ประเทศไทยกับก้าวสำคัญในการพัฒนาภาคการเงินเพื่อความยั่งยืน

ผู้แทนจากคณะขับเคลื่อนการทำงาน ผู้สนับสนุน และที่ปรึกษา ถ่ายภาพร่วมกันภายในงานสัมมนา Thailand Taxonomy 2.0 ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่ความยั่งยืน เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2568
ลองนึกภาพว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากคุณต้องขับรถออกจากบ้านไปทำงานแต่บนท้องถนนไม่มีไฟจราจร รถยนต์และรถจักรยานยนต์จะขับชนกันไหม? หรือบางทีคนขับรถยนต์อาจจะต่างฝ่ายต่างหยุด โดยไม่มีใครไปก่อน? – แน่นอนว่า ไฟจราจรมีส่วนสำคัญที่ทำให้การจราจรบนท้องถนนเป็นไปด้วยดีเป็นระเบียบเรียบร้อยและช่วยป้องกันอุบัติเหตุ เฉกเช่นเดียวกับมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจสำหรับการลงทุนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่มีลักษณะคล้ายสัญญาณไฟจราจรที่จะช่วยให้การดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศสำหรับภาคการเงินเข้าใจได้ง่าย และมีทิศทางที่ชัดเจนยิ่งขึ้น
เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 ประเทศไทยได้มีการเผยแพร่รายงานมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Thailand Taxonomy) ระยะที่ 2 ฉบับเต็มอย่างเป็นทางการ โดยครอบคลุมกิจกรรมในภาคการเกษตร ภาคอาคารและอสังหาริมทรัพย์ ภาคอุตสาหกรรม และภาคการจัดการของเสีย หลักเกณฑ์ของกิจกรรมต่างๆ ในแต่ละภาคธุรกิจ ถูกกำหนดขึ้นโดยยึดตามเป้าหมายจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งทุกภาคส่วนจะต้องมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2593

มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 300 คน และมีผู้เข้าร่วมทางออนไลน์ผ่านทางเพจเฟสบุ๊กของคณะขับเคลื่อนการทำงานอีกจำนวนมาก
หลักเกณฑ์ดังกล่าวแบ่งประเภทกิจกรรมออกเป็น สีเขียว (เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ) สีเหลือง (อยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่าน) และสีแดง (ควรเลิกดำเนินการ) ตัวอย่างเช่น การผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าจัดว่าเป็นกิจกรรมในกลุ่มสีเขียวเพราะว่าแบตเตอรี่เป็นองค์ประกอบสำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด ในทางกลับกันการผลิตรถยนต์สันดาปที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงฟอสซิลจัดเป็นกิจกรรมในกลุ่มสีแดง เนื่องจากรถยนต์ที่ใช้น้ำมันควรต้องถูกแทนที่ด้วยรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคขนส่ง ในขณะที่ กิจกรรมในกลุ่มสีเหลืองหรือกิจกรรมที่อยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่าน หมายถึงกิจกรรมที่ต้องมีการยุติหรือเปลี่ยนรูปแบบให้เป็นไปตามเกณฑ์สีเขียวภายในปี พ.ศ. 2583 เช่น ในภาคอาคารและอสังหาริมทรัพย์ การปรับปรุงอาคารที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงอย่างน้อยร้อยละ 20-30 จะถือว่าเป็นสีเหลือง อย่างไรก็ตาม หลังจากปี พ.ศ. 2583 การปรับปรุงจะต้องสอดคล้องกับมาตรฐานอาคารสีเขียว
การพัฒนามาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมฯ เป็นหนึ่งในห้ากลยุทธ์สำคัญภายใต้แนวทางการพัฒนาภาคการเงินเพื่อความยั่งยืน ซึ่งจัดทำโดยหน่วยงานกำกับดูแลภาคการเงินของไทยในช่วงปี พ.ศ. 2564 เพื่อขับเคลื่อนบทบาทของภาคการเงินในการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน เป็นเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ และมีความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้

ช่วงเสวนาพิเศษเกี่ยวกับการนำ Taxonomy ไปใช้สนับสนุนเศรษฐกิจสีเขียวของไทย (จากซ้ายไปขวา) คุณมนวิกานต์ ขจรบุญ (สมาคมปูนซีเมนต์ไทย) คุณวิศรุต เมธาสิทธิ์ (กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน) ดร.กิตติศักดิ์ พฤกษ์กานนท์ (กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม) คุณ Rong Zhang (บรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ) ดำเนินรายการโดย ดร.อรศรัณย์ มนุอมร จากสถาบันการเงินโลก
ทั้งนี้ ในขั้นตอนแรกประเทศไทยได้มีการเผยแพร่มาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมฯ ระยะที่ 1 เมื่อปี พ.ศ. 2566 ซึ่งครอบคลุมภาคพลังงานและภาคขนส่ง และในปัจจุบันได้ขยายให้ครอบคลุมเพิ่มเติมอีก 4 ภาคธุรกิจ ซึ่งคาดการณ์ว่าจะครอบคลุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยกว่าร้อยละ 97 ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหมด
มาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจฯ ในระยะที่ 2 เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทย กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศ โดยได้รับการสนับสนุนจากบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (IFC) ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ)
การเปิดตัวอย่างเป็นทางการของ Thailand Taxonomy ระยะที่ 2 ในเดือนพฤษภาคมจึงถือเป็นอีกก้าวสำคัญของประเทศไทยในการเดินหน้าสู่การเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว อย่างไรก็ดี การนำมาตรฐานการจัดกลุ่มฯ ไปใช้ในทางปฏิบัติ ยังคงมีความท้าทายที่ต้องอาศัยการพัฒนาศักยภาพและความร่วมมืออย่างใกล้ชิด ระหว่างหน่วยงานกำกับดูแลภาคการเงิน หน่วยงานกำหนดนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และภาคเอกชน
ทามาร่า เคิร์น
ที่ปรึกษาโครงการ
อีเมล:tamara.kern(at)giz.de
นภสินธุ์ วีระอาชากุล
เจ้าหน้าที่ประสานงานโครงการ
อีเมล:noppasin.weraarchakul(at)giz.de