ภาพ (จากซ้าย) นายทิม มาเลอร์ ผู้อำนวยการองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทยและมาเลเซีย นายกฎชยุตม์ บริบูรณ์จตุพร รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นางคามิลล่า เฟนนิ่ง หัวหน้าเครือข่ายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและพลังงาน สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย ดร. รวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และ นายยาน แชร์ อัครราชทูตและรองหัวหน้าปฏิบัติการ สถานเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย
เมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2561 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ GIZ ร่วมกันจัดพิธีเปิดและแถลงข่าวกองทุน RAC NAMA ของประเทศไทย เพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์ทำความเย็นประสิทธิภาพพลังงานสูงที่ใช้สารทำความเย็นธรรมชาติ กองทุน RAC NAMA ได้พัฒนามาตรการจูงใจทางการเงินเพื่อสนับสนุนประเทศไทยในการลดก๊าซเรือนกระจก ส่งเสริมโอกาสในเชิงธุรกิจสำหรับผลิตภัณฑ์ทำความเย็นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น
นายกฎชยุตม์ บริบูรณ์จตุพร รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า “สำหรับกองทุน RAC NAMA งบประมาณ 320 ล้านบาท (8.3 ล้านยูโร) ที่จะส่งผ่านมายังประเทศไทยนั้น กฟผ. จะทำหน้าที่บริหารเงินทุน ผ่านมาตรการจูงใจทางการเงินเพื่อส่งเสริมการผลิตและการใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงและใช้สารทำความเย็นธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมใน 4 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ตู้เย็น ตู้แช่ เครื่องทำน้ำเย็นและเครื่องปรับอากาศ”
“เงินทุนจะแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือเงินอุดหนุน จำนวนราว 120 ล้านบาท จะใช้ในการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนสายการผลิต รวมทั้งสนับสนุนเครื่องมือและอุปกรณ์ด้านการฝึกอบรมและทดสอบ และส่วนที่สองคือเงินทุนหมุนเวียน จำนวนราว 200 ล้านบาท จะใช้ในการส่งเสริมผลิตภัณฑ์เข้าสู่ตลาด รวมทั้งกระตุ้นให้ผู้ใช้กลุ่มครัวเรือนและผู้ใช้เชิงพาณิชย์ในกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) หันมาใช้ผลิตภัณฑ์ที่ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น” นายกฎชยุตม์กล่าวเพิ่มเติม
ในส่วนของ ดร. รวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กล่าวว่า “กองทุน RAC NAMA ถือเป็นมิติใหม่การดำเนินมาตรการทางการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Finance ของประเทศไทย และถือเป็นส่วนหนึ่งที่จะสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจกตามเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contribution: NDC) โดยมีเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย ภายในปี พ.ศ. 2563 ที่ร้อยละ 20–25 จากกรณีปกติ ภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework on Climate Change: UNFCCC) ความตกลงปารีสหรือ Paris Agreement นอกจากนี้ ยังเป็นกองทุนแรกของประเทศไทยที่ได้รับการสนับสนุนจาก NAMA Facility โดยรัฐบาลสหราชอาณาจักรร่วมกับรัฐบาลสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี”
ด้าน นางคามิลล่า เฟนนิ่ง หัวหน้าเครือข่ายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและพลังงาน สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย กล่าวว่า “รัฐบาลสหราชอาณาจักรมีความมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน ดิฉันรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ในวันนี้ได้เป็นผู้แทนความร่วมมือระหว่างรัฐบาลสหราชอาณาจักรและรัฐบาลสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีในการสนับสนุนประเทศไทยให้ดำเนินการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วยการยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมทั้งหมดไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นที่สำคัญของภูมิภาค ดิฉันเชื่อมั่นว่ากองทุน RAC NAMA นี้จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีนัยสำคัญ”
นายยาน แชร์ อัครราชทูตและรองหัวหน้าปฏิบัติการ สถานเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย กล่าวว่าที่ผ่านมา ประเทศเยอรมนีได้พัฒนาความร่วมมือกับประเทศไทยมากว่า 60 ปี และมีความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้แก่ประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการสนับสนุนร่วมกันของรัฐบาลสหราชอาณาจักรและรัฐบาลสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีผ่านกองทุน NAMA Facility จะสามารถนำประโยชน์ต่อหลายภาคส่วนในประเทศไทย และการดำเนินงานของกองทุน RAC NAMA ถือเป็นตัวอย่างที่สำคัญและเป็นต้นแบบในด้านการถ่ายทอดองค์ความรู้ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมทำความเย็นของประเทศไปสู่การใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพพลังงานสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
นายทิม มาเลอร์ ผู้อำนวยการองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทยและมาเลเซีย กล่าวว่า “ประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในศูนย์การผลิตที่สำคัญของโลกในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น กองทุน RAC NAMA จึงมุ่งเน้นส่งเสริมเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพพลังงานสูงและใช้สารทำความเย็นธรรมชาติที่มีค่าศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน (GWP) ที่ต่ำมาก และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าสารทำความเย็นสังเคราะห์ทั่วไปถึง 100-1,000 เท่า นอกจากนี้การใช้สารทำความเย็นธรรมชาติดังกล่าวควบคู่ไปกับการพัฒนาอุปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ จะสามารถลดการใช้พลังงานได้ถึงร้อยละ 5-25”
“GIZ ขอขอบคุณเป็นอย่างยิ่งที่กฟผ. เข้ามารับบทบาทผู้บริหารกองทุน RAC NAMA Fund ในนามประเทศไทย ซึ่งเห็นได้ชัดว่า กฟผ. เป็นหน่วยงานที่มีความเป็นผู้นำ มีวิสัยทัศน์ก้าวไกล และมีความพร้อมทั้งทางด้านบุคลากรและองค์ความรู้จากประสบการณ์ในการดำเนินโครงการลดก๊าซเรือนกระจกและการส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น โครงการฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 เป็นต้น ในส่วนของ GIZ จะทำหน้าที่สนับสนุนด้านเทคนิค โดยส่งเสริมให้มีการเชื่อมโยงองค์ความรู้และความร่วมมือจากต่างประเทศ รวมทั้งช่วยให้ประเทศไทยเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์และเหมาะสม ในท้ายที่สุดผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากองทุน RAC NAMA นี้จะเป็นตัวอย่างของกลไกทางการเงินสีเขียวที่ประสบความสำเร็จในการลดผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” นายทิม มาเลอร์กล่าวเสริม
กองทุน RAC NAMA อยู่ภายใต้ “โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและการลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น” หรือ “Thailand RAC NAMA” ซึ่งถือเป็นโครงการในการดำเนินกลไกการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแรกของประเทศไทยที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากกองทุน NAMA Facility ด้วยงบประมาณรวมทั้งสิ้น 14.7 ล้านยูโร (ประมาณ 565 ล้านบาท) โดยมอบหมายให้ GIZ ดำเนินงานร่วมกับรัฐบาลไทย ได้แก่ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) |
ภาพทั้งหมดในงาน สามารถคลิกดูได้
ที่นี่