ภาพที่ 1: แผนงานความร่วมมือไทย-เยอรมันด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (TGCP) สนับสนุน สผ. ในฐานะหน่วยประสานงานกลางด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศในการพัฒนาระบบ MRV ซึ่งรวมถึงการจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกและการรายงานผลการดำเนินงานในระดับนานาชาติ โดยจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องเริ่มจากการประชุมเปิดตัวโครงการเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน และการประชุมรับฟังความคิดเห็นกลุ่มย่อยตามรายสาขาต่างๆ โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศให้คำแนะนำตลอดการดำเนินกิจกรรม (รูปภาพโดยอนุสรา แท่นพิทักษ์)
ประเทศไทยอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบการตรวจวัด รายงานและทวนสอบ สำหรับการรายงานข้อมูลด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) มีบทบาทหลักในการดำเนินภารกิจนี้ ร่วมกับกระทรวงและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ด้วยการสนับสนุนจากองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ)
ตามที่เป้าหมายของประเทศ หรือที่เรียกว่า “การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด” กำหนดให้ประเทศไทยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 20-25 จากปริมาณการปล่อยก๊าซฯ ในกรณีปกติในปี ค.ศ. 2030 ในภาคพลังงาน ขนส่ง ของเสีย และอุตสาหกรรม และเพื่อเป็นการติดตามความก้าวหน้าของการดำเนินนโยบายที่เกี่ยวข้องต่างๆ ทั้งในด้านการลดก๊าซเรือนกระจกและด้านการปรับตัวจึงมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาระบบการตรวจวัด รายงานและทวนสอบในเชิงสถาบันที่มีประสิทธิภาพ
โดยหลักการแล้ว ประเทศไทยมีระบบการตรวจวัด รายงานและทวนสอบการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ อยู่แล้ว ซึ่งข้อมูลที่เก็บรวบรวมได้มีการจัดทำเป็นรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ศักยภาพในการลดการปล่อยและกลไกสนับสนุนที่จำเป็นต่อการดำเนินงาน อย่างไรก็ตาม เพื่อตอบสนองต่อข้อกำหนดในการรายงานตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และGIZ จึงดำเนินงานร่วมกันในการพัฒนาและปรับปรุงระบบการตรวจวัด รายงานและทวนสอบดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
แผนงานความร่วมมือไทย-เยอรมันด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (TGCP) ให้การสนับสนุนด้านเทคนิคและผู้เชี่ยวชาญในการจัดทำระบบการตรวจวัด รายงานและทวนสอบที่มีประสิทธิภาพตามข้อกำหนดภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) โดยมุ่งเน้นเรื่องคุณภาพของข้อมูล การจำแนกบทบาทและช่องทางการรายงานข้อมูลที่ชัดเจน รวมถึงการใช้วิธีการที่เชื่อถือได้ในการติดตาม
เพื่อที่จะบรรลุการดำเนินงานดังกล่าวจึงได้มีการจัดประชุมเพื่อเปิดตัวโครงการต่อหน่วยงานและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานในทุกภาคส่วน และการประชุมกลุ่มย่อยในสาขาการเกษตร พลังงาน การขนส่ง การจัดการของเสียและการจัดการน้ำ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหาช่องว่าง ปัญหาอุปสรรคและแนวทางการจัดการ รวมถึงการเสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับการจัดทำข้อมูลฐาน (Baseline) และหลักการการประกัน/การควบคุมคุณภาพ (QA/QC) ซึ่งผู้เข้าร่วมการประชุมกว่า 40 คนได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อการพัฒนาและปรับปรุงระบบ โดยได้รับความรู้และคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ ซึ่งภารกิจในการจัดกิจกรรมเปิดตัวและรับฟังความคิดเห็นกลุ่มย่อยเพื่อปรับปรุงการดำเนินงานด้าน MRV ของประเทศสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี พร้อมกับการปิดท้ายด้วยการจัดฝึกอบรมการจัดทำข้อมูลฐาน (Baseline) และการประกัน/การควบคุมคุณภาพ (QA/QC) ในระหว่างวันที่ 14 – 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561
ดร.ณัฏฐนิช อัศวภูษิตกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมจาก สผ. ได้กล่าวถึงความสำคัญของการพัฒนาและปรับปรุงการดำเนินการอย่างเป็นขั้นเป็นตอนในการกำหนดนโยบายและการดำเนินงานตามการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด และเน้นย้ำถึงความสำคัญของผู้ดำเนินงานในภาคส่วนต่างๆ ที่จะมีส่วนช่วยกำหนดทิศทางและร่วมกันดำเนินงานในกระบวนการนี้
ดร.อังคณา เฉลิมพงษ์ ที่ปรึกษาอาวุโสจาก GIZ กล่าวถึงลักษณะการดำเนินงานในด้านการติดตามประเมินผล (M&E) และการตรวจวัด รายงานและทวนสอบ (MRV) ที่มีความคาบเกี่ยวระหว่างหน่วยงาน (cross-cutting) ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐในการปรับปรุงคุณภาพของข้อมูลภายในภาคส่วนหลักต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานด้านการลดก๊าซเรือนกระจก ทั้งนี้ GIZ มีความยินดีที่จะสนับสนุน สผ. ในการดำเนินงานร่วมกับภาคส่วนและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการรายงานข้อมูลการลดก๊าซเรือนกระจกตามกรอบอนุสัญญา UNFCCC
นอกจากการคำนวณและการรายงานผลแล้ว ระบบ MRV ยังช่วยให้ผู้กำหนดนโยบายและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสามารถทราบได้ว่ามาตรการที่ดำเนินการอยู่นั้นมีประสิทธิผลเพียงพอหรือไม่ และจำเป็นที่จะต้องมีการดำเนินการในด้านใดเพิ่มเติมเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้
ทีมงานภายใต้แผนงาน TGCP มุ่งมั่นดำเนินงานเพื่อให้แน่ใจได้ว่าประเทศไทยจะมีระบบการตรวจวัด รายงานและทวนสอบที่เพียงพอและเหมาะสมเพื่อที่จะดำเนินการให้ได้ตามข้อกำหนดการรายงานภายใต้กรอบอนุสัญญา UNFCC ภายในปีพ.ศ. 2564