ไทยและโครงการ Urban-Act ร่วมแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศที่งาน WUF12

Empowering Climate-Conscious Cities หนึ่งในกิจกรรมเครือข่ายที่จัดโดยโครงการ Urban-Act ในงาน WUF12
- การประชุมเพื่อการพัฒนาเมืองที่ใหญ่ที่สุดในโลกปิดฉากลงด้วย “Cairo Call to Action” หลังการหารืออย่างเข้มข้นเกี่ยวกับวิกฤตที่อยู่อาศัยระดับโลกและการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อการพัฒนาเมือง
การประชุม World Urban Forum ครั้งที่ 12 (WUF12) ซึ่งจัดระหว่างวันที่ 4–8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 ณ กรุงไคโร ประเทศอียิปต์ ภายใต้แนวคิด ‘ทุกอย่างเริ่มต้นที่บ้าน: การดำเนินการในท้องถิ่นเพื่อเมืองและชุมชนที่ยั่งยืน (It All Starts at Home: Local actions for sustainable cities and communities)’ โดยโครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Settlements Programme: UN-Habitat) ร่วมกับรัฐบาลสาธารณรัฐอาหรับแห่งอียิปต์ การประชุมครั้งนี้ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมกว่า 24,000 คน จาก 182 ประเทศ นับเป็นการประชุมที่มีผู้เข้าร่วมมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยมีผู้ร่วมประชุม ณ ที่จัดงานสูงถึง 92% ของผู้เข้าร่วมทั้งหมด
WUF12 เป็นเวทีสำคัญสำหรับแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ด้านการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน รวมถึงส่งเสริมการดำเนินงานตาม วาระการพัฒนาเมืองใหม่ (New Urban Agenda: NUA) โดยตลอดงานผู้นำและผู้เชี่ยวชาญจากหลายภาคส่วนได้ร่วมอภิปรายและเสนอแนวทางเพื่อพัฒนาเมืองที่ยั่งยืนและเท่าเทียม
ตลอด 5 วันของการประชุมได้มีกิจกรรมหลากหลาย เช่น วงเสวนา การอบรมเชิงปฏิบัติการ และการอภิปรายโดยผู้เชี่ยวชาญ โดยมีผู้บรรยายรวม 407 คน ซึ่งรวมถึงประมุขแห่งรัฐ 4 คน รัฐมนตรี 60 คน และนายกเทศมนตรี 96 คน โดยเวทีหารือระดับสูงนี้ได้ย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือในหลายระดับเพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนสำหรับเมืองทั่วโลก
การประชุมครั้งนี้เปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนเพื่อแก้ปัญหาที่ท้าทายต่างๆ ในเขตเมือง เช่น วิกฤตสภาพภูมิอากาศ การจัดหาเงินทุน และการเข้าถึงด้านการเงินในระดับท้องถิ่น รวมถึงแนวทางการจัดการที่อยู่อาศัยสำหรับอนาคต โดยให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน และให้ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เป็นศูนย์กลางของการพัฒนาเมือง
ไทยร่วมสร้างเมืองที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและยั่งยืนผ่านการพัฒนาในระดับท้องถิ่น
คุณซาบีดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวในที่ประชุม WUF12 โดยเน้นย้ำถึงแนวทางเชิงรุกของประเทศไทยในการเสริมสร้างความยืดหยุ่นของเมืองผ่านการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงว่า “ประเทศไทยกำลังเร่งพัฒนาเมืองโดยการวางผังเมืองในทุกระดับ รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพ และให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น”

คณะผู้แทนไทย นำโดยคุณซาบีดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (ภาพโดย UN-Habitat สำนักงานกรุงเทพมหานคร)
ปัจจุบันกระทรวงมหาดไทยได้ร่วมมือกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย และกรมโยธาธิการและผังเมือง ดำเนินโครงการพัฒนาเมืองแบบองค์รวมเพื่อส่งเสริมการเติบโตที่มีคาร์บอนต่ำและการเป็นเมืองที่ฟื้นตัวได้ (Integrated Urban Climate Action for Low-Carbon & Resilient Cities: Urban-Act) ซึ่งเป็นโครงการระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการเติบโตที่ปล่อยคาร์บอนต่ำและสามารถฟื้นตัวได้จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของเมือง โดยจังหวัดเชียงใหม่ ขอนแก่น และภูเก็ตได้รับเลือกให้เป็นพื้นที่นำร่องในประเทศไทย เพื่อเป็นตัวอย่างของแนวปฏิบัติที่ดี ซึ่งสามารถขยายผลและนำไปปรับใช้ในชุมชนท้องถิ่นอื่นๆ ได้ต่อไป

คณะผู้แทนไทย (จากซ้ายไปขวา) คุณสุรพงษ์ คำตานิตย์ (หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการผังเมือง กรมโยธาธิการและผังเมือง (ยผ.) ขอนแก่น คุณอัญชลี ตันวาณิช (ที่ปรึกษาด้านการผังเมือง) คุณชุติมา จงภักดี (GIZ ประจำประเทศไทย) คุณอรรครัฐ ขุนวิทยา (วิศวกรโยธาชำนาญการพิเศษ ยผ.) คุณมณฑ์หทัย รัตนนุพงศ์ (ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย) คุณภาษิต ชนะบุญ (รองปลัดเทศบาลนครขอนแก่น) คุณนญา พราหมหันต์ (นักวิเทศน์สัมพันธ์ กระทรวงมหาดไทย) คุณมณีวรรณ ชนะไพ (ผู้เชี่ยวชาญด้านวิเคราะห์และประเมินผล ยผ.) คุณอิสรีย์ จิตรปฏิมา (GIZ ประจำประเทศไทย) คุณจันทิรา เกื้อด้วง (นักผังเมือง ยผ. เชียงใหม่)
โครงการ Urban-Act มุ่งลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศผ่านกลไกเชิงนโยบายในระดับท้องถิ่น โดยใช้เมืองนำร่องของโครงการเป็นตัวอย่างในการพัฒนา สำหรับจังหวัดเชียงใหม่ โครงการฯ เน้นการวางแผนการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งที่ยั่งยืน และสำหรับจังหวัดขอนแก่นจะเน้นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวและการบริหารจัดการน้ำ โดยบูรณาการแนวทางที่อิงธรรมชาติ รวมถึงการพิจารณาแนวคิดเมืองฟองน้ำ (Sponge City) ส่วนจังหวัดภูเก็ตจะเน้นเสริมโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถรับมือกับสภาพภูมิอากาศ โดยให้ความสำคัญกับภูมิทัศน์ธรรมชาติและการปรับตัวต่อความเสี่ยงทางภูมิอากาศที่นำโดยท้องถิ่น
ความพยายามเหล่านี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน พร้อมกับรักษาสมดุลระหว่างธรรมชาติกับสังคมภายในเมืองท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เพื่ออนาคตของคนรุ่นต่อไป
การฝึกอบรม Urban-Act ระดับภูมิภาค ช่วยพัฒนาโครงการสภาพภูมิอากาศของเมืองในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
ระหว่างงานประชุม WUF12 โครงการ Urban-Act ได้จัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการระดับภูมิภาคหัวข้อ “การดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศแบบบูรณาการเพื่อเมืองคาร์บอนต่ำและพร้อมรับมือสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของซีรีส์การฝึกอบรมระดับภูมิภาคของโครงการในปี พ.ศ. 2567 (Integrated Climate Action for Low-Carbon and Resilient Cities in the Asia-Pacific Regional Training Synthesis 2024)

การฝึกอบรมระดับภูมิภาคหัวข้อ “การดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศแบบบูรณาการเพื่อเมืองคาร์บอนต่ำและพร้อมรับมือสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก”
การอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้มุ่งพัฒนาโครงการด้านสภาพภูมิอากาศที่มีศักยภาพในการดึงดูดการลงทุนสำหรับการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน ผู้เข้าร่วมอบรมได้ปรับปรุงข้อเสนอโครงการด้านสภาพภูมิอากาศของเมืองที่ได้เรียนรู้และจัดทำในการอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งที่ผ่านมา พร้อมทั้งได้รับคำแนะนำจากคณะผู้เชี่ยวชาญด้านเงินทุนที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับนานาชาติ

คณะผู้แทนจากประเทศไทยนำเสนอโครงการ
คณะผู้แทนจากประเทศไทย ร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมือง และตัวแทนจาก 3 เมืองนำร่อง ได้นำเสนอ 2 โครงการสำคัญ ได้แก่ “เครือข่ายการอพยพและขนส่งที่ยืดหยุ่นต่ออุทกภัยในเชียงใหม่” และ “แนวคิดเมืองฟองน้ำเพื่อการจัดการน้ำในเมืองขอนแก่น” พร้อมทั้งแบ่งปันข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
Urban-Act เสนอแนวทางใหม่เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ตลอด 5 วันของการประชุม WUF12 โครงการ Urban-Act โดย GIZ ได้ร่วมมือกับพันธมิตรและผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเมือง จัด 12 เสวนาย่อย โดยเน้นไปที่การวางผังเมืองที่คำนึงถึงสภาพภูมิอากาศและการเงินเพื่อสภาพภูมิอากาศ เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้แลกเปลี่ยนมุมมองกับผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบและพัฒนาเมือง ร่วมพูดคุยเชิงลึก และสร้างเครือข่ายกับผู้ที่สนใจในประเด็นเมืองที่ยั่งยืน


วงเสวนาโดยผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน (จากซ้ายไปขวา): คุณโอมาร์ ซิดดิก ผู้เชี่ยวชาญจาก ESCAP และผู้ดำเนินการเสวนา คุณแมริเก ฟาน สตาเดน ผู้อำนวยการ ICLEI – รัฐบาลท้องถิ่นเพื่อความยั่งยืน คุณมาร์โกต์ เดอ กรุต แวน เอ็มเบนเดน ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินสภาพภูมิอากาศในเมือง คุณเมลิสซ่า เคอริม ผู้นำการมีส่วนร่วมในภูมิภาคแอฟริกา ความร่วมมือ GCoM Gap Fund และ ดร.อเล็กซ์อี ทรันเดิล รองผู้อำนวยการ Melbourne Centre for Cities
หนึ่งในวงเสวนาที่มีชื่อว่า “Empowering Climate-Conscious Cities: Urban Planning Solutions from the Global South” จัดโดยโครงการที่ทำงานด้านเมืองของ GIZ เช่น โครงการ Urban-Act, CitiesAdapt, ANDUS และ Cidade ร่วมกับองค์การเมืองและรัฐบาลท้องถิ่นแห่งเอเชียแปซิฟิก (United Cities and Local Governments Asia-Pacific: UCLG ASPAC) โดยให้ความสำคัญกับการนำเสนอแนวทางการวางผังเมืองที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ

กิจกรรมเครือข่าย Climate Conscious session เข้าร่วมโดย (จากซ้ายไปขวา) คุณมาร์เลนา คีฟล์ (Urban-Act, GIZ ประจำประเทศไทย) คุณไฮน์ริช กูเดนุส (Urban-Act GIZ, ประจำประเทศไทย) ดร.เบอร์นาดีอา อีราวาตี จันดราดิวี (เลขาธิการ UCLG ASPAC) คุณเอลซิโอ บาติสตา (รองนายกเทศมนตรี เมืองฟอร์ตาเลซา บราซิล) คุณโรเวนา ที. ซาพันตา (ผู้ประสานงานวางผังเมืองและพัฒนาชุมชน เมืองแอนติโปโล ฟิลิปปินส์) คุณโซมา บิสวาส (Urban-Act, GIZ ประจำประเทศอินเดีย) คุณราวี คูมาร์ (Urban-Act, GIZ ประจำประเทศอินเดีย) คุณไซด์ ชุค ยัม (หัวหน้าฝ่ายวางแผนและระบบสารสนเทศ เมืองเมรีดา เม็กซิโก) คุณเบเนดิโต โครอบา (นายกเทศมนตรี เมืองอิตาเปกูรู-มีริม บราซิล)
การแลกเปลี่ยนระหว่างเมืองครั้งนี้ได้ชูแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดจากเมืองต่างๆ เช่น คออิมบาทอร์ (อินเดีย) อันตีโปโลซิตี (ฟิลิปปินส์) เมรีดา (เม็กซิโก) ฟอร์ตาเลซา (บราซิล) และอิตาเปกูรู-มีริม (บราซิล)
ผู้นำเมืองแต่ละแห่งได้แบ่งปันกลยุทธ์ที่เป็นรูปธรรมในการผนวกข้อพิจารณาด้านสภาพภูมิอากาศเข้ากับการวางผังเมือง พร้อมทั้งคำนึงถึงความละเอียดอ่อนทางเพศและผู้ด้อยโอกาส การอภิปรายช่วยส่งเสริมความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนความรู้ ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างเมืองที่ยั่งยืนต่อไป

กิจกรรมเครือข่าย Empowering Climate-conscious Cities ช่วงการประชุมหารือประเด็น “การบูรณาการการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศในงานวางผังเมือง”
ด้วยรูปแบบกิจกรรมที่เน้นการสร้างเครือข่าย การเสวนานี้ได้เชื่อมโยงตัวแทนจากเมืองต่างๆ รวมถึงผู้ที่มีความสนใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และผู้เข้าร่วมใหม่ เพื่อปูทางสู่ความร่วมมือและการเรียนรู้ร่วมกัน
ความพยายามระดับโลกสู่เมืองที่ยั่งยืน
เมื่อเมืองต่างๆ เผชิญกับความท้าทายที่เพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการขยายตัวของเมือง การอภิปรายในงาน WUF12 ได้ทำให้เกิดพันธสัญญาที่สำคัญที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริงเพื่อสร้างเมืองที่มีความหยืดหยุ่นและเป็นธรรม หนึ่งในผลลัพธ์สำคัญของการประชุมครั้งนี้คือ การรับรองคำประกาศไคโร (Cairo Call to Action) ซึ่งเป็นผลลัพธ์สำคัญของการประชุมครั้งนี้ เป็นการร่วมกันให้คำมั่นที่จะดำเนินการอย่างเร่งด่วนในการแก้ไขวิกฤตที่อยู่อาศัยทั่วโลก รวมถึงการใช้การดำเนินการในระดับท้องถิ่นเพื่อบรรลุเป้าหมายและเป้าประสงค์ในระดับโลก ยืนยันถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนผ่านวาระใหม่แห่งการพัฒนาเมือง (New Urban Agenda) วาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 (2030 Agenda for Sustainable Development) และข้อตกลงเพื่ออนาคต (Pact for the Future) ซึ่งเป็นเอกสารข้อตกลงร่วมระหว่างรัฐบาลที่กำหนดเส้นทางไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและรับมือกับความท้าทายและโอกาสใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ความพยายามเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลท้องถิ่นมีบทบาทสำคัญในการจัดการกับความท้าทายด้านมนุษยธรรม และได้ระบุความท้าทายที่สำคัญ 10 ลำดับ เช่น การแก้ไขวิกฤตที่อยู่อาศัย การส่งเสริมการวางแผนที่ครอบคลุม การสร้างความเท่าเทียม และการยกระดับการดำเนินงานในระดับท้องถิ่น
นอกจากนี้ UN-Habitat ยังได้เปิดตัว รายงานเมืองโลก 2024: เมืองและการรับมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(World Cities Report 2024) ภายในงานประชุมอีกด้วย
ข้อมูลโครงการ Urban-Act
โครงการพัฒนาเมืองแบบองค์รวมเพื่อส่งเสริมการเติบโตแบบคาร์บอนต่ำ และการเป็นเมืองที่ฟื้นตัวได้ (Urban-Act) เป็นโครงการในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้รับสนับสนุนงบประมาณจากแผนงานปกป้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับสากล (IKI) โดยกระทรวงเศรษฐกิจและการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMWK) มีระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2565 ถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2570 มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงไปสู่การพัฒนาเมืองแบบคาร์บอนต่ำและฟื้นตัวได้ รวมทั้งมีส่วนร่วมในการดำเนินการตามเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับชาติและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ดำเนินการใน 5 ประเทศ ได้แก่ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย หน่วยงานดำเนินงานระดับภูมิภาค ประกอบด้วย องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) องค์การเมืองและรัฐบาลท้องถิ่นแห่งเอเชียแปซิฟิก (UCLG ASPAC) มหาวิทยาลัยชตุทการ์ท และมหาวิทยาลัยดอร์ทมุนท์ ประเทศเยอรมนี โดยมีสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย (สป.มท.) กระทรวงมหาดไทย เป็นหน่วยงานร่วมดำเนินงานหลักในประเทศไทย มีระยะเวลาดำเนินโครงการในประเทศไทยตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2565 ถึงเดือนกันยายน พ.ศ. 2569
ไฮน์ริช กูเดนุส
ผู้อำนวยการโครงการ Urban-Act
อีเมล: heinrich.gudenus(at)giz.de