ไทยปรับปรุงแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้ครอบคลุมมิติทางเพศและการมีส่วนร่วมทางสังคม

กรุงเทพฯ, 31 มกราคม พ.ศ. 2568 – กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) ร่วมกับโครงการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความหลากหลายชีวภาพทางทะเลและชายฝั่ง (Climate, Coastal and Marine Biodiversity: CCMB) ดำเนินการโดยองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย ได้เริ่มต้นการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อการปรับปรุงแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. …. (Climate Change Master Plan) ครั้งที่ 1 ในหัวข้อ “การดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ครอบคลุมมิติทางเพศและการมีส่วนร่วมทางสังคม (Inclusive Climate Action)”
การประชุมจัดขึ้นเพื่อหารือและรับฟังมุมมองเชิงลึกจากผู้เชี่ยวชาญและผู้เข้าร่วมประชุมเกี่ยวกับความคืบหน้าในการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย รวมถึงปัญหา ความท้าทาย ช่องว่าง และความต้องการในการปรับปรุงยุทธศาสตร์และมาตรการระยะสั้นและระยะยาวภายใต้แผนแม่บทฯ เพื่อจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล และสนับสนุนเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติที่ต้องการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน สังคมคาร์บอนต่ำ และเพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถฟื้นตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นได้ (Inclusive Climate Resilience)

การบรรยายโดยที่ปรึกษาในหัวข้อ “การดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย: ผลกระทบที่แตกต่างกับการมีส่วนร่วมทางสังคม“
เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบค่อนข้างสูงต่อกลุ่มคนผู้ที่มีความเปราะบางทางสังคม เช่น ผู้ที่มีรายได้น้อย เด็ก ผู้หญิง ฯลฯ มากกว่ากลุ่มอื่นๆ อย่างมาก ดังนั้นการประชุมนี้จึงเน้นการอภิปรายกลุ่มย่อยเพื่อร่วมกันเสนอแนวทางที่จะทำให้ยุทธศาสตร์และมาตรการด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในแผนแม่บทฯ ครอบคลุมมิติทางเพศและการมีส่วนร่วมทางสังคม สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง และมีมาตรการคุ้มครองกลุ่มเปราะบางที่จะได้รับผลกระทบด้านสภาพภูมิอากาศมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ โดยกิจกรรมได้รับข้อเสนอแนะที่ประโยชน์เป็นอย่างมากจากผู้เข้าร่วมจากภาคส่วนต่าง ๆ
ในมิติด้านการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศ มีการเน้นย้ำถึงการใช้วิธีที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง และการพัฒนาเชิงพื้นที่ (People-centered and Area-based Approach) ให้มากขึ้นในการกำหนดมาตรการในแผนแม่บทฯ และเพิ่มการทำงานข้ามภาคส่วน (Cross-sectoral Collaboration) เนื่องจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อผู้คนในหลายภาคส่วน รวมถึงมีการเสนอให้เร่งพัฒนาข้อมูลด้านผลกระทบของสภาพภูมิอากาศที่สามารถเข้าถึงได้และนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง โดยเฉพาะข้อมูลการคาดการณ์สภาพภูมิอากาศในระดับชุมชน

ผู้แทนจากกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย และที่ปรึกษาโครงการ ดร.บุษกร สุริยสาร และ ดร.ภาวิญญ์ เถลิงศรี
ในมิติด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผู้เข้าร่วมได้เน้นถึงความจำเป็นของการพัฒนาโครงสร้างนโยบายและมาตรการเชิงรูปธรรมเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม (Just Transition) เช่น การยกเลิกการผูกขาดด้านพลังงาน รวมถึงการติดตามและประเมินผล (M&E) ของนโยบายด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการเผยแพร่ข้อมูลที่สามารถเข้าถึงได้ต่อสาธารณะ
นอกจากนี้ ยังได้มีการเสนอแนวทางเชิงยุทธศาสตร์ในมิติทางเพศและสังคมที่สามารถนำไปปรับใช้ได้ทั้งในมิติด้านการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศ และมิติด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในแผนแม่บทฯ ได้แก่ การเพิ่มการมีส่วนร่วมในกระบวนการกำหนดนโยบาย โดยการเพิ่มความหลากหลายและความยืดหยุ่นของรูปแบบการมีส่วนร่วมให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกัน รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ และยังได้มีการหารือถึงอุปสรรคทางกฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่ยังเป็นข้อจำกัดต่อการมีส่วนร่วมอย่างครอบคลุม รวมถึงการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมและเท่าเทียม ตลอดจนแนวทางการจัดหาเงินทุนด้านสภาพภูมิอากาศที่เป็นธรรม

กิจกรรมกลุ่ม การกำหนดกลยุทธ์และมาตรการการลดก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่สร้างการมีส่วนร่วมของสังคมอย่างครอบคลุม และลงมือปฏิบัติจริงได้
แผนการดำเนินงานของการปรับปรุงแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. …. จะมีการจัดประชุมหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอีกอย่างน้อย 3 ครั้ง ในหัวข้อดังต่อไปนี้:
- การเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Finance)
- การปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศ (Climate Change Adaptation)
- การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Climate Change Mitigation)
นอกจากนี้ จะมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (Public Hearing) เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมแสดงความคิดเห็นและเสนอแนะต่อแผนแม่บทนี้ โครงการ CCMB จะสนับสนุน สส. ในการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลจากการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ เพื่อปรับปรุงแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2558 – 2593 ในด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศ และปัจจัยสนับสนุนต่อการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ เช่น การเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการมีส่วนร่วมของสังคม โดยครอบคลุมประเด็นด้านประสิทธิภาพการดำเนินงาน ความร่วมมือระหว่างภาคส่วน ความตระหนักรู้ ความต้องการทางการเงิน และการพัฒนาศักยภาพบุคลากร เพื่อนำไปจัดทำเป้าหมายและมาตรการภายใต้แผนแม่บทฯ ต่อไป
ข้อมูลเพิ่มเติมโครงการ CCMB: https://www.thai-german-cooperation.info/th/climate-coastal-and-marine-biodiversity-ccmb/