- ความเป็นมา:
ในปี 2556 กระทรวงพลังงานได้ประกาศใช้แผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี หรือ Energy Efficiency Development Plan (EEDP 2554-2573) อย่างเป็นทางการ โดยมีเป้าหมายที่จะลดความเข้มการใช้พลังงาน (Energy Intensity, EI) หรือพลังงานที่ใช้ต่อหน่วยผลผลิตมวลรวม (GDP) ลงร้อยละ 25 ในปี พ.ศ. 2573 เมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2553 ซึ่งแผนฯ ฉบับดังกล่าว ประกอบด้วยมาตรการอนุรักษ์พลังงานทั้งสิ้น 34 มาตรการที่ครอบคลุมเป้าหมายหลัก ได้แก่ ภาคอุตสาหกรรม ภาคอาคารธุรกิจและบ้านพักอาศัย และ ภาคการคมนาคมและการขนส่ง ต่อมาในปี พ.ศ. 2558 กระทรวงพลังงานได้สรุปการบูรณาการแผนพลังงาน 5 แผนหลัก ได้แก่ (1) แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) (2) แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) (3) แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) (4) แผนการจัดหาก๊าซธรรมชาติของไทย และ (5) แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง ด้วยแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย และแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านขนส่งตามนโยบายรัฐบาล รวมทั้งการเตรียมการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จะส่งผลต่อการใช้พลังงานของประเทศไทยโดยรวม จึงเป็นที่มาที่กระทรวงพลังงานได้ทบทวนค่าพยากรณ์ความต้องการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายในอนาคต และกำหนดเป้าหมายภายใต้กรอบแผนอนุรักษ์พลังงานฉบับใหม่ (Energy Efficiency Plan: EEP 2015) สำหรับช่วงปี พ.ศ. 2558-2579 ที่จะลดความเข้มการใช้พลังงานลงร้อยละ 30 ในปี พ.ศ. 2579 เมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2553 หมายถึงต้องลดการใช้พลังงานเชิงพาณิชย์ให้ได้ทั้งสิ้น 56,142 ktoe ของปริมาณการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายทั้งหมดของประเทศในปี พ.ศ. 2579 โดยปรับทิศทางด้วยการพิจารณามาตรการที่สามารถเห็นผลได้เชิงประจักษ์ใน 3 กลยุทธ์ทั้งภาคบังคับ ภาคความร่วมมือและภาคสนับสนุน และเน้น 10 มาตรการหลักในการขับเคลื่อนแผนสู่การปฏิบัติ เช่น การใช้เกณฑ์มาตรฐานอาคาร การใช้เกณฑ์มาตรฐานประหยัดพลังงานโดยผู้ผลิตและจำหน่ายพลังงาน (Energy Efficiency Resources Standards: EERS) เป็นต้น
- วัตถุประสงค์และผลที่คาดว่าจะได้รับจากการประชุมเชิงปฏิบัติการ:
โครงการความร่วมมือไทย-เยอรมันตามแผนอนุรักษ์พลังงาน ร่วมกับบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) มีความประสงค์ที่จะจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการนี้ขึ้น เพื่อระดมความคิดเห็นจากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านอนุรักษ์พลังงาน เพื่อรวบรวมข้อแสนอแนะจากมุมมองด้านวิชาการและประสบการณ์จากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินมาตรการภายใต้แผนอนุรักษ์พลังงานของประเทศไทย อันได้แก่ ผู้แทนจากหน่วยงานการศึกษา สถาบันวิจัย ผู้แทนจากสมาคมและมูลนิธิด้านพลังงาน เป็นต้น โดยคาดว่าจะมีผลลัพธ์จากการประชุมเชิงปฏิบัติการดังกล่าว ดังต่อไปนี้
- สรุปบทเรียน (Lesson Learnt) เชิงนโยบายต่อการดำเนินงาน EEDP (2011 – 2030) ที่ผ่านมา
- สรุปข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย (Policy Recommendation) เพื่อการขับเคลื่อนแผน EEP 2015 สู่การปฏิบัติ
สรุปข้อเสนอมาตรการหรือกลไกสนับสนุนเพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกิดการอนุรักษ์พลังงาน (additional measures or incentives) เพิ่มเติมจากมาตรการอนุรักษ์พลังงานที่ปรากฏตามแผน EEP 2015
Documents for Download
1. Agenda
2. Brief Introduction to EEDP and EEP
3. Industry Sector
4. Building Sector
5. Transport Sector