Urban-Act จับมือภูเก็ต ร่วมวางผังเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืนเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ทีมวิจัยภาคสนามโครงการ Urban-Act ลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พร้อมรวบรวมและศึกษาข้อมูลสำคัญทุกมิติ เพื่อจัดทำแผนการพัฒนาเมืองให้รับมือกับสถานการณ์การเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศได้อย่างยั่งยืน
- Urban-Act ลงพื้นที่ภูเก็ต วางแผนสร้างเมืองน่าอยู่ที่พร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- ข้อมูลเป็นกุญแจสำคัญในการวางแผนสร้างเมืองยั่งยืน การลงพื้นที่ครั้งนี้ได้รวบรวมข้อมูลและศึกษาปัญหาในภูเก็ตอย่างครอบคลุม ทั้งการจราจร การจัดการน้ำ และภัยพิบัติ
- โครงการฯ ให้ความสำคัญกับความร่วมมือระหว่างภาคส่วน ทั้งหน่วยงานระดับประเทศ และท้องถิ่นในการสร้างเมืองที่สามารถรับมือและฟื้นตัวได้จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
การพัฒนาเมืองให้มีความพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จำเป็นต้องคำนึงถึงหลายภาคส่วนและหลายระดับ ทั้งหน่วยงานส่วนกลาง และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เนื่องจากเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเมืองให้ยั่งยืน
โครงการพัฒนาเมืองแบบองค์รวมเพื่อส่งเสริมการเติบโตแบบคาร์บอนต่ำ และการเป็นเมืองที่ฟื้นตัวได้ (Urban-Act) ภายใต้การดำเนินงานของ GIZ ประจำประเทศไทย ร่วมกับ หน่วยวิจัยอนาคตและนโยบายเมืองแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง ในฐานะหน่วยงานร่วมดำเนินงานทางวิชาการ ลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ต หนึ่งในพื้นที่นำร่องของโครงการ ระหว่างวันที่ 23-27 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 เพื่อจัดเตรียมข้อมูลสนับสนุนการวิเคราะห์และจัดทำแผนรองรับสถานการณ์ของเมืองภูเก็ต รวมทั้งเตรียมข้อมูลระดับพื้นที่และหารือสำหรับการประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดภูเก็ตต่อไป
ทีมวิจัยได้สัมภาษณ์เชิงลึก หารือ ศึกษาแผนงานโครงการเกี่ยวกับแนวทางในปัจจุบันและอนาคตของเทศบาลที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมือง การจัดการพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมหรือน้ำแล้งและภัยพิบัติ ความต้องการของกลุ่มเปราะบาง ความท้าทายระหว่างการปฏิบัติงาน ความสามารถในการผลิตน้ำประปาของเมืองซึ่งเชื่อมโยงกับความต้องการของผู้บริโภค กำลังผลิต และการคาดการณ์สำหรับอนาคต รวมทั้งข้อจำกัดในเชิงกฎหมายและข้อเสนอแนะของแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ การจราจรที่คับคั่งยังเป็นอีกความท้าทายของเมืองภูเก็ต ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) ร่วมลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลการนับรถบริเวณที่มีการจราจรติดขัด และเป็นเส้นที่มีการทับซ้อนระหว่างท่อบำบัดน้ำเสียและถนน เพื่อดูเส้นทางที่ได้รับผลกระทบจากฝนตกหนักหรือน้ำท่วมฉับพลัน โดยมีการเก็บข้อมูล 3 จุด ได้แก่ บริเวณถนนเทพกษัตรีและถนนดำรง บริเวณถนนเส้น 4021 เทศบาลตำบลวิชิต และบริเวณถนนเส้น 402 เส้นหลัก ช่วงเวลา 16.00-18.00น. ระหว่างวันที่ 22-26 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 โดยใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ตรวจจับความเร็ว เพื่อหาค่าดัชนีจราจรติดขัด (Traffic Index) รวมทั้งจำนวนรถเข้า-ออก และปริมาณรถที่จดทะเบียนในจังหวัดภูเก็ตที่เดินทางข้ามสะพานสารสินในแต่ละวัน
การลงพื้นที่และเข้าพบกับหน่วยงานในจังหวัดภูเก็ตครั้งนี้เป็นการร่วมงานเชิงพื้นที่กับหน่วยงานราชการในท้องถิ่น เพื่อเก็บข้อมูล และรับฟังประเด็นปัญหาในพื้นที่สำหรับการจัดแผนการพัฒนาเมืองให้รับมือกับสถานการณ์การเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศได้อย่างยั่งยืนและสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครบทุกมิติ เนื่องจากข้อมูลบางประเภทไม่สามารถตรวจจับได้จากดาวเทียม เช่น ประเด็นปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในลักษณะฉับพลัน การลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อนำข้อมูลไปพล็อตลงแผนที่ แล้วนำข้อมูลไปวิเคราะห์เพื่อวางผังในลำดับต่อไป
นอกจากนี้ ยังเป็นการกระชับความสัมพันธ์กับหน่วยงานและเครือข่ายที่ทำงานด้านนี้ เพื่อให้การดำเนินงานโครงการฯ ในประเทศไทยประสบความสำเร็จตามเป้า
โครงการ Urban-Act ดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพด้วยการสนับสนุนจากนายกเทศมนตรี คณะผู้บริหาร และผู้แทนจากหน่วยงานระดับพื้นที่ทั้งหมด 14 แห่ง สำหรับการสนับสนุนข้อมูลประกอบการทำงาน อันประกอบด้วย หน่วยงานส่วนกลาง 1) สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 15 2) การประปาส่วนภูมิภาค สาขาภูเก็ต 3) สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 4) สถานีตำรวจภูธรท่าฉัตรไชย และ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ 5) องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต 6) เทศบาลนครภูเก็ต 7) เทศบาลตำบลวิชิต 8) เทศบาลเมืองกะทู้ 9) เทศบาลตำบลฉลอง 10) เทศบาลตำบลกะรน 11) องค์การบริหารส่วนตำบลกมลา 12) เทศบาลเมืองป่าตอง 13) เทศบาลตำบลป่าคลอก และ 14) องค์การบริหารส่วนตำบลไม้ขาว
เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการ Urban-Act
ข้อมูลโครงการ Urban-Act
โครงการพัฒนาเมืองแบบองค์รวมเพื่อส่งเสริมการเติบโตแบบคาร์บอนต่ำ และการเป็นเมืองที่ฟื้นตัวได้ (Urban-Act) เป็นโครงการในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้รับสนับสนุนงบประมาณจากแผนงานปกป้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับสากล (IKI) โดยกระทรวงเศรษฐกิจและการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMWK) มีระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2565 ถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2570 มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงไปสู่การพัฒนาเมืองแบบคาร์บอนต่ำและฟื้นตัวได้ รวมทั้งมีส่วนร่วมในการดำเนินการตามเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับชาติและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ดำเนินการใน 5 ประเทศ ได้แก่ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย หน่วยงานดำเนินงานระดับภูมิภาค ประกอบด้วย องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) องค์การเมืองและรัฐบาลท้องถิ่นแห่งเอเชียแปซิฟิก (UCLG ASPAC) มหาวิทยาลัยชตุทการ์ท และมหาวิทยาลัยดอร์ทมุนท์ ประเทศเยอรมนี โดยมีสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย (สป.มท.) กระทรวงมหาดไทย เป็นหน่วยงานร่วมดำเนินงานหลักในประเทศไทย
อัลบั้มภาพ
ไฮน์ริช กูเดนุส
ผู้อำนวยการโครงการ Urban-Act
อีเมล:heinrich.gudenus(at)giz.de