ไทย-เยอรมันประกาศความพร้อมเดินหน้านโยบายความยั่งยืนทางสภาพภูมิอากาศ พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนสังคมคาร์บอนต่ำ
สรุปผลความสำเร็จการดำเนินแผนงานความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไทย – เยอรมัน ตลอดระยะเวลา 5 ปี ช่วยสร้างศักยภาพไทยในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ระดับประเทศและนานาชาติเพื่อรับมือกับภาวะโลกร้อนในทุกมิติ ทั้งภาคพลังงาน ขนส่ง อุตสาหกรรม การกำจัดของเสียและภาคการเกษตร
วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2565 – ผู้แทนจากรัฐบาลไทยและเยอรมันร่วมประกาศความสำเร็จในการสนับสนุนประเทศไทยรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนดในพิธีปิดและนิทรรศการโครงการแผนงานความร่วมมือไทย-เยอรมันด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Thai – German Climate Programme – TGCP) ภายใต้การทำงานในแผนงานฯ นี้ประเทศไทยได้พัฒนายุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศเพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินงานภายใต้การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (NDC) อาทิ แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านการเกษตร (2560 – 2564) แผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศสาขาการจัดการของเสียชุมชน ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเรื่องการบูรณาการประเด็นการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านการจัดการน้ำ และคู่มือแนวปฏิบัติการจัดทำแผนแม่บทลุ่มน้ำ และการใช้ระบบนิเวศ (EbA) สำหรับภาคส่วนน้ำของไทย
โครงการ TGCP ทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับหน่วยงานหลักภายใต้กระทรวงต่างๆ เพื่อให้การสนับสนุนอย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับแผนและยุทธศาสตร์ต่างๆ ของประเทศมาตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2561 ผ่านการสนับสนุนเงินทุนจากแผนงานปกป้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับสากลแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (IKI) โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสนับสนุนประเทศไทยพัฒนานโยบายสภาพภูมิอากาศทั้งในระดับชาติและระดับสาขาได้แก่ (1) สาขานโยบายสภาพภูมิอากาศ (2) สาขาเกษตร (3) สาขาพลังงาน (4) สาขาการจัดการขยะและของเสีย และ (5) สาขาการจัดการน้ำ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ มีการตรวจวัด ติดตาม ทวนสอบ ติดตามผลกิจกรรม รวมถึงการพัฒนาศักยภาพของประเทศไทยให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อสภาพภูมิอากาศ ผลจากความร่วมมือตลอดระยะเวลา 5 ปี ทำให้ประเทศไทยพัฒนายุทธศาสตร์การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระยะยาวในภาคต่าง ๆ ทั้งภาคพลังงาน ขนส่ง อุตสาหกรรม การกำจัดของเสียและภาคเกษตรได้อย่างเป็นรูปธรรม และสอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์ระดับชาติเรื่องการปล่อยก๊าซคาร์บอน มีการตั้งเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี พ.ศ. 2593 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ.2608
ดร. พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กล่าวปาฐกถาพิเศษ สรุปผลงานของโครงการว่า “ผลของการทำงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานต่าง ๆ ภายใต้โครงการ TGCP ตลอดระยะเวลา 5 ปี ทำให้ประเทศไทยสามารถนำข้อตกลงจากการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาสู่การพัฒนานโยบายระดับประเทศและนำไปสู่การปฏิบัติ และส่งเสริมประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมายในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
นายเกออร์ก ชมิดท์ เอกอัครราชทูตเยอรมันประจำประเทศไทย เน้นย้ำถึงความสำเร็จของโครงการความร่วมมือไทย-เยอรมันด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ TGCP ในการเสริมสร้างศักยภาพและการพัฒนาความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง “ปี พ.ศ.2565 มีความสำคัญยิ่งเพราะเป็นปีครบรอบ 160 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-เยอรมัน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาทั้งสองประเทศมีการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมถึงความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน การเติบโตด้านเศรษฐกิจในช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้ก่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนยิ่งสร้างแรงกดดันไม่แต่เฉพาะประเทศเยอรมนีเท่านั้นแต่ประเทศไทยก็จะต้องมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน และการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แผนงาน TGCP จึงเป็นรากฐานให้ประเทศไทยเน้นการปฏิบัติเพื่อต่อต้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งประเทศไทยและเยอรมนีจะเป็นพันธมิตรที่ดีต่อกันเพื่อร่วมกันดำเนินโครงการให้มีการปฏิบัติตามแนวนโยบายที่วางไว้ เราจะร่วมมือกันเพื่อให้ทุกคนได้เห็น ความสำคัญของปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และสร้างอนาคตที่ดีสำหรับประเทศทั้งสอง”
ดร.ฟิลิป เบห์เรนส์ หัวหน้าแผนงานปกป้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับสากล กระทรวงเศรษฐกิจและการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMWK) กล่าวผ่านประชุมทางไกล ชื่นชมกับความสำเร็จของประเทศไทยในการจัดทำยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ (LT-LEDs) ฉบับปรับปรุง พร้อมเน้นย้ำถึงความร่วมมือที่ดีอย่างต่อเนื่องกับประเทศไทย โดยกล่าวถึงตัวอย่างโครงการที่ร่วมดำเนินในปัจจุบันและในอนาคต เช่น Thai-German Cooperation-Energy, Mobility and Climate (TGC-EMC) ที่จะดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกในด้านพลังงาน ขนส่ง และเกษตร เพิ่มเติมด้วยโครงการ Clean, Affordable and Secure Energy for Southeast Asia (CASE) ซึ่งเป็นโครงการระดับภูมิภาค นอกจากนี้ยังได้เน้นย้ำถึงความร่วมมือด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศผ่าน Urban Resilience Building and Nature (URBAN) เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคเมือง เพิ่มเติมด้วยโครงการ Urban Act ซึ่งเป็นโครงการระดับภูมิภาค และโครงการ Nitric Acid Climate Action Group (NACAG) ในขณะที่กล่าวชื่นขมโครงการ TGCP ที่กำลังจะจบลงและความสำเร็จของโครงการตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ดร. ฟิลิป เบห์เรนส์ ได้กล่าวถึงความมุ่งมั่นในความร่วมมือกับประเทศไทยผ่านโครงการ Climate, Coastal, and Marine Biodiversity (CCMB) ซึ่งจะเป็นโครงการหลักของความร่วมมือไทย-เยอรมันในการดำเนินงานเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้โครงการ CCMB ยังเป็นโครงการความร่วมมือแรกที่จะเชื่อมโยงการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลและชายฝั่ง และการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเข้าด้วยกัน เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวและสังคมคาร์บอนต่ำอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
นอกจากนี้ภายในงานยังมีเวทีเสวนาโดยผู้แทนจากภาคพลังงาน ภาคของเสีย ภาคการเกษตรและภาคการจัดการน้ำ เข้าร่วมแบ่งปันประสบการณ์และสรุปบทเรียนของโครงการ TGCP ร่วมกัน
นายไรน์โฮลด์ เอลเกส ผู้อำนวยการองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย และมาเลเซียได้แสดงความยินดีกับประเทศไทยที่ได้มีเครือข่ายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เข้มแข็งซึ่งก่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านในระดับประเทศได้ “แผนงาน TGCP ถูกวางแผนมาเพื่อสนับสนุนประเทศไทยให้มีนโยบายที่แข็งแกร่งเพื่อนำไปสู่ภาคปฏิบัติตามเป้าหมายที่ได้วางไว้ และเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นสังคมที่มีความพร้อมในการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และมีความเป็นกลางทางคาร์บอน เราภาคภูมิใจที่ประเทศไทยจริงจังกับการต่อสู้กับสภาวะโลกร้อนมากกว่าที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีต่อทุกภาคส่วนทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม GIZ จะยังคงสนับสนุนประเทศไทยในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อไป
นิทรรศการ
อัลบั้มภาพ
อภิรดี ตรีรัตน์เกื้อกูล
อีเมล:apiradee.treerutkuarkul(at)giz.de