Urban-Act กับก้าวแรกสู่การพัฒนาบริการข้อมูลภูมิอากาศเพื่อการวางแผนพัฒนาเมืองที่คำนึงถึงปัจจัยด้านสภาพภูมิอากาศ
สรุปการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ผ่านระบบออนไลน์ในหัวข้อ “ข้อมูลภูมิอากาศ (Climate Parameters) และผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคเมือง”
- ข้อมูลและสารสนเทศด้านภูมิอากาศมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาและวางแผนเมืองในด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- GIZ ร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา จัดการประชุมออนไลน์เพื่อหารือเกี่ยวกับ”ข้อมูลภูมิอากาศ (Climate Parameters) และผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคเมือง” มีผู้เข้าร่วมจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกว่า 100 คน
- การประชุมนำเสนอข้อมูลเชิงลึกที่มีประโยชน์ และกรณีศึกษาจากนักอุตุนิยมวิทยาและผู้เชี่ยวชาญ ช่วยปูทางสู่การออกแบบบริการข้อมูลภูมิอากาศสำหรับภาคเมืองของประเทศไทย
ข้อมูลและสารสนเทศด้านภูมิอากาศมีความสำคัญต่อการพัฒนาเมืองและการวางแผนในด้านต่างๆ เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการประเมินความเหมาะสมของการใช้ประโยชน์ที่ดิน การประเมินความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศในการวางผังเมือง การประเมินโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ และการวางแผนเส้นทางระบายอากาศของเมือง (Urban ventilation corridors – UVCs)
สำหรับก้าวแรกสู่การสร้างบริการข้อมูลภูมิอากาศที่มีประสิทธิภาพเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเมืองและการพัฒนาเชิงพื้นที่ที่คำนึงถึงปัจจัยด้านสภาพภูมิอากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา ร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ภายใต้โครงการพัฒนาเมืองแบบองค์รวมเพื่อส่งเสริมการเติบโตแบบคาร์บอนต่ำและการเป็นเมืองที่ฟื้นตัวได้ (Urban-Act) จัดการประชุมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ผ่านระบบออนไลน์ในหัวข้อ “ข้อมูลภูมิอากาศ (Climate Parameters) และผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคเมือง” เมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา
ในการประชุมครั้งนี้ มีวิทยากรและผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งเป็นนักอุตุนิยมวิทยาจากศูนย์ภูมิอากาศ กรมอุตุนิยมวิทยามาแบ่งปันข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับข้อมูลภูมิอากาศและกรณีศึกษาของการประยุกต์ใช้บริการข้อมูลภูมิอากาศ คุณอภิญญา ชัยลา นำเสนอข้อมูลตรวจวัดและข้อมูลภูมิอากาศที่เกี่ยวข้องกับภาคส่วนต่างๆ คุณฤทัยกาญจน์ บัวเผียน นำเสนอเรื่องผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อภาคเมือง และ ดร.ชลัมภ์ อุ่นอารีย์ นำเสนอแนวทางเชิงรุกเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และนำเสนอตัวอย่างจากโครงการ ‘Climate Field School’ ตามลำดับ
นอกจากนี้ ผศ.ดร.พรสรร วิเชียรประดิษฐ์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เน้นย้ำถึงการบูรณาการข้อมูลภูมิอากาศในกระบวนการวางผังเมืองผ่านกรณีศึกษาการใช้ข้อมูลภูมิอากาศในภาคเมือง และ รศ.ดร.วิจิตรบุษบา มารมย์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แบ่งปันข้อมูลเชิงลึกจากมุมมองของเมืองเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้ข้อมูลและสารสนเทศด้านภูมิอากาศ
ผลจากการประชุมแลกเปลี่ยนความรู้ครั้งนี้ทำให้โครงการฯ ทราบความต้องการและความคาดหวังเบื้องต้นของผู้ใช้บริการข้อมูลภูมิอากาศ ซึ่งปูทางไปสู่การออกแบบบริการข้อมูลภูมิอากาศสำหรับภาคเมืองของประเทศร่วมกันในลำดับถัดไป
การประชุมดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและการมีเป้าหมายร่วมกันของโครงการฯ และหน่วยงานร่วมดำเนินงาน เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและข้อมูลภูมิอากาศที่เกี่ยวข้องในภาคเมือง โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 100 คนจากหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากเมืองนำร่องของโครงการฯ มาร่วมกันแบ่งปันข้อมูลเชิงลึกและความต้องการเกี่ยวกับข้อมูลและสารสนเทศด้านภูมิอากาศ
เรียนรู้รายละเอียดเพิ่มเติมของการนำเสนอและเอกสารประกอบแต่ละประเด็นได้จากลิงก์ด้านล่าง:
- ข้อมูลตรวจวัดและข้อมูลภูมิอากาศที่เกี่ยวข้องกับภาคส่วนต่างๆ
- ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อภาคเมือง
- แนวทางเชิงรุกเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และกรณีศึกษา โครงการ ‘Climate Field School’
- การบูรณาการข้อมูลภูมิอากาศในกระบวนการวางผังเมืองผ่านกรณีศึกษาการใช้ข้อมูลภูมิอากาศในภาคเมือง
- มุมมองของเมืองเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้ข้อมูลและสารสนเทศด้านภูมิอากาศ
ข้อมูลโครงการ Urban-Act
โครงการพัฒนาเมืองแบบองค์รวมเพื่อส่งเสริมการเติบโตแบบคาร์บอนต่ำ และการเป็นเมืองที่ฟื้นตัวได้ (Urban-Act) เป็นโครงการในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้รับสนับสนุนงบประมาณจากแผนงานปกป้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับสากล (IKI) โดยกระทรวงเศรษฐกิจและการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMWK) มีระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2565 ถึงเดือนธันวาคม 2570 มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงไปสู่การพัฒนาเมืองแบบคาร์บอนต่ำและฟื้นตัวได้ รวมทั้งมีส่วนร่วมในการดำเนินการตามเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับชาติและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ดำเนินการใน 5 ประเทศ ได้แก่ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย หน่วยงานดำเนินงานระดับภูมิภาค ประกอบด้วย องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) องค์การเมืองและรัฐบาลท้องถิ่นแห่งเอเชียแปซิฟิก (UCLG ASPAC) มหาวิทยาลัยชตุทการ์ท และมหาวิทยาลัยดอร์ทมุนท์ ประเทศเยอรมนี โดยมีสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย (สป.มท.) กระทรวงมหาดไทย เป็นหน่วยงานร่วมดำเนินงานหลักในประเทศไทย
ไฮน์ริช กูเดนุส
ผู้อำนวยการโครงการ Urban-Act
อีเมล:heinrich.gudenus(at)giz.de