ไทย-เยอรมนี จับมือเปิดตัวข้าวยั่งยืน มุ่งเป้าให้เกษตรกรไทยยกระดับคุณภาพข้าวให้ได้มาตรฐาน และสามารถแข่งกับต่างประเทศ
กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บริษัทโอแลม (ประเทศไทย) จำกัดและ GIZ ได้เปิดตัวโครงการข้าวยั่งยืน “โครงการตลาดนำการผลิต เพื่อเกษตรกรรายย่อย” ณ ศูนย์ข้าวชุมชน ตำบลโพธิ์ใหญ่ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บริษัทโอแลม (ประเทศไทย) จำกัดและ GIZ ได้เปิดตัวโครงการข้าวยั่งยืน “โครงการตลาดนำการผลิต เพื่อเกษตรกรรายย่อย” ณ ศูนย์ข้าวชุมชน ตำบลโพธิ์ใหญ่ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีนายฤทธิสรรค์ เทพพิทักษ์ นายอำเภอวารินชำราบ ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน
ดร.อภิชาติ พงษ์ศรีหดุลชัย ประธานที่ปรึกษาอธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า “ในปีนี้ โครงการตลาดนำการผลิต เพื่อเกษตรกรรายย่อยจะดำเนินการในจังหวัดอุบลราชธานีเป็นจังหวัดแรก โดยจะช่วยยกระดับมาตรฐานการผลิตข้าวคุณภาพดี (GAP) ไปสู่มาตรฐานการผลิตข้าวที่ยั่งยืน (SRPs) นาแปลงใหญ่ จำนวน 7 อำเภอ 29 กลุ่ม ได้แก่ อำเภอพิบูลมังสาหาร จำนวน 14 กลุ่ม อำเภอสำโรงจำนวน 6 กลุ่ม อำเภอวารินชำราบจำนวน 3 กลุ่ม อำเภอนาเยียจำนวน 2 กลุ่ม อำเภอเดชอุดมจำนวน 2 กลุ่ม อำเภอสว่างวีระวงศ์ จำนวน 1 กลุ่ม และอำเภอนาจะหลวยจำนวน 1 กลุ่ม ส่วนจังหวัดร้อยเอ็ดและสุรินทร์จะพิจารณาดำเนินการในปีต่อไป”
“โครงการตลาดนำการผลิต เพื่อเกษตรกรรายย่อย เป็นโครงการความร่วมมือของบริษัทโอแลม (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ GIZ ตลอดจนภาคีอื่นที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งดำเนินต่อจากโครงการริเริ่มข้าวที่ดีขึ้นแห่งเอเชีย (BRIA) ที่สิ้นสุดโครงการไปแล้ว (2557-2560) โดย “โครงการตลาดนำการผลิต เพื่อเกษตรกรรายย่อย” จะดำเนินการใน 3 จังหวัดเป้าหมายของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ให้แก่เกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 16,000 ราย ในปริมาณผลผลิต 150,000 ตัน ตั้งแต่ปีนี้จนถึงปี พ.ศ. 2565 รวมถึงขยายการดำเนินงานไปยังประเทศอินโดนีเซียและเวียดนามเพื่อยกระดับการเกษตรทั้งในส่วนของประเทศและภูมิภาค” Mr. Satish Thampy บริษัทโอแลม (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวเสริม
นายสุริยัน วิจิตรเลขการ ผู้อำนวยการโครงการตลาดนำการผลิตเพื่อเกษตรกรรายย่อย GIZ กล่าวว่า “โครงการตลาดนำการผลิต เพื่อเกษตรกรรายย่อย ถูกดำเนินการขึ้นเพื่อส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรให้มีความรู้ ความเข้าใจในการผลิตข้าวตามมาตรฐานการผลิตข้าวที่ยั่งยืน (SRPs) นำไปสู่การยกระดับคุณภาพข้าวและการบริโภคข้าวที่ปลอดภัย โครงการฯ จะเอื้อประโยชน์ 3 ด้าน คือ ด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ในด้านเศรษฐกิจ เกษตรกรรายย่อยจะสามารถลดต้นทุนเพิ่มผลผลิต มีกำไรแข่งขันกับตลาดต่างประเทศ รวมทั้งสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรในการผลิตข้าวให้ยั่งยืน สำหรับในด้านสังคม ประชาชนจะมีข้าวบริโภคที่เพียงพอในราคาที่เป็นธรรม และเกิดการจ้างงานในท้องถิ่น สำหรับด้านสิ่งแวดล้อม การผลิตข้าวตามมาตรฐาน SRPs จะไม่ก่อให้เกิดการเผาตอชัง ไม่ทำให้ดินเสื่อมโทรม และช่วยลดการปล่อยก๊าชเรือนกระจก นอกจากนี้เกษตรกรจะมีการผลิตในระบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมและสร้างโอกาสทางการตลาดของโลกยุคปัจจุบันที่ให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม อันเป็นแนวทางให้เกษตรกรไทยเป็นที่ยอมรับของสังคมโลกในการให้ความร่วมมือที่จะขจัดปัญหาการเกิดภาวะโลกร้อน”
นายเกรียงไกร จันทร์เพ็ง ตัวแทนจากศูนย์ข้าวชุมชนตำบลโพธิ์ใหญ่ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า “ผมได้เข้าร่วมโครงการริเริ่มข้าวที่ดีขึ้นแห่งเอเชีย (BRIA) มาก่อน และผมเห็นว่าโครงการมีการดำเนินงานที่ช่วยเหลือเกษตรกรได้จริง เนื่องจากพวกเราได้รับความรู้ในการทำนา การเก็บเกี่ยว และยังมีตลาดรองรับข้าวที่ปลูก เมื่อสมาชิกในโครงการนำข้าวไปขายก็ได้ราคาดี ไม่โดนกดราคา อีกทั้งยังมีระบบจ่าย “โบนัส” ให้แก่ผู้เข้าอบรมในโครงการครบ 4 ครั้ง โดยได้รับเงินเพิ่ม 50 บาทต่อข้าวที่ผลิตได้ 1 ตัน และถ้าข้าวมีสิ่งเจือปนต่ำกว่าร้อยละ 3-5 จะได้โบนัสเพิ่มอีก 50 บาทต่อตัน และหากสิ่งเจือปนต่ำกว่าร้อยละ 2 ก็จะได้เพิ่มอีก 50 บาทต่อตัน รวมเป็นโบนัสทั้งหมด 150 บาทต่อตัน นี่เป็นแรงจูงใจให้กับเกษตรกรในการผลิตข้าวคุณภาพดีและสร้างความมั่นใจได้ว่าพวกเราจะมีตลาดรับซื้อข้าวเพิ่มขึ้น”
“ความแตกต่างจากการทำนาทั่วไปที่ได้รับจากการเข้าร่วมโครงการนี้ คือ ขายข้าวได้ราคาดีกว่า ปัจจุบันแปลงนาสำหรับปลูกเมล็ดพันธุ์ข้าวของผมนั้น เป็นแปลงนาสาธิตภายใต้โครงการตลาดนำการผลิต เพื่อเกษตรกรรายย่อย หรือ MSVC ซึ่งต่อยอดจากโครงการ BRIA ก่อนการปลูกเมล็ดพันธุ์ข้าวนั้น ที่นา 9 ไร่ดังกล่าวได้รับการปรับพื้นที่ให้ได้ระดับสม่ำเสมอ โดยใช้เครื่องเลเซอร์ช่วยวัดระดับ ผลจากการปรับระดับที่นาให้สม่ำเสมอทำให้ต้นข้าวในแปลงนาสาธิตของผมนั้นมีลำต้นสูงสม่ำเสมอทั่วกัน และด้วยวัชพืชที่น้อยลง ก็ทำให้ต้นข้าวมีสีเขียวขจี แตกต่างจากแปลงนารอบข้างที่มีต้นหญ้าแซม และต้นสูงไม่เท่ากัน” นายเกรียงไกร กล่าวเพิ่มเติม
GALLERY
สุริยัน วิจิตรเลขการ
ผู้อำนวยการโครงการ
Email:suriyan.vichitlekarn(at)giz.de