ไทยพร้อมขับเคลื่อนนโยบายเพื่อยกระดับภาคการผลิตข้าวสู่ความยั่งยืนแบบองค์รวม
ภาพหมู่ผู้เข้าร่วมประชุม
- โครงการ ISRL จัดประชุมเชิงปฏิบัติการให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้เข้าใจแนวทางในการปฏิบัติงานและแนวทางขับเคลื่อนกิจกรรมทั้งในระดับประเทศ ระดับจังหวัด และในพื้นที่ชุมชน
- เครือข่ายภาคการผลิตข้าวในประเทศไทยทั้งภาครัฐ เอกชน และผู้แทนเกษตรกรและชุมชนได้เจาะลึกในรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการ ISRL และพูดคุยถึงการทำงานเชื่อมโยงกันให้มีประสิทธิภาพ
- โครงการ ISRL เป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมกันขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านของภาคการผลิตข้าวไทยและภาคการเกษตรให้มีศักยภาพ พร้อมเพิ่มการผลิตและรายได้ครัวเรือน และช่วยฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม
กรุงเทพฯ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 – ที่เวทีประชุมเชิงปฏิบัติการโครงการระบบการผลิตข้าวยั่งยืนแบบองค์รวม (Inclusive Sustainable Rice Landscapes หรือ ISRL) ซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรมเซ็นทารา ลาดพร้าว มีผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ นำโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกอบด้วยงานหลัก ได้แก่ กรมการข้าว กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมการเกษตร และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมป่าไม้ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งภาครัฐ เอกชน ผู้แทนเกษตรกรและชุมชน และองค์กรระหว่างประเทศ ทั้งหมด 70 คนเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ซึ่งจัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้เข้าใจแนวทางในการปฏิบัติงานและแนวทางขับเคลื่อนกิจกรรมทั้งในระดับประเทศ ระดับจังหวัด และในพื้นที่ชุมชน
การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้เป็นเวทีให้เครือข่ายภาคการผลิตข้าวในประเทศไทยทั้งภาครัฐ เอกชน และผู้แทนเกษตรกรและชุมชนได้เจาะลึกรายละเอียดโครงการ ISRL ทั้งกลุ่มเป้าหมาย ระเบียบวิธีปฏิบัติ และยังเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมอภิปรายความคิดเห็น และถกประเด็นเรื่องความสำคัญของการทำงานเชื่อมโยงกันระหว่างกระทรวง กรมและหน่วยงานภาครัฐ เอกชนและชุมชนท้องถิ่น เพื่อให้การขับเคลื่อนงานมีประสิทธิภาพ เป็นระบบ และมีผลลัพธ์อย่างยั่งยืน
ดร.ชิษณุชา บุดดาบุญ รองอธิบดีกรมการข้าว
ดร.ชิษณุชา บุดดาบุญ รองอธิบดีกรมการข้าว กล่าวเปิดงานประชุมเชิงปฏิบัติการโครงการ ISRL ว่า “กรมการข้าวตระหนักถึงความท้าทายที่เกษตรกรไทยกำลังเผชิญ ทั้งภาวะฝนแล้ง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรง ผลผลิตที่ลดลงสวนทางกับต้นทุนทางการเกษตรที่เพิ่มขึ้น ประเด็นเหล่านี้ล้วนเป็นเหตุผลที่ภาคเกษตรของไทย โดยเฉพาะภาคการผลิตข้าวจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบ กรมการข้าวในฐานะหน่วยงานภาครัฐมีบทบาทโดยตรงและให้ความสำคัญกับการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ พร้อมส่งเสริมความร่วมมือเพื่อการศึกษาวิจัยและการพัฒนาเพื่อส่งเสริมเกษตรกรไทยในฐานะผู้ผลิตต้นน้ำในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพสิ่งแวดล้อมและภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป และยังคงมีรายได้ที่เพียงพอในการดำรงชีวิตของสมาชิกในครัวเรือน อีกทั้งมีบทบาทสำคัญในการช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการปลูกข้าวได้เช่นกัน”
รองอธิบดีกรมการข้าวกล่าวเพิ่มเติมว่า ช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา กรมการข้าวได้ประกาศรับรองพันธุ์ข้าวใหม่ทั้งหมด 10 สายพันธุ์ที่มีคุณภาพดีขึ้นและเหมาะที่ปลูกในทุกพื้นที่ของไทย ซึ่งข้าวแต่ละประเภทจะมีจุดเด่นที่แตกต่างกัน เช่น ทนทานต่อภัยแล้งและน้ำท่วม ทำให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนจากการปลูกข้าว ลดการใช้ปุ๋ย ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงเพิ่มรายได้และเสริมศักยภาพการแข่งขันของผลผลิตข้าวไทยในตลาดต่างประเทศ
คุณสริดา คณานุศิษย์ ผู้อำนวยการโครงการ GIZ ประจำประเทศไทย ในช่วงกิจกรรมกลุ่ม
ประเทศไทยเป็นผู้นำในการผลิตและส่งออกข้าวของโลก อย่างไรก็ตาม การผลิตข้าวที่เพิ่มขึ้นในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมานั้นไม่ได้มีแนวทางการบริหารจัดการพื้นที่อย่างยั่งยืนจึงส่งผลให้สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงการลดลงของพื้นที่ป่าต้นน้ำ สัตว์ป่า พันธุ์พืช และความหลากหลายทางชีวภาพ โดยการขยายตัวของเกษตรกรรม การเพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยว และการขยายพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจ โดยเฉพาะพื้นที่ต้นน้ำ ล้วนมีส่วนทำให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่า สัตว์ป่าไร้ที่อยู่อาศัย และขาดการเชื่อมต่อกันภายในพื้นที่คุ้มครอง
ดร.นานา คึนเคล ผู้อำนวยการและผู้ประสานงานกลุ่มเกษตรและอาหาร GIZ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า “โครงการ ISRL เป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องสามารถทำงานร่วมกันขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านของภาคการผลิตข้าวไทยและภาคการเกษตรให้มีศักยภาพ เพิ่มขีดความสามารถในการผลิตและรายได้ครัวเรือน และยังช่วยฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อมของพื้นที่ต่อไปในระยะยาว”
กิจกรรมกลุ่มของการอบรมเชิงปฏิบัติการหนึ่งวัน
โครงการระบบการผลิตข้าวที่ยั่งยืนแบบองค์รวม หรือ ISRL เป็นโครงการต่อยอดจากความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน กรมการข้าว และบริษัทโอแลมอกริ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 โครงการ ISRL ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMZ) และโครงการ develoPPP โดยได้รับทุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (Global Environment Fund หรือ GEF) ผ่านโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme หรือ UNEP) และดำเนินการโดยองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อปรับเปลี่ยนห่วงโซ่คุณค่าข้าวไทยและเกษตรกรรมให้เกิดความยั่งยืนผ่านแนวทางการจัดการภูมินิเวศแบบบูรณาการร่วมกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมใน 2 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ จังหวัดเชียงรายและจังหวัดอุบลราชธานี คาดว่าจะมีเกษตรกรในพื้นที่มากกว่า 45,000 คนเข้าร่วมเป็นสมาชิก โครงการ ISRL มีแผนดำเนินกิจกรรมทั้งในระดับส่วนกลางและระดับพื้นที่ เพื่อสร้างการเรียนรู้แนวทางการจัดการพื้นที่เกษตรรวมทั้งพื้นที่ป่าไม้ราวหนึ่งล้านไร่ทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ นำไปสู่การปฏิบัติจริงเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและก๊าซมลภาวะจากภาคการเกษตรอย่างเป็นระบบภายในปี พ.ศ. 2570
กวิตา ชาร์มา ผู้ประสานงานโครงการด้านความหลากหลายทางชีวภาพและความเสื่อมโทรมของพื้นที่ดินในภูมิภาคเอเชีย UNEP กล่าวว่า “การประชุมครั้งนี้เป็นโอกาสดีที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะได้แบ่งปันแนวคิดและสร้างความร่วมมือเพื่อเตรียมความพร้อมในการขับเคลื่อนภาคการผลิตข้าวไทยไปสู่เป้าหมายการเปลี่ยนผ่านเพื่อให้การเกษตรและอาหารมีความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างเป็นระบบ”
เมื่อเสร็จสิ้นการประชุมเครือข่ายภาคการผลิตข้าวในประเทศไทยทั้งภาครัฐ เอกชน และผู้แทนเกษตรกรและชุมชน ต่างเห็นพ้องในวิสัยทัศน์ร่วมกันในการส่งเสริมและขับเคลื่อนนโยบายระดับชาติเพื่อยกระดับการปลูกข้าวและผลผลิตภาคเกษตรอื่น ๆ ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ช่วยฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศของประเทศในภาพรวม และมีการประชุมเตรียมความพร้อมในการเปิดตัวโครงการในระดับจังหวัดที่จังหวัดเชียงรายและอุบลราชธานีในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาด้วย
ดร.นานา คึนเคล
ผู้อำนวยการและผู้ประสานงานกลุ่มเกษตรและอาหาร
อีเมล: nana.kuenkel(at)giz.de