ธ.ก.ส.-GIZ พัฒนาขีดความสามารถบุคลากร-เกษตรกรด้านการเงินเพื่อรับมือความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ
- ธ.ก.ส. และ GIZ จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อร่วมกำหนดกิจกรรมและความร่วมมือภายใต้โครงการพัฒนาเครื่องมือทางการเงินเพื่อการปรับตัวต่อความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศในภาคการเกษตรในภูมิภาคอาเซียน (AgriCRF)
- การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้เป็นกิจกรรมที่ ธ.ก.ส. และ GIZ จัดขึ้นร่วมกันภายหลังมีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) เพื่อพัฒนาขีดความสามารถและการเตรียมความพร้อมด้านการเงินเพื่อการเกษตรสีเขียว
- ผู้เข้าร่วมประชุมราว 30 คนได้ร่วมระดมความเห็นต่อกรอบการดำเนินงานของโครงการ AgriCRF และพูดคุยแลกเปลี่ยนกับผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินจากมูลนิธิธนาคารออมสินเยอรมันเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ
กรุงเทพฯ 20 กันยายน พ.ศ. 2566 – ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกันเป็นครั้งแรกเพื่อกำหนดกิจกรรมและความร่วมมือภายใต้โครงการพัฒนาเครื่องมือทางการเงินเพื่อการปรับตัวต่อความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศในภาคการเกษตรในภูมิภาคอาเซียน (Innovative Climate Risk Financing for the Agricultural Sector in the ASEAN Region Project) หรือโครงการ AgriCRF ณ ห้องประชุม 801 ชั้น 8 สำนักงานใหญ่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อร่วมระดมความเห็นที่จัดขึ้นในครั้งนี้ถือเป็นการวางรากฐานความร่วมมือระหว่างสองหน่วยงานสำหรับการดำเนินโครงการฯ ตลอด 3 ปี โดยโครงการ AgriCRF ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกระทรวงความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาแห่งสหพันธรัฐเยอรมนี (BMZ) และมีวัตถุประสงค์ในการยกระดับการเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินให้กับเกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรทั้งชายและหญิงมีศักยภาพในการปรับตัวและรับมือต่อความเสี่ยงด้านสภาพอากาศ
นายพงษ์พันธ์ จงรักษ์ รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวเปิดกิจกรรมครั้งนี้ว่า “หากเราติดตามข่าวสารทุกวันนี้จะพบว่าภัยธรรมชาติทั่วโลกทวีความรุนแรงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งยากที่เกษตรกรจะหลีกเลี่ยงความเสี่ยงนี้ และนับเป็นภารกิจสำคัญของ ธ.ก.ส. ในการสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเงินในภาคการเกษตร เพื่อพัฒนาขีดความสามารถและการเตรียมพร้อมทางการเงินเพื่อการรับมือภัยความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศให้กับเกษตรกรไทย”
การสนับสนุนและความร่วมมือระหว่าง ธ.ก.ส. และ GIZ นอกจากจะช่วยยกระดับศักยภาพเจ้าหน้าที่ของ ธ.ก.ส. แล้ว ยังช่วยให้เกษตรกรไทยกว่า 4 ล้านคนที่เป็นลูกค้า ธ.ก.ส. สามารถใช้ประโยชน์จากการเข้าถึงเงินทุนเพื่อช่วยเตรียมพร้อมและรับมือผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศเช่นกัน
การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้จัดขึ้นหลังจากที่ทั้งสองหน่วยงานลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (Memorandum of Understanding: MoU) ไปเมื่อวันที่ 7 มีนาคมที่ผ่านมา โดยมีวัตถุประสงค์ร่วมกันเพื่อพัฒนาขีดความสามารถและการเตรียมความพร้อมด้านการเงินเพื่อการเกษตรสีเขียว (Green Agricultural Finance) ซึ่งทั้งสองหน่วยงานจะมีกรอบกิจกรรมร่วมกันภายในระยะเวลาที่ดำเนินโครงการ AgriCRF ตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2566 – ธันวาคม พ.ศ. 2568 ดังนี้
- การพัฒนาองค์ความรู้ด้านการเงินเพื่อรับมือความเสี่ยงเนื่องจากภัยพิบัติและผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศในภาคการเกษตรสำหรับพนักงานและลูกค้า
- การนำร่องใช้เครื่องมือที่ช่วยให้สถาบันการเงิน (ธ.ก.ส.) ประเมินภัยความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคเกษตร และเพื่อประกอบการบริหารความเสี่ยง และประกอบการตัดสินใจในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงิน อาทิ สินเชื่อ BCG
- การศึกษาความเป็นไปได้ของการมีประกันภัยพืชผลแบบดัชนี (index crop insurance) สำหรับประเทศไทย และการสมัครกองทุน InsuResilience Solutions Fund (ISF)
ดร.นานา คึนเคล ผู้อำนวยการและผู้ประสานงานกลุ่มเกษตรและความปลอดภัยทางอาหาร GIZ ประเทศไทย กล่าวภายในการประชุมเชิงปฏิบัติการว่า “ความร่วมมือระหว่าง ธ.ก.ส. และ GIZ รวมทั้งหน่วยงานและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งจากภาคการเกษตร และภาคการเงินอย่างต่อเนื่องผ่านโครงการ AgriCRF จะช่วยเพิ่มทั้งรายได้ให้กับเกษตรกรและการเตรียมความพร้อมต่อการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่มีความผันผวนมากขึ้น ทั้งการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน และจะสามารถส่งเสริมการดำเนินงานของทั้งสองหน่วยงานผ่านโครงการ GIZ อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งเสริมการจัดการทางการเกษตรและผลิตผลทางการเกษตรยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในระยะยาว”
การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้มีเจ้าหน้าที่ ธ.ก.ส.และ GIZ เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้นประมาณ 30 คน โดยกิจกรรมช่วงเช้าเป็นการระดมความเห็นต่อกรอบการดำเนินงานร่วมกันและความร่วมมือระหว่าง ธ.ก.ส.และ GIZ ภายใต้โครงการ AgriCRF และเรียนรู้แลกเปลี่ยนเกี่ยวกับความสำคัญของการเงินเพื่อรับมือต่อความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศสำหรับเกษตรกร สำหรับกิจกรรมช่วงบ่ายเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นโดยผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินจากมูลนิธิธนาคารออมสินเยอรมันเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ German Sparkassenstiftung for International Cooperation (DSIK) เกี่ยวกับแนวทางบริหารความเสี่ยงเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้กับสถาบันการเงิน เพื่อดำเนินงานและพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เหมาะสมให้กับลูกค้าของ ธ.ก.ส. ที่มีอยู่มากถึงกว่า 4 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ รวมถึงมีการหารือถึงความสนใจและความเป็นไปได้ในการยกระดับและเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระดับนานาชาติ และเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานด้านผลิตภัณฑ์ประกันภัยพืชผลอย่างยั่งยืน ซึ่งจะส่งเสริมให้เกษตรกรปรับตัวเพื่อรับมือต่อความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคเกษตรได้ในอนาคต
กรอบกิจกรรมที่นำเสนอในการประชุมฯ ครั้งนี้เป็นการต่อยอดจากการระดมความเห็นและแลกเปลี่ยนร่วมกับ ธ.ก.ส. ในหลายๆโอกาสที่ผ่านมา ตั้งแต่การจัดประชุมหารือหลายภาคส่วนเพื่อแนะนำโครงการฯ ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาคการเกษตร ประกันภัย การเงิน และเทคโนโลยี เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา นอกจากนี้ คณะผู้บริหารระดับสูงของ ธ.ก.ส. และผู้แทนของ GIZ ได้เดินทางเพื่อศึกษาดูงานด้านการพัฒนากลไกการเงินสีเขียวและนวัตกรรมการเงินเพื่อการเกษตรที่ยั่งยืน ณ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อเรียนรู้นวัตกรรมและเทคโนโลยีการเกษตรและการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตอย่างยั่งยืน รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้บริหารของ ธ.ก.ส. ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน สมาคมการเกษตร รวมถึงสถาบันการศึกษาและวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนากลไกหรือเครื่องมือทางการเงิน รวมถึงรูปแบบธุรกิจการเกษตรที่ส่งเสริมความยั่งยืนทั้งด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมของเยอรมัน โดยเฉพาะประเด็นสำคัญคือการรองรับความเสี่ยงและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
อัลบั้มภาพ
จูเลียน ทอส์ท
ผู้อำนวยการโครงการ Agri-Climate Risk Financing
อีเมล:julian.tost(at)giz.de