GIZ เดินหน้านำเครื่องมือดิจิทัลมาปรับใช้ในการทำงาน

ระหว่างวันที่ 14-18 พฤษภาคม ปีพ.ศ. 2561 ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรธรรมชาติ การพัฒนาชนบท ขนส่ง สิ่งแวดล้อม พลังงานและน้ำในภูมิภาคเอเชียของ GIZ กว่า 240 คนร่วมหารือในการประชุมของสองเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญในภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ เครือข่ายทรัพยากรสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาชนบทในเอเชีย (SNRD Asia) และเครือข่ายการขนส่ง สิ่งแวดล้อม พลังงาน และน้ำในเอเชีย (TUEWAS)
การประชุมนี้จัดขึ้นทุกๆ สองปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหารือเกี่ยวกับวิธีการที่จะใช้ประโยชน์จากดิจิทัลในการดำเนินงานด้านการพัฒนา และเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ใหม่ๆ ระหว่างเจ้าหน้าที่ GIZ สำหรับปีนี้การประชุมร่วมเครือข่ายระดับภูมิภาคจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ ภายใต้สโลแกน “ปลดปล่อยพลังแห่งดิจิทัลสำหรับเครือข่ายทรัพยากรสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาชนบทในเอเชีย (SNRD Asia) และเครือข่ายการขนส่ง สิ่งแวดล้อม พลังงานและน้ำในเอเชีย (TUEWAS)”
ตลอดการประชุมทั้ง 5 วัน ผู้เข้าร่วมได้สนทนาในประเด็นที่เกี่ยวกับผลกระทบของโลกดิจิทัลที่มีต่องานความร่วมมือระหว่างประเทศ รวมทั้งได้เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อต่างๆ เช่น
1. หัวข้อ “การรวบรวมและประมวลผลข้อมูลเชิงพื้นที่ในอนาคต” ได้แนะนำโปรแกรม ODK (Open Data Kit) ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ไว้ใช้เก็บข้อมูลเพื่อการประมวลผลข้อมูลเชิงพื้นที่ โดยผู้เข้าร่วมสามารถดาวน์โหลดโปรแกรมนี้มาใช้บนเครื่องคอมพิวเตอร์พกพาขนาดกลาง (Tablet) หรืออุปกรณ์พกพาที่มีระบบปฏิบัติการ Android ได้ โปรแกรม ODK จะเก็บรวบรวมข้อมูลภาคสนาม และสำรองข้อมูลต่างๆ โดยผู้ใช้งานสามารถแก้ไขข้อมูลหลังจากบันทึกข้อมูลหรือวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งเป็นประโยชน์ในการทำงานด้านการพัฒนาชนบท (บรรยายโดย Klaus Schmitt และ Ubo Pakes)
2. อีกหนึ่งหัวข้อคือ “การเตรียมความพร้อมสำหรับการปฏิวัติระบบดิจิทัลในด้านการคมนาคม” ได้หารือในประเด็นการเปลี่ยนแปลงด้านการคมนาคมของโลก ผลกระทบของโลกจากการขับเคลื่อนเทคโนโลยีใหม่ๆ การสร้างระบบปัญญาประดิษฐ์ การซื้อขายออนไลน์ และบล็อกเชน (block chain) ซึ่งประเด็นต่างๆ เหล่านี้เป็นสาเหตุหลักของการเปลี่ยนแปลงในภาคคมนาคมและนับเป็นความท้าทายใหม่ชองระบบขนส่ง (บรรยายโดย Carolin Capone, Christian Mettke, Levent Toprak และ Patricia Mariano)
นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมยังได้เรียนรู้เกี่ยวกับเครื่องมือดิจิทัลและเทคโนโลยีใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นแชทบอท (Chatbot) หรืออากาศยานไร้คนขับ (Drone) ที่โครงการต่างๆ ของ GIZ นำมาใช้ดำเนินงาน โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. หุ่นยนต์บินได้ในยุคดิจิทัล (โดย Franz-Fabian Bellot)
แผนงานจัดการสินทรัพย์และทรัพยากรที่ป้องกันความขัดแย้ง (Conflict Sensitive Resource and Asset Management Programme หรือเรียกสั้นๆ ว่า COSERAM ในประเทศฟิลิปปินส์ ได้นำอากาศยานไร้คนขับ (UAV) หรือโดรนมาใช้เป็นเครื่องมือในการเก็บและรวบรวมข้อมูลทางภูมิศาสตร์ที่มีความละเอียดสูง ซึ่งนอกจากจะช่วยบันทึกรูปถ่ายทางอากาศที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพแล้ว ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายจากการใช้ดาวเทียมหรือเครื่องบินนำร่องอีกด้วย ส่งผลให้มีการเฝ้าติดตามและตรวจสอบพื้นที่อนุรักษ์ในท้องถิ่นได้อย่างใกล้ชิด
2. แชทบอทกับการเติมเต็มข้อมูลที่หายไป (โดย Julia Nagel และขจาริน ยศดำ)
ปัจจุบันแชทบอทถูกสร้างขึ้น เพื่อเป็นตัวกลางในการเก็บข้อมูลให้กับผู้ใช้งาน อย่างในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ แชทบอทช่วยรวบรวมข้อมูลการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงและสนับสนุนให้ผู้ขับขี่ยานยนต์ประหยัดน้ำมัน รวมทั้งลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
ภายในงานมีการใช้แอปพลิเคชัน Wisembly ซึ่งผู้เข้าร่วมสามารถถามคำถาม โหวตหรือมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นได้โดยไม่ต้องเปิดเผยชื่อผ่านสมาร์ทโฟน
หากสนใจเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการประชุมครั้งนี้ สามารถดูเพิ่มเติมได้ที่นี่
ภายหลังจากงานประชุม คาดหวังว่าผู้เข้าร่วมจะนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปปรับใช้ในการทำงาน ในส่วนของคณะทำงานของทั้งสองเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญ ก็จะมีการสานต่อกิจกรรมที่ได้วางแผนไว้ในปีพ.ศ. 2561 และเป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่ทั้ง SNRD Asia และ TUEWAS ต่างเห็นความสำคัญของการจัดทำรายงานบันทึกเครื่องมือดิจิทัลและเทคโนโลยีที่แต่ละเครือข่ายนำมาใช้ในการทำงาน โดยความคืบหน้าของรายงานการศึกษานี้จะแจ้งให้ทราบในลำดับถัดไป
งานประชุมครั้งนี้จัดขึ้นโดยสำนักเลขาธิการ (Secretariat) ของสองเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญ โดยได้รับการสนับสนุนจากเจ้าหน้าที่ GIZ หน่วยงานต่างๆ และที่ปรึกษาภายนอก
GALLERY
Anusara Tanpitak
Public Relations Officer, SNRD Asia and TUEWAS
Email:anusara.tanpitak(at)giz.de