โครงการ Urban-Act สนับสนุนภูเก็ตให้พร้อมรับมือวิกฤติสภาพภูมิอากาศ

พิธีเปิดโครงการ Urban-Act ณ จังหวัดภูเก็ต นำโดยคุณอัญชลี ตันวานิช ที่ปรึกษาด้านการวางผังเมือง (ที่ 5 จากซ้าย) คุณไฮน์ริช กูเดนุส ผู้อำนวยการโครงการ Urban-Act จาก GIZ (ที่ 4 จากซ้าย) และคุณสมาวิษฎ์ สุพรรณไพ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต (กลาง) พร้อมทั้งผู้แทนจากหน่วยงานที่ดำเนินโครงการ ผู้เชี่ยวชาญ และผู้นำท้องถิ่น
- การเปิดตัวโครงการ Urban-Act อย่างเป็นทางการ ณ จังหวัดภูเก็ต หนึ่งในเมืองนำร่องของโครงการฯ ถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาภูเก็ตให้เป็นเมืองที่สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการวางผังเมืองที่ใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์ และการจัดการพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านการส่งเสริมนโยบายพื้นที่สีเขียวและการพัฒนาระบบขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
- ด้วยลักษณะเฉพาะทางภูมิศาสตร์ของจังหวัดภูเก็ตทำให้มีความเสี่ยงอย่างมาก เช่น น้ำท่วมรุนแรง ภัยแล้ง และดินถล่ม เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ โครงการ Urban-Act ได้นำเสนอการวิเคราะห์ห่วงโซ่ผลกระทบ และการทำแผนที่ความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ เพื่อนำไปใช้ในการออกแบบผังเมืองและพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและระบบน้ำของภูเก็ตอย่างยั่งยืน
- หน่วยงานท้องถิ่นและระดับชาติที่เกี่ยวข้องร่วมกันหารือเกี่ยวกับความท้าทายสำคัญ เช่น ข้อจำกัดด้านงบประมาณ และความจำเป็นเร่งด่วนในการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน
เมืองนำร่องและการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศระดับท้องถิ่น
โครงการพัฒนาเมืองแบบองค์รวมเพื่อส่งเสริมการเติบโตแบบคาร์บอนต่ำ และการเป็นเมืองที่ฟื้นตัวได้ (Integrated Urban Climate Action for Low-Carbon & Resilient Cities: Urban-Act) มุ่งสร้างผลลัพธ์ที่จับต้องได้ในระดับพื้นที่ โดยการทดสอบและนำเครื่องมือที่ช่วยให้เมืองสามารถรับมือกับวิกฤติภูมิอากาศมาใช้ในพื้นที่นำร่อง เพื่อขยายผลไปยังเมืองอื่นๆ ต่อไป
ภูเก็ตเป็นหนึ่งในเมืองนำร่องของโครงการฯ ร่วมกับจังหวัดเชียงใหม่และขอนแก่น โดยโครงการฯ มุ่งเน้นการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาเมืองภูเก็ตให้คำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยบูรณาการการพิจารณาความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศ และเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องเข้ากับกระบวนการวางแผนและผังเมืองปัจจุบัน รวมถึงการเสริมสร้างศักยภาพของทั้งเมืองและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการรับมือกับความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

คุณโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ต้อนรับคุณไฮน์ริช กูเดนุส ผู้อำนวยการโครงการ Urban-Act และทีมร่วมดำเนินโครงการฯ อย่างอบอุ่น
เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2567 คุณไฮน์ริช กูเดนุส ผู้อำนวยการโครงการ Urban-Act โดยองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) และทีมงานได้เข้าพบคุณโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ เพื่อนำเสนอโครงการ รับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมทั้งรับฟังเสียงสะท้อนเกี่ยวกับความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศของภูเก็ต ซึ่งเป็นข้อมูลเชิงลึกที่มีประโยชน์ต่อการวางแผนดำเนินโครงการฯ เช่น ผลกระทบจากน้ำท่วมและภัยแล้งที่มีต่อระบบเมือง แนวโน้มการเติบโตของเมืองภูเก็ตในอนาคต การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ตั้งถิ่นฐานและพื้นที่กักเก็บน้ำ การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน รวมถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกี่ยวข้องกับบริการสาธารณะ การขนส่งในเมือง และเครือข่ายต่างๆ รวมทั้งข้อจำกัดด้านงบประมาณสำหรับการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

วิสัยทัศน์เพื่อความยั่งยืน
จังหวัดภูเก็ตเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดของไทย อยู่ทางภาคใต้ ในทะเลอันดามัน มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงเป็นอันดับสองของไทย โดยสร้างรายได้ถึง 1.5 ล้านล้านบาทต่อปีให้แก่ประเทศ
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันภูเก็ตเผชิญกับความท้าทายสำคัญ เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง และความร้อนสูงในพื้นที่อยู่อาศัย โครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งไม่เพียงพอ มลพิษทางสิ่งแวดล้อม และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
จังหวัดภูเก็ตตระหนักถึงความท้าทายเหล่านี้ จึงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาจังหวัดตามแนวทางที่สอดคล้องกับการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (NDCs) และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)

ในช่วงพิธีเปิดตัวโครงการฯ ในวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2567 คุณสมาวิษฎ์ สุพรรณไพ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เน้นย้ำว่า การแก้ไขผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของภูเก็ตเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากผลกระทบเหล่านี้ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมในเมือง ภูเก็ตจึงให้ความสำคัญกับการบูรณาการแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนในการวางผังเมือง รวมทั้งการจัดการขยะและน้ำเสีย ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม และการขนส่งที่ไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งปัญหาเหล่านี้นับวันยิ่งทวีความรุนแรง และมีความเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ด้วยวิสัยทัศน์นี้ ภูเก็ตกำลังก้าวไปข้างหน้าสู่การเป็นเมืองที่สะอาดขึ้น ยั่งยืนขึ้น และน่าอยู่อาศัยมากยิ่งขึ้นสำหรับทั้งคนในพื้นที่และนักท่องเที่ยว

ภูเก็ตเมืองนำร่องเพื่อการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ผศ.ดร.วิจิตรบุษบา มารมย์ ผู้อำนวยการหน่วยวิจัยอนาคตเมืองและนโยบาย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ดร.กัมปนาท ศิลวา นักวิจัยจากกลุ่มวิจัยพลังงานคาร์บอนต่ำ ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) นำเสนอภาพรวมการดำเนินงานโครงการ Urban-Act
เพื่อให้สอดรับกับความท้าทายด้านการจัดการปัจจัยเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนความมุ่งมั่นในการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งของภูเก็ต แผนงานการดำเนินของโครงการ Urban-Act ในภูเก็ตจึงเน้นที่การบรรเทาความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศ เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง และความร้อน รวมถึงการประเมินความเสี่ยงในระยะสั้น เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนานโยบายและโครงสร้างพื้นฐาน
การศึกษาในปัจจุบันชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการแก้ปัญหาเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องสร้างกรอบกฎหมายที่รองรับ เพื่อให้การแก้ปัญหามีประสิทธิภาพและยั่งยืน
โครงการ Urban-Act จึงมุ่งนำเสนอแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน และปฏิบัติได้จริงในการรับมือกับความท้าทายด้านสภาพภูมิอากาศ และส่งเสริมการพัฒนาเมืองที่สามารถรับมือวิกฤติภูมิอากาศได้ พร้อมทั้งการรักษาความงดงามของธรรมชาติ และความมั่นคงทางเศรษฐกิจของเกาะแห่งนี้ไว้เพื่อคนรุ่นต่อไป เพื่อสร้างภูเก็ตให้เป็นจังหวัดที่เติบโตอย่างยั่งยืน โดยการลดมลพิษทางสิ่งแวดล้อม เพิ่มพื้นที่สีเขียว และยกระดับคุณภาพชีวิตของทั้งคนในพื้นที่และนักท่องเที่ยวให้ดีขึ้น
แนวทางการพัฒนาภูเก็ตสู่เมืองคาร์บอนต่ำและพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เวทีเสวนา “แนวทางการพัฒนาภูเก็ต สู่เมืองคาร์บอนต่ำ และพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” โดยตัวแทนจากสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดภูเก็ต สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กรมอุตุนิยมวิทยา องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต และหอการค้าจังหวัดภูเก็ต มาร่วมแบ่งปันมุมมองและกลยุทธ์ในการพัฒนาเมืองในวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2567
ในการอภิปรายเกี่ยวกับอนาคตด้านสภาพภูมิอากาศของภูเก็ตครั้งนี้ ผู้มีบทบาทสำคัญได้ร่วมแบ่งปันมุมมองเกี่ยวกับเส้นทางการเติบโตแบบคาร์บอนต่ำ และการพัฒนาที่มีความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดังนี้
องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต เน้นว่าแม้การท่องเที่ยวสร้างรายได้จำนวนมากให้แก่พื้นที่ แต่ภูเก็ตยังมีข้อจำกัดด้านงบประมาณสำหรับการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รัฐบาลย้ำถึงความจำเป็นในการบูรณาการปัจจัยด้านสภาพภูมิอากาศเข้ากับโครงการพัฒนาเมือง ซึ่งการได้รับการสนับสนุนจากโครงการต่างๆ เช่น โครงการ Urban-Act จะช่วยให้ภูเก็ตขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านนี้ได้มากขึ้น
สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวถึงความพยายามในการส่งเสริมการขนส่งแบบคาร์บอนต่ำ เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า (EVs) และพลังงานสะอาด อย่างไรก็ตาม ภูเก็ตยังมีความท้าทายสำคัญคือ การมีถนนสายหลักเพียงสายเดียวที่เชื่อมต่อระหว่างสนามบินและตัวเมือง
กรมอุตุนิยมวิทยา (อต.) เตือนว่ารูปแบบสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงปรากฏการณ์ลานีญาที่เกิดต่อเนื่อง 3 ครั้ง กำลังส่งผลให้อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น เกิดน้ำท่วม และภัยแล้ง แผนที่ความเสี่ยงด้านความร้อนและน้ำท่วมจะช่วยให้การวางผังเมืองและการวางแผนเชิงพื้นที่ในอนาคตมีข้อมูลที่ครบถ้วนยิ่งขึ้น
สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดภูเก็ต กำลังดำเนินการเพื่อจัดหางบประมาณสำหรับโครงการที่มีความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โครงการล่าสุด ได้แก่ 1) การจัดหาและติดตั้งระบบรถยนต์ไฟฟ้าให้แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2024 เพื่อให้บริการประชาชนทั่วไป โดยยกเว้นค่าบริการแก่นักเรียนและผู้สูงอายุประมาณ 30,000 คน และ 2) ระบบรางที่เชื่อมสนามบินกับตัวเมือง โดยคาดหวังว่าจะมีการลงทุนจากต่างประเทศ
ในขณะเดียวกัน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ย้ำถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ทนทานต่อความเสี่ยง โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงต่อน้ำท่วม พร้อมทั้งเรียกร้องให้มีการวางแผนและการปรึกษาหารือที่ดียิ่งขึ้น เพื่อให้ภูเก็ตยังคงเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ
การอภิปรายครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามในการจัดการกับความท้าทายเหล่านี้ และตอกย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือที่จะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม
การระบุภัยคุกคามและความเสี่ยง เพื่อวางแผนรับมือความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศด้วยเมืองฟองน้ำและทางออกที่ยั่งยืน

ซ้าย: คุณอัญชลี ตันวานิช ที่ปรึกษาด้านการวางผังเมือง นำทีมการสำรวจพื้นที่เสี่ยงดินถล่ม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประเมินความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ; ขวา: การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อประเมินภัยและความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2567 เพื่อแก้ไขปัญหาในระดับจังหวัดและเมือง โดยมีเจ้าหน้าที่ภาครัฐ นักพัฒนาพื้นที่ภาคเอกชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในท้องถิ่น เข้าร่วมกว่า 60 คน
การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้เน้นการระบุภัยคุกคามและความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศของภูเก็ต โดยเฉพาะปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้ง ผู้เชี่ยวชาญได้เสนอข้อมูลเกี่ยวกับน้ำท่วมและภัยแล้ง พร้อมวิเคราะห์ความเสี่ยง โดยคาดการณ์ว่าปัญหาที่เกี่ยวข้องกับน้ำจะยิ่งรุนแรงขึ้นจากการขยายตัวของเมืองเข้าสู่พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและการเกิดฝนตกหนักมากขึ้น
ผลจากการอภิปรายร่วมกันในครั้งนี้สะท้อนว่าภูเก็ตจำเป็นต้องเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำเพื่อรับมือกับปัญหาการขาดแคลนน้ำ นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมยังได้ร่วมกันพิจารณาผลกระทบจากน้ำท่วมและภัยแล้งที่มีต่อการขนส่ง การจัดหาน้ำ ระบบบำบัดน้ำเสีย และพื้นที่ในเมือง
ทุกภาคส่วนเห็นพ้องกันว่า ทางออกของปัญหาดังกล่าวคือการพัฒนา “เมืองฟองน้ำ (Sponge City)” เพื่อเพิ่มการกักเก็บน้ำในพื้นที่ที่มีอยู่และส่งเสริมระบบขนส่งมวลชนที่เชื่อถือได้มากขึ้น เช่น การพัฒนาระบบรถโดยสารเพื่อบรรเทาปัญหาการขนส่งที่เกิดจากภัยคุกคามด้านสภาพภูมิอากาศ
นอกจากนี้ การประชุมยังเน้นถึงปฏิสัมพันธ์ที่เพิ่มขึ้นระหว่างน้ำท่วมและภัยแล้ง รวมถึงความเสี่ยงต่างๆ จากฝนตกหนัก เช่น การกัดเซาะในบางพื้นที่ และการขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐาน
ประเด็นสำคัญดังกล่าวได้จุดประกายการอภิปรายเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติในท้องถิ่น ความคาดหวัง และการบูรณาการข้อมูลความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศเข้ากับการพัฒนาและการวางผังเมืองในอนาคต โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของชาวบ้านในท้องถิ่น ซึ่งเป็นกลุ่มที่เปราะบางที่สุดต่อผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศ และการมีบทบาทสำคัญของภาคเอกชนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของภูเก็ต โดยเฉพาะด้านการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในโครงการก่อสร้าง
แนวทางเพื่อให้ภูเก็ตเป็นเมืองที่มีพร้อมรับมือวิกฤติภูมิอากาศและการพัฒนาอย่างยั่งยืน
แม้ตอนนี้ภูเก็ตจะได้ก้าวสู่เส้นทางแห่งการพัฒนาอย่างยั่งยืนแล้ว แต่ยังต้องพยายามต่อไปในการเชื่อมโยงด้านการจัดหาทุนให้กับโครงการที่เกี่ยวข้อง รวมถึงด้านการสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
นับจากนี้ โครงการ Urban-Act มุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในท้องถิ่นอย่างใกล้ชิด ทั้งจากภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน เพื่อพัฒนาโครงการที่สามารถดึงดูดการลงทุน ซึ่งจะช่วยลดช่องว่างด้านการเงินและจัดหาทุนสำหรับโครงการที่มีความยืดหยุ่นต่อสภาพภูมิอากาศ พร้อมทั้งหาทางออกที่เหมาะสม โดยจะให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของชาวบ้านที่เปราะบางที่สุดต่อผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศในการอภิปรายและการวางแผนต่อไป
ด้วยความมุ่งมั่นและการร่วมมือจากทุกภาคส่วน ผ่านการบูรณาการด้านนโยบาย โครงสร้างพื้นฐาน และการมีส่วนร่วมของชุมชน ทำให้ภูเก็ตไม่เพียงแต่สามารถรับมือกับความท้าทายในปัจจุบันได้ แต่ยังเป็นการปูทางสู่อนาคตที่ยั่งยืนและลดการปล่อยคาร์บอนอย่างมีประสิทธิภาพ
ข้อมูลโครงการ Urban-Act
โครงการพัฒนาเมืองแบบองค์รวมเพื่อส่งเสริมการเติบโตแบบคาร์บอนต่ำ และการเป็นเมืองที่ฟื้นตัวได้ (Urban-Act) เป็นโครงการในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้รับสนับสนุนงบประมาณจากแผนงานปกป้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับสากล (IKI) โดยกระทรวงเศรษฐกิจและการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMWK) มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงไปสู่การพัฒนาเมืองแบบคาร์บอนต่ำและฟื้นตัวได้ รวมทั้งมีส่วนร่วมในการดำเนินการตามเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับชาติและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ดำเนินการใน 5 ประเทศ ได้แก่ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย หน่วยงานดำเนินงานระดับภูมิภาค ประกอบด้วย องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) องค์การเมืองและรัฐบาลท้องถิ่นแห่งเอเชียแปซิฟิก (UCLG ASPAC) มหาวิทยาลัยชตุทการ์ท และมหาวิทยาลัยดอร์ทมุนท์ ประเทศเยอรมนี โดยมีสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย (สป.มท.) กระทรวงมหาดไทย เป็นหน่วยงานร่วมดำเนินงานหลักในประเทศไทย มีระยะเวลาดำเนินโครงการในประเทศไทยตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2565 ถึงเดือนกันยายน พ.ศ. 2569
ไฮน์ริช กูเดนุส
ผู้อำนวยการโครงการ Urban-Act
อีเมล: heinrich.gudenus(at)giz.de