ยกระดับการจัดการขยะมูลฝอยชุมชนในภาคการท่องเที่ยวสู่เมืองต้นแบบระดับอาเซียน

- ตัวแทนจากโครงการ AMUSE ประเทศไทย ร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) และเทศบาลเมืองยโสธร เข้าร่วมพิธีเปิดโครงการAMUSE ระดับภูมิภาคอาเซียนเมื่อวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2566 ณ เมืองบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย โดยมีประเทศสมาชิกอาเซียนเข้าร่วมงานกว่า 50 คน
- คุณอุมา ศรีสุข ผู้แทนจาก สส. และ ดร.อัญชลี ชุมนุม ผู้แทนจากเทศบาลเมืองยโสธร เป็นวิทยากรในการนำเสนอกรอบการดำเนินงานโครงการเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืนของประเทศไทย และแนวปฏิบัติที่ดีของการจัดการขยะในพื้นที่ท่องเที่ยวของเทศบาลเมืองยโสธร
- ผู้แทนคพ. และสส. เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการติดตามและกำกับดูแลการดำเนินงานโครงการ AMUSE ระดับภูมิภาคอาเซียนในวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2566
โครงการการยกระดับการจัดการขยะมูลฝอยชุมชนในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Municipal Solid Waste Management Enhancement – AMUSE) เปิดตัวโครงการในระดับภูมิภาคอาเซียนเมื่อวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2566 ณ เมืองบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย โดยมีผู้ร่วมงานเป็นทีมงานโครงการฯ จากประเทศกัมพูชา เมียนมา สปป. ลาว เวียดนาม และไทย รวมถึงผู้แทนจากกรมควบคุมมลพิษ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) และเทศบาลเมืองยโสธร ในฐานะคู่ร่วมมือโครงการ นอกจากนั้นยังมีผู้สนใจจากประเทศอื่น ๆ เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และเยอรมนี รวมถึงคณะทำงานอาเซียนด้านเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน
ภายในงาน คุณอุมา ศรีสุข ผู้อำนวยการกองการมีส่วนร่วมของประชาชน สส. และ ดร.อัญชลี ชุมนุม ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลเมืองยโสธร ในฐานะเมืองต้นแบบการดำเนินงานการจัดการขยะมูลฝอยชุมชนในภาคการท่องเที่ยวของโครงการ AMUSE ในระดับภูมิภาคอาเซียน ได้รับเกียรติเป็นวิทยากรในการนำเสนอกรอบการดำเนินงานโครงการเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืนของประเทศไทย และแนวปฏิบัติที่ดีของการจัดการขยะในพื้นที่ท่องเที่ยวของเทศบาลเมืองยโสธร

(ซ้าย) ดร.อัญชลี ชุมนุม ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลเมืองยโสธร และ (ขวา) คุณอุมา ศรีสุข ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน สส. ผู้แทนจากประเทศไทยเป็นวิทยากรนำเสนอในเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ระดับภูมิภาคเรื่องการจัดการขยะมูลฝอยชุมชนในภาคการท่องเที่ยว
คุณอุมา ศรีสุข ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน สส. ในฐานะผู้ประสานงานหลักของประเทศไทยกับคณะทำงานอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมเมืองที่ยั่งยืน ได้นำเสนอแนวทางการขับเคลื่อนกรอบแนวคิดเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืนของอาเซียนในระดับประเทศไทย โดยปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนคือการบูรณาการกรอบแนวคิดฯ เข้ากับนโยบายและแผนด้านสิ่งแวดล้อมและเมืองยั่งยืนที่มีอยู่ในปัจจุบันของประเทศไทย
ดร.อัญชลี ชุมนุม ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร ในฐานะเมืองต้นแบบการดำเนินการจัดการขยะมูลฝอยชุมชนในภาคการท่องเที่ยว และเมืองที่ได้รับรางวัล “มาตรฐานการท่องเที่ยวอาเซียน” และ “มาตรฐานเมืองท่องเที่ยวสะอาดของอาเซียน” นำเสนอแนวปฏิบัติที่ดีพร้อมตัวอย่างการจัดการขยะมูลฝอยชุมชนในกิจกรรมการท่องเที่ยวของเมืองยโสธร โดยได้เน้นย้ำถึงปัจจัยสำเร็จของการจัดการขยะมูลฝอยชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพว่ามาจากการมีข้อมูลขยะมูลฝอยชุมชน เช่น ข้อมูลปริมาณขยะ เส้นทางการไหลของขยะ และองค์ประกอบขยะ เป็นต้น เพราะการมีข้อมูลที่ดีจะนำไปสู่การวางแผนและการจัดการปัญหาด้านขยะได้อย่างถูกประเด็น

(ซ้าย) คุณอัลวาโร่ ซูริต้า ผู้อำนวยการโครงการ AMUSE ประเทศไทย พร้อมด้วยคุณอุมา ศรีสุข และคุณกุลชา ธนะขว้าง เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการติดตามและกำกับดูแลการดำเนินงานโครงการ AMUSE ระดับภูมิภาคอาเซียน
โดยในวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2566 คุณอุมา ศรีสุข ผู้แทนจาก สส. และคุณกุลชา ธนะขว้าง ผู้อำนวยการส่วนขยะมูลฝอยชุมชน กองการจัดการกากของเสียและสารอันตราย กรมควบคุมมลพิษ เป็นผู้แทนประเทศไทยเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการติดตามและกำกับดูแลการดำเนินงานโครงการ AMUSE ระดับภูมิภาคอาเซียน โดยได้ให้ข้อเสนอแนะต่อการขับเคลื่อนงานโครงการ AMUSE ในประเทศไทยในการประชุมครั้งนี้
โครงการการยกระดับการจัดการขยะมูลฝอยชุมชนในภูมิภาคอาเซียนมีเป้าหมายในการพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อมในเมืองท่องเที่ยวขนาดกลางและขนาดเล็กในอาเซียนให้ดีขึ้น โดยการส่งเสริมศักยภาพการกำจัดขยะมูลฝอยและการรีไซเคิลให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMZ) ดำเนินการโดยองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ด้วยความร่วมมือจากสำนักงานเลขาธิการอาเซียน โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2565 จนถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2568
อัลวาโร่ ซูริต้า
ผู้อำนวยการโครงการการยกระดับการจัดการขยะมูลฝอยชุมชนในภูมิภาคอาเซียน
อีเมล:Alvaro.zurita(at)giz.de