กรมควบคุมมลพิษและ GIZ ร่วมพัฒนาเว็บไซต์บัญชีสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

หน้าเว็บไซต์
- เจ้าหน้าที่จัดซื้อจัดจ้างและผู้บริโภคสามารถค้นหาและเลือกซื้อสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้สะดวกยิ่งขึ้น
- ผู้ใช้งานสามารถค้นหาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ขั้นตอนการจัดทำเกณฑ์ข้อกำหนดเพื่อขอขึ้นทะเบียนสินค้าในบัญชีฯ และรายงานผลการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมขององค์กรได้
- กรมควบคุมมลพิษจะนำข้อมูลที่ได้รับไปวิเคราะห์ ประเมินผล และพัฒนาเป็นนโยบายส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมต่อไป
กรมควบคุมมลพิษและองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ร่วมพัฒนาเว็บไซต์บัญชีรายชื่อและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมรูปแบบใหม่และใช้งานง่ายขึ้น โดยเว็บไซต์จะแสดงรายการผลิตภัณฑ์และบริการที่ผ่านการรับรองว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แนะนำกระบวนการจัดทำเกณฑ์ข้อกำหนดเพื่อให้ผู้ประกอบการยื่นขอขึ้นทะเบียนสินค้าในบัญชีฯ รวมถึงเป็นช่องทางให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนรายงานผลการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมขององค์กรในรูปแบบออนไลน์ได้
บัญชีฯ ดังกล่าวช่วยให้เจ้าหน้าที่จัดซื้อจัดจ้างและผู้บริโภคค้นหาและเลือกซื้อสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้สะดวกยิ่งขึ้น โดยผลิตภัณฑ์และบริการในบัญชีฯ ได้ผ่านการรับรองด้วยฉลากสิ่งแวดล้อมประเภทต่างๆ ว่ามีมาตรฐาน ตรวจสอบแล้วว่าลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจริง ตัวอย่างเช่น ฉลากเขียวโดยสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และฉลากลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์โดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก

Samples of green products and services listed in the database
นอกจากนี้ หน่วยงานภาครัฐและเอกชนยังสามารถใช้ระบบนี้เพื่อรายงานผลการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้ โดยการกรอกและสรุปข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าทั่วไปและสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของแต่ละองค์กร ซึ่งระบบสามารถประเมินปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจกเบื้องต้นจากการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมบางชนิดได้ โดยกรมควบคุมมลพิษจะนำข้อมูลที่ได้รับไปวิเคราะห์ ประเมินผล และพัฒนาเป็นนโยบายส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมต่อไป ผู้ใช้งานสามารถดูข้อมูลภาพรวมสถิติการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียวของประเทศไทยได้ที่นี่
เว็บไซต์ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Scaling SCP เพื่อส่งเสริมมาตรฐานผลิตภัณฑ์และรูปแบบการบริโภคที่เป็นมิตรกับสภาพภูมิอากาศ และมีการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยใช้แนวทางการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐอย่างยั่งยืนและฉลากสิ่งแวดล้อม โดยได้รับเงินสนับสนุนจากกระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติ ความปลอดภัยทางปรมาณูและคุ้มครองผู้บริโภค สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMUV) มีระยะเวลาดำเนินงานตั้งแต่มกราคม พ.ศ. 2565 – ธันวาคม พ.ศ. 2567 โดยมีอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทยเป็นประเทศคู่ร่วมมือ
สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
ไค ฮอฟมันน์
ผู้อำนวยการโครงการ Scaling SCP
อีเมล: kai.hofmann1(at)giz.de