การเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อ Taxonomy ของประเทศไทย ในระยะที่ 2
วันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 – กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Taxonomy) ของประเทศไทย ระยะที่ 2 ผ่านช่องทางออนไลน์ ระหว่างวันที่ 5-16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567ประชาชนที่สนใจสามารถเข้าร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็นได้จนถึงวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2568 โดยสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ ที่นี่
มาตรฐาน Taxonomy เป็นเครื่องมือชี้แนะแนวทางการตัดสินใจการลงทุน และช่วยยกระดับการระดมเงินทุนเพื่อการเปลี่ยนผ่านการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และสร้างภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยกำหนดเกณฑ์ว่าการลงทุนแบบใดเป็นการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้ ในปี พ.ศ. 2566 Taxonomy ของประเทศไทยในระยะแรก ได้กำหนดเกณฑ์การลงทุนที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศในภาคพลังงานและภาคการขนส่ง สำหรับการรับฟังความคิดเห็น Taxonomy ในระยะที่ 2 ระหว่างวันที่ 5-16 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีประชาชนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้ารับฟังรวมทั้งสิ้นเกือบ 1,000 คนเพื่อทำความเข้าใจถึงหลักเกณฑ์สีเขียวสำหรับภาคส่วนต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- ภาคเกษตร: การเพาะปลูกอย่างยั่งยืน การจัดการป่าไม้ ปศุสัตว์และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
- ภาคอุตสาหกรรมการผลิต: การผลิตสารเคมี ปูนซีเมนต์ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ไฮโดรเจน ที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ รวมถึงกิจกรรมที่สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (เช่น แบตเตอรี่ หรือเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ)
- ภาคอาคารและอสังหาริมทรัพย์: การสร้างอาคารใหม่ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ และการบูรณะอาคารเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
- ภาคการจัดการของเสีย: การนำกลับมาใช้ใหม่ การจัดการน้ำเสีย และการเปลี่ยนขยะให้เป็นพลังงาน
ทั้งนี้การรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณชนเป็นขั้นตอนสุดท้ายก่อนที่จะมีสรุปการดำเนินการและเปิดตัวTaxonomy ในระยะที่ 2 ราวเดือนมีนาคม พ.ศ. 2568
การจัดทำ Taxonomy ที่ละเอียดครอบคลุมฉบับนี้แสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยดำเนินการตามแนวโน้มของโลกในการนำพากระแสเงินไปลงทุนในกิจกรรมที่ปล่อยคาร์บอนต่ำและส่งเสริมภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ จากข้อมูลเครือข่ายธนาคารและการเงินที่ยั่งยืน (Sustainable Banking and Finance Network: SBFN) ปัจจุบันเกือบ 50ประเทศทั่วโลก มีการจัดทำ Taxonomy อย่างไรก็ตาม แม้ Taxonomy เป็นเครื่องมือที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในการเปลี่ยนทิศทางการไหลของกระแสเงินและการลงทุน แต่การนำ Taxonomy ไปใช้ยังมีความล่าช้าในหลายประเทศเนื่องจากขีดความสามารถและความรู้ที่มีจำกัด กฎระเบียบข้อบังคับที่ยังคลุมเคลือ รวมถึงการเข้าถึงข้อมูล ล้วนเป็นอุปสรรคต่อการนำ Taxonomy ไปประยุกต์ใช้ ดังนั้นการบรรจุ Taxonomy ลงในร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. …. ถือเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนของประเทศไทยที่จะขับเคลื่อนการดำเนินการ ทั้งนี้ การสร้างทักษะและความเชี่ยวชาญของผู้ที่เกี่ยวข้อง ประกอบกับการพัฒนาเครื่องมือทางการเงินที่สอดคล้องกับเกณฑ์คาร์บอนต่ำและการมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ จะเป็นก้าวที่สำคัญเมื่อ Taxonomy ระยะที่ 2 มีการประกาศใช้
การพัฒนา Taxonomy ของประเทศไทย ในระยะที่ 2 นี้ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) บรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (IFC) และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย ผ่านโครงการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลและชายฝั่ง (CCMB) และร่วมพัฒนาโดย องค์กร CBI Det Norske Veritas (DNV) และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)
- ข้อมูลเพิ่มเติม Thailand Taxonomy: Thailand Taxonomy: มาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย
- ข้อมูลเพิ่มเติมโครงการ CCMB: โครงการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความหลากหลายชีวภาพทางทะเลและชายฝั่ง – Thai-German Cooperation