การประชุมเชิงปฏิบัติการ “แผนแม่บทด้านพลังงาน เมืองอูลานบาตอร์” ถูกจัดขึ้นเพื่อนำเสนอรายงานฉบับสุดท้ายในวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ.2561 โดยมีผู้แทนจากเมืองอูลานบาตอร์ สถาบันด้านพลังงานระดับชาติและระดับท้องถิ่น หน่วยงานวิศวกรรมด้านสาธารณูปโภค องค์กรจากนานาชาติ ภาคส่วนการธนาคารและภาคเอกชนจำนวน 60 ท่านเข้าร่วมประชุม
Mr. T.Gantumur ผู้จัดการทั่วไปของเมืองอูลานบาตอร์ ได้กล่าวเปิดในที่ประชุมว่า “การศึกษานี้ไม่เพียงแต่เป็นเรื่องระบบจัดหาพลังงานในอนาคตเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงความท้าทายในแง่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับโลกและมลพิษทางอากาศในเมืองอูลานบาตอร์”
จากรายงานระบุว่า เพื่อเป็นการป้องกันการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ 1.5 องศาเซลเซียส ปริมาณก๊าซเรือนกระจกจะต้องลดลงร้อยละ 45 จากปีพ.ศ. 2553 ภายในปีพ.ศ. 2573 และร้อยละ 100 ภายในปี พ.ศ.2593 นอกจากนี้ยังพบว่าในปีพ.ศ. 2593 ต้องลดการใช้ถ่านหินเป็นแหล่งพลังงานไฟฟ้า จากเกือบร้อยละ 40 ในปัจจุบัน เป็นร้อยละ 1 ถึงร้อยละ 7 พลังงานทดแทน เช่น ลม และพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งคิดเป็นประมาณร้อยละ 20 ของการผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสานในปัจจุบัน จะต้องเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 67 ตัวเลขต่างๆ เหล่านี้ เกือบจะเป็นไปตามเป้าที่วางไว้ในการศึกษาเรื่อง “แผนแม่บทด้านพลังงานสำหรับเมืองอูลานบาตอร์” และการเปลี่ยนแปลงในระยะยาวของระบบพลังงานในปัจจุบัน จะเป็นกระบวนการที่ท้าทายและไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้
Dr. Christian Glass เลขานุการเอก สถานเอกอัครราชทูตเยอรมัน กล่าวว่า “รัฐบาลเยอรมันได้สนับสนุนประเทศมองโกเลียในการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมาเป็นเวลาหลายปี และการศึกษาครั้งนี้ถือเป็นการต่อยอดในการสนับสนุนนี้“ ท่านยังกล่าวอีกว่า เมืองอูลานบาตอร์เผชิญกับความท้าทายในการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ และการปฏิรูประบบพลังงาน เพราะปัจจุบันเรายังคงต้องพึ่งพาการใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลค่อนข้างมาก ความท้าทายอื่นๆ ยังรวมถึงราคาถ่านหินที่มีราคาถูก ประชากรมีรายได้ต่ำ การขาดความรู้ทางเทคนิคและโครงสร้างการจัดสรรที่อยู่อาศัยนอกระบบ ท่านกล่าวเพิ่มเติมว่า “ข้อสรุปและคำแนะนำในการศึกษานี้จะกระตุ้นให้รัฐบาลของเมืองอูลานบาตอร์ รับผิดชอบในการกำหนดระบบพลังงานและแหล่งพลังงานของเมือง ซึ่งจะถูกนำมาใช้ในการริเริ่มการเปลี่ยนผ่านจากการใช้ถ่านหินไปสู่ระบบพลังงานหมุนเวียน และหากดำเนินการตามนี้แล้ว ปัญหามลพิษทางอากาศที่มีอยู่และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระยะยาวจะได้รับการแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพ“
Mr. Gerhard Stryi-Hipp หัวหน้ากลุ่มวิจัยที่ Fraunhofer ISE ได้นำเสนอรายงานฉบับสุดท้าย ซึ่งได้กล่าวถึงภาพรวมของความต้องการด้านพลังงานในปัจจุบันและอนาคต รวมทั้งสมมติฐานจนถึงปี พ. ศ. 2593 ตลอดจนโครงสร้างระบบพลังงานทั่วไป แหล่งพลังงานทดแทนที่มีอยู่ทั่วเมืองอูลานบาตอร์ และคำแนะนำในการจัดตั้งระบบพลังงานแบบยั่งยืนโดยอาศัยแหล่งพลังงานทดแทนเป็นส่วนใหญ่
เมืองอูลานบาตอร์ มีบทบาทหลักในการกำหนดนโยบายระดับชาติ ประเทศมองโกเลียได้มุ่งมั่นในการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และได้ให้สัตยาบันในข้อตกลงปารีสในปีพ.ศ. 2559 ด้วยวิสัยทัศน์การพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 และการมีส่วนร่วมในระดับประเทศ (NDC) มองโกเลียได้กำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนไว้จนถึงปีพ. ศ. 2573 เพื่อมุ่งสู่การลดคาร์บอนในภาคพลังงานและลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยควบคุมอุณหภูมิทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียสภายในปี พ.ศ. 2593 ความท้าทายอีกประการหนึ่งของเมืองอูลานบาตอร์ คือ มลพิษทางอากาศที่รุนแรง ซึ่งหมายความว่าเมืองอูลานบาตอร์จำเป็นต้องลดมลพิษทางอากาศ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการเผาถ่านหินและต้องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้เกือบทั้งหมดภายในปี 2593
จากการวิเคราะห์ระบบพลังงานในปัจจุบัน การคาดการณ์ความต้องการพลังงานของเมืองอูลานบาตอร์ ในปีพ.ศ. 2593 ได้รับการพัฒนาขึ้นในการศึกษานี้ โดยได้คำนึงถึงการเติบโตของประชากรและเศรษฐกิจ ตลอดจนการปรับปรุงประสิทธิภาพโดยเฉพาะในเรื่องฉนวนกันความร้อนของอาคาร ศักยภาพในการใช้พลังงานหมุนเวียนของเมืองอูลานบาตอร์ และศักยภาพลมของพื้นที่โดยรอบได้รับการประเมินแล้ว และจากข้อมูลเหล่านี้ สถานการณ์สมมติ 3 สถานการณ์ถูกพัฒนาขึ้น และมีการคำนวณระบบพลังงานที่ใช้ต้นทุนที่เหมาะสมผ่านการใช้เครื่องมือที่เรียกว่า KomMod ข้อค้นพบทั่วไปที่ได้จากการสร้างแบบจำลอง คือการใช้พลังงานแสงอาทิตย์และลม จะเป็นแหล่งพลังงานหลักสำหรับเมืองอูลานบาตอร์ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากศักยภาพของลมภายในเขตเมืองมีจำกัด ดังนั้นจะต้องมีการนำศักยภาพพลังงานลมของบริเวณโดยรอบของเมืองมาใช้ จากการศึกษานี้ ได้มีการเสนอแนะสถานการณ์สมมติของระบบพลังงานเป้าหมาย 3 สถานการณ์สำหรับเมืองอูลานบาตอร์ ในปีพ. ศ. 2593 ซึ่งประกอบด้วยพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ ซึ่งสามารถผลิตไฟฟ้าได้ร้อยละ 38 ของความต้องการใช้ไฟฟ้า และกังหันลมผลิตได้ร้อยละ 37 โรงไฟฟ้าพลังงานร่วม (ถ่านหินและขยะ) ผลิตไฟฟ้าได้ร้อยละ 22 และร้อยละ 3 ของความต้องการใช้ไฟฟ้าจะถูกนำเข้า โรงไฟฟ้าพลังงานร่วมที่ใช้ถ่านหินที่มีประสิทธิภาพสูงนี้จะสามารถใช้แหล่งพลังงานที่เก็บตามฤดูกาลได้
เพื่อให้ได้ระบบพลังงานตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ การปรับเปลี่ยนอย่างเป็นระบบในระยะยาวจึงเป็นสิ่งสำคัญ มาตรการที่จะนำมาใช้ในทุกภาคส่วน ก็จะต้องรวมถึงการลดการสูญเสียความร้อนผ่านการใช้ฉนวนกันความร้อนที่ได้รับการปรับปรุง การปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบพลังงาน การติดตั้งอุปกรณ์ทำความร้อนไฟฟ้า และการเสริมสร้างเครือข่ายที่เชื่อมต่อกันสำหรับการจ่ายไฟฟ้า การเสริมสร้างพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงภาคการเคลื่อนย้าย
การศึกษานี้ไม่ใช่แผนแม่บทด้านพลังงานฉบับสุดท้ายของเมืองอูลานบาตอร์ เนื่องจากยังต้องมีการประเมินรายละเอียดของมาตรการที่เป็นไปได้ และต้องทำให้สอดคล้องกับนโยบายท้องถิ่นและระดับชาติก่อนที่จะเริ่มดำเนินการตามแผนแม่บท
เราตระหนักดีว่านโยบายด้านพลังงาน เป็นความรับผิดชอบหลักของนโยบายระดับชาติ แต่เนื่องจากความท้าทายที่เมืองอูลานบาตอร์เผชิญอยู่ จึงเป็นเหตุผลที่ดีที่เมืองอูลานบาตอร์ควรจะต้องเข้ามารับผิดชอบ และเสริมสร้างนโยบายด้านพลังงานของท้องถิ่นภายใต้กรอบนโยบายพลังงานของประเทศ นอกจากนี้ ข้อตกลงปารีสได้ให้ความสำคัญกับเมืองในการที่จะมีส่วนร่วมในนโยบายสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ ดังนั้นจึงมุ่งหวังว่าการศึกษาครั้งนี้จะมีส่วนช่วยให้เมืองอูลานบาตอร์มีการพัฒนานโยบายด้านพลังงานได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยในการจัดการกับความท้าทายที่มีอยู่อย่างเรื่องมลพิษทางอากาศซึ่งเป็นปัญหาระยะสั้น และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งเป็นปัญหาระยะยาว
“การศึกษาแผนแม่บทด้านพลังงานของเมืองอูลานบาตอร์” ถูกดำเนินการภายใต้กรอบการทำงานของโครงการบริหารทรัพยากรแบบบูรณาการของเมืองในเอเซียของ GIZ ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากกระทรวงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMZ) และดำเนินงานร่วมกับร่วมกับรัฐบาลเมืองอูลานบาตอร์ การศึกษานี้จัดทำโดย Fraunhofer Institute for Solar Energy Systems เมืองไฟรเบิร์ก ประเทศเยอรมนี