กองทุนภูมิอากาศสีเขียวสนับสนุนไทยกว่า 4 พันล้านบาทเดินหน้าปรับเปลี่ยนวิถีการปลูกข้าวรับมือภาวะโลกร้อน

กรุงเทพฯ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568 – ประเทศไทยเดินหน้าปฏิรูปภาคการปลูกข้าวด้วยเงินทุนสนับสนุนรวม 118 ล้านยูโร (ประมาณ 4.181 พันล้านบาท) ภายใต้โครงการเพิ่มศักยภาพการปลูกข้าวที่เท่าทันต่อภูมิอากาศ (Thai Rice: Strengthening Climate-Smart Rice Farming Project) มุ่งส่งเสริมศักยภาพเกษตรกรไทย 253,400 รายให้สามารถนำรูปแบบการปลูกข้าวที่เท่าทันต่อภูมิอากาศ

โครงการเพิ่มศักยภาพการปลูกข้าวที่เท่าทันต่อภูมิอากาศประสานความร่วมมือจากหลายภาคส่วน โดยได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนภูมิ อากาศสีเขียว กระทรวงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMZ) ผ่านโครงการ develoPPP และทุนสมทบจากพันธมิตรจากภาคเอกชนในระดับนานาชาติ ได้แก่ เอโบรฟู้ดส์ (Ebro Foods) มาร์ส ฟู้ด (Mars Food) โอแลม อะกริ (Olam Agri) และเป๊ปซี่โค (PepsiCo) นอกจากนี้ยังผนึกความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน เช่น กรมการข้าวและกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ การเกษตร (ธ.ก.ส.) สถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศ (IRRI) และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ)

วัตถุประสงค์ของโครงการฯ คือการปรับเปลี่ยนวิถีการปลูกข้าวในประเทศไทยไปสู่การปลูกข้าววิถีใหม่ผ่านการนำเทคโนโลยีทางการเกษตรที่ เท่าทันต่อภูมิอากาศ (Climate-Smart Agriculture) มาปรับใช้เพื่อยึดเป็นแนวทางในการปลูกข้าว โดยคาดการณ์ว่าแนวทางนี้จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพิ่มผลผลิตทางการเกษตร เพิ่มรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกร และส่งเสริมความเข้มแข็งของระบบนิเวศการตลาดในภาคการปลูกข้าวภายในระยะเวลาการดำเนินโครงการ 5 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2567 – 2571

โครงการฯ ยังมุ่งส่งเสริมให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวสามารถเข้าถึงและนำ 10 เทคโนโลยีีการเกษตรที่เท่าทันต่อภูมิอากาศมาปรับใช้กับการจัดการพื้นที่นาและพื้นที่เกษตรของตน ได้แก่ การจัดการน้ำระดับแปลงนา การปรับระดับพื้นที่นาด้วยระบบเลเซอร์ การจัดการน้ำ แบบเปียกสลับแห้ง การจัดการฟางและตอซัง การจัดการธาตุอาหารในนาข้าว การใช้พันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และสภาพภูมิอากาศ การหว่านหรือหยอดข้าวแห้ง การจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน ระบบการปลูกพืชที่มีข้าวเป็นพืชหลักและการใช้ข้อมูลพยากรณ์ อากาศสำหรับการเพาะปลูก เทคโนโลยีเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิต ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ยังเสริมศักยภาพในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้อย่างยั่งยืนผ่านการส่งเสริมการเกษตร ตลอดจนการเข้าถึงช่องทางการสนับสนุนทางการเงิน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งเกษตรกรรายย่อย ครัวเรือน ชุมชน และภาคส่วนการปลูกข้าวไทยในระยะยาว

งานเปิดตัวโครงการฯ จัดที่โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไท ภายใต้แนวคิด “Rice is More: More Vision, More Action, More People Benefitting” โดยเน้นส่งเสริมความร่วมมือและสร้างพลังขับเคลื่อนร่วมกัน เพื่อขยายแนวทางการประยุกต์ใช้การเกษตรที่เท่าทันต่อภูมิอากาศให้ครอบคลุมพื้นที่ปลูกข้าวหลักทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมงานจากภาคส่วนต่าง ๆ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนแนวคิด ผ่านการเสวนาเชิงนโยบาย รวมถึงโอกาสการลงทุนในภาคการผลิตข้าวของไทย เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในภาคการปลูกข้าวไทยได้มารวมตัวและเสริมสร้างความร่วมมืออันเป็นหนึ่งเดียวกัน กิจกรรมครั้งนี้ยังเป็นเวทีกำหนดวิสัยทัศน์และเป้าหมายของทุกภาคส่วน เพื่อวางแผนการดำเนินงานเชิงลึกในพื้นที่ 21 จังหวัดของโครงการ ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกข้าวหลักของประเทศไทย โดยมีผู้เข้าร่วมจากภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปลูกข้าว ไม่ว่าจะเป็นตัวแทนจากภาครัฐ ภาคเอกชน ตัวแทนเกษตรกร และสถาบันวิจัยรวมประมาณ 200 คน

ดร.แอ็นสท์ ไรเชิล เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย กล่าวเปิดงานพร้อมย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ “วันนี้ผมยินดีที่ได้เห็นรัฐบาลไทย องค์กรภาคีระหว่างประเทศ ภาคเอกชน และตัวแทนเกษตรกรได้มารวมตัวกันภายใต้วิสัยทัศน์เดียวกัน ไม่มีหน่วยงานใดที่จะขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงนี้ได้เพียงลำพัง การจะบรรลุเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่และนำประโยชน์มาสู่ทั้งผู้คนและสิ่งแวดล้อมได้จำเป็นต้องอาศัยแนวทางการแก้ปัญหาที่มาจากความร่วมมือ การแลกเปลี่ยนความรู้และความมุ่งมั่นที่จะทำตามเป้าหมายในระยะยาวร่วมกัน”

คุณอานนท์ นนทรีย์ รองอธิบดีกรมการข้าว กล่าวในช่วงปาฐกถาพิเศษถึงแนวคิด “Rice is More” ที่สะท้อนความมุ่งมั่นของโครงการในการยกระดับผลผลิตข้าวและคุณภาพชีวิตเกษตรกร สร้างความเข้มแข็งให้กับระบบนิเวศทางการตลาดของข้าวไทยว่า “Rice is More คือวิสัยทัศน์ของการทำให้ข้าวไทยก้าวไปข้างหน้ามากกว่าเดิม ข้าวไม่ได้เป็นเพียงแค่พืชเศรษฐกิจ แต่ยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืน เราต้องทำให้ข้าวไทยเป็น

ดร.ทีโม เมนนิเคน ผู้อำนวยการ GIZ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า “ความร่วมมือกับหน่วยงานภาคีทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศจะทำให้วิถีการปลูกข้าวที่เท่าทันต่อภูมิอากาศได้รับการยอมรับ และนำมาใช้เป็นแนวทางปฏิบัติหลักของภาคการปลูกข้าว เพื่อเพิ่มรายได้ให้ เกษตรกร ควบคู่ไปกับการป้องกันภาวะโลกร้อนในอนาคตต่อไป”

อัลบั้มภาพ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง