ เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง และพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ดร. ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้กล่าวถึงแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนว่าเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างโมเดลเศรษฐกิจเพื่อความยั่งยืน “โมเดลเศรษฐกิจเพื่อความยั่งยืน (Bio-Circular-Green Economy) คือ การผสมผสานของ 3 แนวคิด ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างความสมดุลระหว่างเป้าหมายทางเศรษฐกิจและความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม และเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ใน 4 ด้านหลัก ได้แก่ อาหารและเกษตรกรรม สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี พลังงานและวัตถุดิบ และการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์”
ดร. วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่าประเทศไทยมีเป้าหมายที่จะลดการใช้ทรัพยากร ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสนับสนุนให้เศรษฐกิจเติบโตด้วยโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียน “ด้านสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยเองก็มีเป้าหมายที่จะรีไซเคิลพลาสติกร้อยเปอร์เซ็นต์ สิ่งที่มอง คือ เรื่องโครงสร้างพื้นฐานของการจัดการขยะ การให้ความรู้ นวัตกรรม เทคโนโลยี และนโยบาย หนึ่งในประเด็นหลักของเศรษฐกิจหมุนเวียน คือ การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เอื้อให้ง่ายต่อการรีไซเคิล ดังนั้นการพัฒนามาตรฐานและเกณฑ์ผลิตภัณฑ์ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน จึงเป็นหัวข้อที่กล่าวถึงและให้ความสำคัญอย่างมาก”
โครงการสนับสนุนการพัฒนาด้านการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืนในเอเชีย จะเข้ามาสนับสนุนการกำหนดนโยบายการออกแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การทำอุตสาหกรรมรีไซเคิล การคัดเลือกวัตถุดิบทางเลือกที่จะมาแทนที่พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งและการเสริมสร้างความร่วมมือที่เข้มแข็งระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อให้การดำเนินงานสอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจเพื่อความยั่งยืนและ Roadmap การจัดการขยะในประเทศไทย
ในแง่ของการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โครงการฯ จะสนับสนุนการพัฒนาการออกแบบผลิตภัณฑ์ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับกลุ่มผลิตภัณฑ์หนึ่งกลุ่มขึ้นไป ซึ่งครอบคลุมถึงบรรจุภัณฑ์ของสินค้าที่จำหน่ายเร็วและมีต้นทุนต่ำ (FMCG) เช่น ภาชนะบรรจุเครื่องดื่ม อย่างขวดน้ำรีฟิล นอกจากนี้ โครงการฯ ยังมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมตลาดการรีไซเคิลพลาสติก โดยพัฒนามาตรฐานการออกแบบเพื่อการรีไซเคิล “การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นขอบข่ายการทำงานในเชิงกฎหมายสำหรับโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว โครงการฯ มีผู้เชี่ยวชาญจากประเทศเยอรมนีที่ศึกษาเกี่ยวกับกระบวนการออกแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะ” มร. ไค โฮฟมันน์ ผู้อำนวยการโครงการฯ กล่าว
นอกจากนี้ ภายในงานยังมีตัวแทนจากหน่วยงานรัฐและเอกชนจากกว่า 10 หน่วยงานเข้าร่วมการประชุมและแลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้เชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจากสถาบัน Öko-Institut ภายหลังจากการประชุมนี้ GIZ ประจำประเทศไทย สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และสถาบัน Öko-Institut จะร่วมกันพัฒนาแผนการทำดำเนินงานให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย เพื่อป้องกันการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว โดยคำนึงถึงขอบข่ายนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน เกณฑ์ผลิตภัณฑ์เศรษฐกิจหมุนเวียน และแง่มุมด้านวัตถุดิบ
โครงการสนับสนุนการพัฒนาด้านการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืนในเอเชีย จะดำเนินการสนับสนุนความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ทั้งในประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย จนถึงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2566 โดยได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากกระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติ และความปลอดภัยทางปรมาณู สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMU) ตลอดระยะเวลาดำเนินโครงการ
GALLERY
Stefanie Mayr
Email:stefanie.mayr(at)giz.de
Chalisa Phetdong
Email:chalisa.phetdong(at)hotmail.com