กองทุน ThaiCI ผลักดันผู้ประกอบการเหล็กและเหล็กกล้าให้เติบโตและพร้อมเปลี่ยนผ่านสู่การผลิตที่ยั่งยืนตามมาตรการ CBAM

- GIZ ร่วมกับกองทุนสิ่งแวดล้อม สผ. จัดอบรมเสริมศักยภาพผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า เพื่อพัฒนาทักษะในการเขียนข้อเสนอโครงการด้านการลดก๊าซเรือนกระจกภายใต้กองทุน ThaiCI
- ThaiCI ร่วมผลักดันผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมในอุตสาหกรรมเหล็กฯ ให้เข้าใจมาตรการ CBAM เพื่อเป็นผู้ผลิตคาร์บอนต่ำในห่วงโซ่อุปทานต่อไป
อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจทั้งภายในประเทศและระดับโลกซึ่งกำลังเผชิญกับความท้าทายในอนาคตอันใกล้ อันเนื่องมาจากวิกฤติการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กำลังรุนแรงขึ้น ทำให้เกิดมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกขึ้นมากมายจากทุกภาคส่วน หนึ่งในมาตรการที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจคือ มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) ที่อาจส่งผลต่อความสามารถของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในการส่งออกสินค้าประเภทเหล็กและเหล็กกล้า รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ผู้ประกอบการ SMEs ในอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้ายังมีข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูลและปรับเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจตามทิศทางการผลิตแบบคาร์บอนต่ำ ดังนั้นการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน รวมถึงการสนับสนุนเงินอุดหนุนเพื่อเตรียมพร้อมและปรับเปลี่ยนระบบการผลิตจึงจำเป็นอย่างยิ่ง
กองทุน Thai Climate Initiative Fund (ThaiCI) ภายใต้ความร่วมมือขององค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) และกองทุนสิ่งแวดล้อม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้เห็นความสำคัญของการพัฒนาธุรกิจที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายด้านการลดก๊าซเรือนกระจกแล้ว ยังเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมของไทยในตลาดโลกอีกด้วย กองทุน ThaiCI จึงเปิดรับข้อเสนอโครงการด้านการลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อสนับสนุนเงินอุดหนุนให้เปล่าในอัตราร้อยละ 50 โดยมีวงเงินสูงสุด 5 ล้านบาทต่อโครงการ พร้อมจัดการอบรมเตรียมความพร้อมในการพัฒนาข้อเสนอโครงการฯ และผลักดันให้ผู้ประกอบการเข้าใจมาตรการ CBAM ยิ่งขึ้น
การเตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบการสำหรับการเปิดรับข้อเสนอ ThaiCI


การอบรม “พัฒนาข้อเสนอโครงการด้านการลดก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการผลิตเหล็กและเหล็กกล้า” วันที่ 7-8 ตุลาคม พ.ศ. 2567 ณ โรงแรมอมารี กรุงเทพมหานคร
การอบรมการพัฒนาข้อเสนอโครงการด้านการลดก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการการผลิตในอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าแก่ผู้ประกอบการ SMEs จัดในวันที่ 7 – 8 ตุลาคม พ.ศ. 2567 ณ โรงแรมอมารี กรุงเทพมหานคร โดยมีผู้เข้าร่วมที่ผ่านการคัดเลือกทั้งหมด 24 คนจาก 19 บริษัท
หลักสูตรนี้ออกแบบมาเพื่อเน้นพัฒนาศักยภาพการเขียนข้อเสนอให้ได้ผลและตรงตามมาตรฐานในระดับสากลและข้อกำหนดของกองทุน ThaiCI โดยใช้รูปแบบการบรรยายเพื่อความเข้าใจร่วมกันก่อนลงมือฝึกปฏิบัติ ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้ผ่านการคิดวิเคราะห์และปฏิบัติจริง รวมถึงกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การแบ่งปันประสบการณ์ และตอบข้อซักถามที่เกี่ยวข้องโดยวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญ และนักวิจัยของสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นที่ปรึกษาด้านเทคนิคสำหรับการพัฒนาข้อเสนอที่มีคุณภาพสำหรับการเปิดรับข้อเสนอภายใต้กองทุน ThaiCI ครั้งนี้อีกด้วย
การผลักดันผู้ประกอบการเหล็กและเหล็กกล้าด้วยแนวปฏิบัติที่ดีสู่การผลิตแบบคาร์บอนต่ำ


การอบรม “แนวทางการดำเนินการตามแนวทางปฏิบัติที่ดี สำหรับการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมเหล็กกล้าและอะลูมิเนียมของประเทศไทยไปสู่คาร์บอนต่ำ และการรายงานค่า Embedded Emissions” วันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 ณ โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไท กรุงเทพมหานคร
นอกจากนี้ เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีความรู้ความเข้าใจต่อสถานการณ์โลก โดยเฉพาะมาตรการ CBAM กองทุน ThaiCI จึงร่วมผลักดันให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าร่วมอบรมหัวข้อ “แนวทางการดำเนินการตามแนวทางปฏิบัติที่ดี สำหรับการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรม เหล็กกล้าและอะลูมิเนียมของประเทศไทยไปสู่คาร์บอนต่ำ และการรายงานค่าก๊าซเรือนกระจกที่ฝังตัวอยู่กับผลิตภัณฑ์ (Embedded Emissions)” จัดโดย GIZ และกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) ในวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 ณ โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไท โดยการอบรมเชิงบรรยายจากผู้เชี่ยวชาญของประเทศไทย ครั้งนี้ทำให้ผู้ประกอบการเหล็กได้มีความรู้ความเข้าใจในการปรับตัวต่อมาตรการ CBAM อย่างถูกต้อง รวมถึงการฝึกปฏิบัติการรายงานปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ฝังตัวอยู่กับผลิตภัณฑ์ของ GHGs ก่อนการนำเข้าสินค้า โดยผู้เชี่ยวชาญจากสหภาพยุโรป (EU) อีกด้วย
เกี่ยวกับ ThaiCI
ThaiCI เป็นส่วนหนึ่งของโครงการความร่วมมือไทย-เยอรมันด้านพลังงาน คมนาคม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (TGC EMC) ซึ่งได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากแผนงานปกป้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับสากล (IKI) ภายใต้กระทรวงเศรษฐกิจและการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMWK) มีระยะเวลาดำเนินการระหว่างเดือนธันวาคม พ.ศ. 2565 ถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2570 เพื่อจัดตั้งกองทุน ThaiCI ภายใต้การดำเนินการของกองทุนสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นกลไกการเงินในประเทศที่ให้การสนับสนุนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยเฉพาะ และพัฒนาศักยภาพผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการพัฒนาและบริหารโครงการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
อังคณา เกตุจรัญ
เจ้าหน้าที่โครงการ
อีเมล: angkhana.ketjalan(at)giz.de