Urban Solutions for Climate Crisis: ทางออกของเมืองเพื่อรับมือวิกฤติภูมิอากาศ
เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา กระทรวงมหาดไทย โดยกรมโยธาธิการและผังเมืองจัดสัมมนาทางวิชาการในหัวข้อ “Urban Solutions for Climate Crisis: เมืองเพื่อการรองรับวิกฤติภูมิอากาศ” เนื่องในวันผังเมืองโลกประจำปี พ.ศ. 2567 เพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญของการวางผังเมืองที่ช่วยรองรับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อสาธารณชน นำเสนอนวัตกรรม แนวทางการนำแนวคิดด้านการผังเมืองและการปรับตัวต่อผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปสู่การปฏิบัติ อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริม ให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญของการร่วมมือกัน เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการวางผังเมืองที่สำคัญ โดยมุ่งตอบโจทย์ความอยู่ดีมีสุขของประชาชนและสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs)
ในงานนี้กรมโยธาธิการและผังเมืองได้เชิญ GIZ ประจำประเทศไทย ผ่านโครงการพัฒนาเมืองแบบองค์รวมเพื่อส่งเสริมการเติบโตแบบคาร์บอนต่ำ และการเป็นเมืองที่ฟื้นตัวได้ (Integrated Urban Climate Action for Low-Carbon & Resilient Cities: Urban-Act) เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการจัดงาน เนื่องจากกรมฯ เป็นหน่วยงานร่วมดำเนินการโครงการ Urban-Act และมีส่วนสำคัญในการกำหนดนโยบายและมาตรการเชิงพื้นที่ รวมถึงการวางและพัฒนาผังเมืองคาร์บอนต่ำที่มีความยืดหยุ่นและปรับตัวได้ เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และช่วยลดผลกระทบจากภัยพิบัติต่าง ๆ โดยความรู้และการแลกเปลี่ยนมุมมองจากผู้เชี่ยวชาญในงานสัมมนาครั้งนี้จะสร้างวิสัยทัศน์และแรงบันดาลใจให้กับผู้กำหนดนโยบายและผู้ปฏิบัติในระดับเมืองให้ร่วมออกแบบการพัฒนาเมืองที่สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้
การวางนโยบายผังเมืองเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
คุณซาบีดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้เกียรติกล่าวเปิดงาน โดยเน้นย้ำว่าปัจจุบันทั่วโลกตื่นตัวกับการรับมือความรุนแรงและผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ซึ่งก่อให้เกิดภัยคุกคามต่อสุขภาพของมนุษย์ การเกษตร และเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้นโยบายเพื่อการบรรเทาและปรับตัวต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศมีความสำคัญอย่างมาก อาทิการเพิ่มพื้นที่ป่าและพื้นที่สีเขียวในเมือง ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน และรักษาและฟื้นฟูสภาพแหล่งน้ำ
ซาบีดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เยี่ยมชมบู้ทนิทรรศการโครงการ Urban-Act โดยมี
ดร.ศิวาพร ตั้งวานิชกพงษ์ ที่ปรึกษาอาวุโส ให้ข้อมูลโครงการฯ
การวางผังเมืองต้องอาศัยข้อมูลเชิงประจักษ์จากหลายภาคส่วน
ในการสัมมนาครั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และนักวิชาการได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ และแลกเปลี่ยนแนวคิดจากหลากหลายมุมมองเพื่อขับเคลื่อนงานด้านผังเมือง และเปิดมุมมองใหม่ๆ จากทั้งระดับท้องถิ่นและระดับนโยบาย ซึ่งเป็นรากฐานของการพัฒนาเมืองไปสู่ความยั่งยืนในอนาคต และรองรับวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่คาดการณ์ว่าจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
ในช่วงเช้า ดร.ชลัมภ์ อุ่นอารีย์ นักอุตุนิยมวิทยา กองพัฒนาอุตุนิยมวิทยา กรมอุตุนิยมวิทยาบรรยายในหัวข้อ “วิกฤตสภาพภูมิอากาศ” โดยนำเสนอข้อมูลเชิงประจักษ์ของลักษณะอากาศที่เกิดขึ้นแล้วในประเทศไทย อาทิ การเปลี่ยนแปลงรูปแบบความเข้มฝน และความร้อนที่เป็นโจทย์สำคัญ และเป็นความท้าทายต่อการจัดการเชิงพื้นที่
การบรรยายเกี่ยวกับ “การผังเมืองเพื่อรองรับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ” โดย รศ.ดร.วิจิตรบุษบา มารมย์ หัวหน้าหน่วยวิจัยอนาคตและนโยบายเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้นำเสนอถึงผลกระทบของการเพิ่มขึ้นของ อุณหภูมิโลกที่มีต่อเมืองในหลากหลายแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบเชิงพื้นที่ คมนาคมขนส่งและระบบบริการสาธารณะของเมือง ซึ่งชี้ให้เห็นโอกาสของเครื่องมือทางด้านผังเมืองเพื่อรับมือวิกฤตสภาพภูมิอากาศ
นอกจากนี้ คุณธัชพล สุนทราจารย์ ภูมิสถาปนิก และกรรมการบริหาร บริษัท แลนด์สเคปคอลลาบอเรชัน จำกัด ซึ่งบรรยายเรื่อง “การออกแบบเมืองเพื่อรองรับวิกฤติสภาพภูมิอากาศ” ได้แสดงมุมมองต่อการพัฒนาเชิงพื้นที่เชื่อมโยง กับระบบนิเวศ การใช้ภูมิประเทศเพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัย รับน้ำ หน่วงน้ำ และชะลอความเร็วน้ำ รวมไปถึงการใช้ประโยชน์จากพันธุ์ไม้ในการบำบัดน้ำเสียชุมชน และประโยชน์ร่วมจากระบบนิเวศพื้นถิ่นเพื่อพัฒนา เศรษฐกิจและรองรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
การบรรยายในช่วงเช้าจบด้วยกรณีศึกษาของประเทศจีน ผ่านวิดีทัศน์นโยบายการพัฒนาสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อรองรับวิกฤติสภาพภูมิอากาศ โดยศูนย์ยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ และความร่วมมือระหว่างประเทศ สาธารณรัฐประชาชนจีน (NCSC)
เวทีการเสวนา“เทคโนโลยีและการแก้ไขปัญหาที่ชาญฉลาดสู่การเป็นเมืองคาร์บอนต่ำอย่างเท่าเทียมและยั่งยืน”
ซ้ายไปขวา : ดร.จงรักษ์ ฐินะกุล ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านส่งเสริมและเผยแพร่ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม, ดร.ชลัมภ์ อุ่นอารีย์ นักอุตุนิยมวิทยา กองพัฒนาอุตุนิยมวิทยา กรมอุตุนิยมวิทยา, ผศ.ดร.ชูศักดิ์ จันทร์ปฐมพงศ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาออกแบบสถาปัตยกรรม ผู้ช่วยคณบดี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ดร.จิรโรจน์ ศุกลรัตน์ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม และ รศ.ดร.วิจิตรบุษบา มารมย์ หัวหน้าหน่วยวิจัยอนาคตและนโยบายเมือง แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินรายการโดย อรอุมา เกษตรพืชผล
เทคโนโลยีช่วยแก้ไขปัญหา
นอกจากนี้ ในช่วงบ่ายยังมีเวทีการเสวนา เรื่อง “เทคโนโลยีและการแก้ไขปัญหาที่ชาญฉลาดสู่การเป็นเมืองคาร์บอนต่ำอย่างเท่าเทียมและยั่งยืน” ผู้เข้าร่วมเสวนาได้แสดงทรรศนะต่อวิธีการปรับตัวภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน ได้แก่ ความสำคัญของการพัฒนาข้อมูล เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจโดยเฉพาะข้อมูลภูมิอากาศ การพัฒนาระบบการเตือนภัยพิบัติสำหรับทุกคน (Early warning for all) การใช้ระบบนิเวศวิทยาเดิมเพื่อเป็นฐานการพัฒนาเมืองและการกระตุ้นเจตนารมย์ทางการเมืองผ่านกลไกทางเศรษฐศาสตร์ รวมถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนและหน่วยงานในระดับท้องถิ่น และการขับเคลื่อนเมืองร่วมกับภาคเอกชนเพื่อร่วมกันรับมือต่อวิกฤติภูมิอากาศและสามารถบรรลุเป้าหมายของการพัฒนาประเทศได้
การสัมมนาครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมกว่า 300 คน ทั้งผู้ที่เข้าร่วมงานจากห้องประชุมและผ่านระบบออนไลน์ ณ ห้องแกรนด์บอลลรูม โรงแรมโกลเด้น ทิวทิป ซอฟเฟอริน กรุงเทพมหานคร
รับชมการถ่ายทอดสดย้อนหลังตลอดงานได้ที่
- Facebook: https://www.facebook.com/DPT.PR.GO.TH/videos/1543762473172220
- YouTube: https://www.youtube.com/watch?v=19JgozlbuLo
- เอกสารบรรยาย https://drive.google.com/drive/folders/1HR7IhNfYtkzwVQA1rpov0_GT38z7CaeK?fbclid=IwY2xjawGejWRleHRuA2FlbQIxMAABHdDsw3aCq-pRhxT4MDojOtISRwVqyYLRmYQz4osCudeW6NCMGj9PYqy0Xg_aem_Qbqn8cGqdy3CNuSG0AFUYQ
ข้อมูลโครงการ Urban-Act
โครงการพัฒนาเมืองแบบองค์รวมเพื่อส่งเสริมการเติบโตแบบคาร์บอนต่ำ และการเป็นเมืองที่ฟื้นตัวได้ (Urban-Act) เป็นโครงการในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้รับสนับสนุนงบประมาณจากแผนงานปกป้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับสากล (IKI) โดยกระทรวงเศรษฐกิจและการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMWK) มีระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2565 ถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2570 มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงไปสู่การพัฒนาเมืองแบบคาร์บอนต่ำและฟื้นตัวได้ รวมทั้งมีส่วนร่วมในการดำเนินการตามเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับชาติและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ดำเนินการใน 5 ประเทศ ได้แก่ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย หน่วยงานดำเนินงานระดับภูมิภาค ประกอบด้วย องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) องค์การเมืองและรัฐบาลท้องถิ่นแห่งเอเชียแปซิฟิก (UCLG ASPAC) มหาวิทยาลัยชตุทการ์ท และมหาวิทยาลัยดอร์ทมุนท์ ประเทศเยอรมนี โดยมีสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย (สป.มท.) กระทรวงมหาดไทย เป็นหน่วยงานร่วมดำเนินงานหลักในประเทศไทย
รู้จัก Urban-Act เพิ่มเติมที่
อัลบั้มภาพ
ไฮน์ริช กูเดนุส
ผู้อำนวยการโครงการ Urban-Act
อีเมล: heinrich.gudenus(at)giz.de