ThaiCI พร้อมเป็นกลไกให้ท้องถิ่นปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

- GIZ ร่วมกับกองทุนสิ่งแวดล้อม สผ. จัดอบรมเสริมศักยภาพและพัฒนาทักษะในการเขียนข้อเสนอโครงการของภาคประชาชน ด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภายใต้กองทุน ThaiCI
- การอบรมมุ่งเสริมสร้างทั้งทักษะการเขียนข้อเสนอให้เกิดผลสัมฤทธิ์ และเสริมสร้างความรู้ด้านการปรับตัว ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และแนวทางการปรับตัวตามแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (NAP)
กองทุน Thai Climate Initiative Fund (ThaiCI) ภายใต้ความร่วมมือขององค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) และกองทุนสิ่งแวดล้อม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) จัดการอบรมการพัฒนาศักยภาพและพัฒนาทักษะการเขียนข้อเสนอโครงการด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม พ.ศ. 2568 เพื่อให้ผู้เข้าร่วมสามารถพัฒนาข้อเสนอโครงการให้ตอบโจทย์ต่อการนำไปใช้จริงในระดับท้องถิ่นต่อไป


การอบรม “พัฒนาข้อเสนอโครงการด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” วันที่ 13-14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568 ณ โรงแรมโนโวเทล กรุงเทพ แพลทินัม ประตูน้ำ
การอบรมการพัฒนาข้อเสนอโครงการด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จัดในวันที่ 13 -14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568 ณ โรงแรมโนโวเทล กรุงเทพ แพลทินัม ประตูน้ำ โดยมีผู้เข้าร่วมที่ผ่านการคัดเลือกทั้งหมด 50 คน จากองค์การบริหารปกครองส่วนท้องถิ่น มูลนิธิ และสมาคมที่ขับเคลื่อนโครงการด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศในระดับท้องถิ่น โดยในวันที่ 10-11 มีนาคม พ.ศ. 2568 ได้มีการจัดอบรม ณ โรงแรมเดอะควอเตอร์ ลาดพร้าว ซึ่งมีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 38 คน จากหน่วยงานภาครัฐในระดับพื้นที่และมหาวิทยาลัยที่ดำเนินโครงการด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับท้องถิ่น
หลักสูตรนี้ออกแบบมาเพื่อเน้นพัฒนาศักยภาพการเขียนข้อเสนอให้ประสบความสำเร็จ และตรงตามมาตรฐานในระดับสากลและข้อกำหนดของกองทุน ThaiCI โดยมีการบรรยายให้ความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และแนวคิดในการดำเนินโครงการเพื่อให้เกิดการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศ การฝึกปฏิบัติ และเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้ผ่านการคิดวิเคราะห์และปฏิบัติจริง รวมถึงกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการแบ่งปันประสบการณ์ โดยมีผู้เชี่ยวชาญมากมายร่วมให้ความรู้ เช่น คุณศุภกร ชินวรรโณ ผู้เชี่ยวชาญด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และคุณธีรพงษ์ เหล่าพงศ์พิชญ์ ผู้อำนวยการกลุ่มวิเคราะห์ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ร่วมตอบคำถามที่เกี่ยวข้อง


การอบรม “พัฒนาข้อเสนอโครงการด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” วันที่ 10-11 มีนาคม พ.ศ. 2568 ณ โรงแรมเดอะควอเตอร์ ลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร
แม้ว่าประเทศไทยจะเคยถูกจัดให้อยู่ในอันดับ 9 ของประเทศที่มีความเสี่ยงสูงที่สุดในโลกที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระยะยาว แต่ปัจจุบันสามารถถอยลงมาอยู่ที่อันดับ 30 ได้เพราะความร่วมมือจากหลายภาคส่วน โดยเฉพาะภาคนโยบายระดับประเทศ อย่างไรก็ตาม การดำเนินการในระดับพื้นที่ยังคงต้องได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่สามารถปรับตัวได้อย่างยั่งยืน ซึ่งจะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศ (Climate Resilience) ได้
กองทุน ThaiCI ได้เล็งเห็นความสำคัญและพร้อมเป็นกลไกด้านการเงินในประเทศที่สนับสนุนการดำเนินโครงการด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับท้องถิ่น แม้ว่าจะมีความท้าทายเพราะต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจต่อสภาพปัญหาและการปรับตัวในแต่ละพื้นที่ ซึ่งมีความเฉพาะตัวและไม่สามารถใช้วิธีการเดียวกันในการจัดการได้ นอกจากนั้นโครงการยังต้องเป็นประโยชน์ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคมอีกด้วย โดยองค์ความรู้ด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การประเมินความเสี่ยงในท้องถิ่นของตนเอง ข้อมูลเชิงพื้นที่ทั้งข้อมูลด้านประชากรและสภาพภูมิอากาศ และการลงมือปฏิบัติจริงเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของคนในพื้นที่นั้น นับเป็นบันไดขั้นแรกที่จะก่อให้เกิดการปรับตัวอย่างมีพลวัต และมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ในอนาคตต่อไป
เกี่ยวกับ ThaiCI
ThaiCI เป็นส่วนหนึ่งของโครงการความร่วมมือไทย-เยอรมันด้านพลังงาน คมนาคม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (TGC EMC) ซึ่งได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากแผนงานปกป้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับสากล (IKI) ภายใต้กระทรวงเศรษฐกิจและการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMWK) มีระยะเวลาดำเนินการระหว่างเดือนธันวาคม พ.ศ. 2565 ถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2570 เพื่อจัดตั้งกองทุน ThaiCI ภายใต้การดำเนินการของกองทุนสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นกลไกการเงินในประเทศไทยที่ให้การสนับสนุนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยเฉพาะ และพัฒนาศักยภาพผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการพัฒนาและบริหารโครงการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
อังคณา เกตุจรัญ
เจ้าหน้าที่โครงการ
อีเมล: angkhana.ketjalan(at)giz.de