ในช่วงที่ประเทศไทยอุณหภูมิเกือบ 40 องศาเซลเซียส แต่ที่อะโรแมติก ฟาร์ม (Aromatic Farm) อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี แหล่งปลูกมะพร้าวที่ขึ้นชื่อว่าดีที่สุดในโลกยังคงพอมีร่มเงา และลมเย็นสบาย กลุ่มเกษตรกรสามารถยืนพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้กันกลางแจ้งได้พร้อมกับดื่มมะพร้าวน้ำหอมคลายร้อน ไปพร้อมๆ กับเนื้อมะพร้าวอ่อนหอมหวานแสนอร่อยที่พบได้เฉพาะพันธุ์พิเศษของประเทศไทยเท่านั้น และเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา กลุ่มเกษตรกรมารวมตัวกันทำ “กิจกรรมพบปะเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้สำหรับเกษตรกรต้นแบบ” และเยี่ยมชมสวนมะพร้าวเกษตรอินทรีย์วิถีไทย นับเป็นการรวมตัวครั้งแรกของเกษตรกรต้นแบบทั้งหมด 13 ท่าน หลังจากได้เข้าร่วมกิจกรรมฝึกอบรมการฟื้นฟูเกษตรอินทรีย์อย่างยั่งยืนเกี่ยวกับการจัดการฟาร์ม สุขภาพดิน ปัจจัยการผลิตการเกษตรอินทรีย์ การจัดการศัตรูพืช และแนวทางการฟื้นฟูด้วยเกษตรอินทรีย์เมื่อปลายปีพ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา
ฮาร์มเลส ฮาร์เวสท์ (Harmless Harvest) และดานอน กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบนิเวศ (Danone Ecosystem Fun) ร่วมกับ GIZ เดินหน้าโครงการการฟื้นฟูด้วยเกษตรอินทรีย์สำหรับมะพร้าวน้ำหอมอย่างยั่งยืน (Regenerative Coconuts Agriculture Project: ReCAP) ในพื้นที่นำร่องจังหวัดราชบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และนครปฐม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปลี่ยนแปลงแนวทางการทำเกษตรแบบดั้งเดิมไปสู่การทำสวนมะพร้าวอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผ่านการสนับสนุนและฝึกอบรมเกษตรกรชาวสวนมะพร้าวตามแนวทางการฟื้นฟูด้วยเกษตรอินทรีย์ เสริมสร้างทักษะทางธุรกิจขั้นพื้นฐานเพื่อเพิ่มรายได้และกระจายช่องทางการดำเนินธุรกิจ พร้อมทั้งจัดตั้งกลุ่มให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองและเกิดแรงจูงใจในการทำเกษตรแบบยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง
“มะพร้าวน้ำหอม” คือหนึ่งในพืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศไทย จากปริมาณการส่งออกกว่า 90 ล้านตัน ไปยังประเทศจุดหมายปลายทางหลัก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง และเยอรมนี คิดเป็นมูลค่าการส่งออกที่สูงถึง 3.39 พันล้านบาท ในปี พ.ศ. 2562 โดยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาความต้องการมะพร้าวน้ำหอมทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวมเร็ว จากกระแสด้านสุขภาพที่ผู้คนต่างให้ความสำคัญกับเลือกอาหารและเครื่องดื่มที่ให้คุณค่าทางโภชนาการ ด้วยเหตุนี้เกษตรกรชาวสวนมะพร้าวที่ส่วนใหญ่ยึดเอามะพร้าวเป็นรายได้หลักเพียงแหล่งเดียว จึงหันมาทำเกษตรเชิงเดี่ยวที่ใช้สารเคมีเพื่อให้ได้ผลผลิตที่เพียงพอต่อความต้องการดังกล่าว
“เกษตรอินทรีย์นำอนาคตที่ดีมาสู่พวกเราทุกคน ไม่เพียงแค่เกษตรกรเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผู้บริโภคและโลกของเราด้วย ในฐานะเกษตรกรเราไม่ควรหยุดเรียนรู้ เพราะความสำเร็จในการทำเกษตรอินทรีย์แบบปฏิรูป คือ การใช้ธรรมชาติบำบัดธรรมชาติ การผสมผสานความรู้ด้านการเกษตรในแง่มุมที่หลากหลายจะช่วยพัฒนาธุรกิจและความเป็นอยู่ของเรา” คุณนวลลออ เทอดเกียรติกุล เจ้าของอะโรแมติก ฟาร์ม หนึ่งในเกษตรกรต้นแบบผู้เข้าร่วมโครงการกล่าว
เมื่อก่อนอะโรแมติก ฟาร์ม ทำเกษตรโดยใช้สารเคมี ต่อมาคุณนวลลออได้ปรับปรุงแนวทางการทำเกษตรตามแนวคิดการใช้ธรรมชาติบำบัดธรรมชาติ และผสมผสานความรู้ด้านการเกษตรในแง่มุมต่างๆ เพื่อให้ได้ผลผลิตมะพร้าวที่ปลอดภัยตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคและการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ซึ่งเมื่อแนวทางการทำเกษตรอินทรีย์ที่เธอได้ดำเนินการอยู่นั้น สอดคล้องกับมาตรฐานสากลทั่วโลก จึงทำให้มะพร้าวจากสวนของเธอได้รับการรับรองจากหลายองค์กร อาทิ มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices: GAP) มาตรฐานอินทรีย์วิถีไทย (Earth Safe) และสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Certificate of Conformity of Geographical Indication: GI)
คุณนวลลออ เกษตรกรหญิงวัย 45 ปีได้แนะนำเกษตรกรท่านอื่นๆ ถึงแนวทางการทำเกษตรที่เธอได้ใช้กับสวนมะพร้าวของตนเองถึงวิธีการปลูกพืชคลุมดิน การเพาะเลี้ยงชันโรง รวมไปถึงการนำเอาภูมิปัญญาท้องถิ่นมาผสมผสานเข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่ หรือแนวทางการทำเกษตรอัจฉริยะ (Smart Agriculture) ผ่านการเก็บข้อมูล เฝ้าสังเกตการณ์และบันทึกรายละเอียด การเติบโตของมะพร้าวน้ำหอมด้วยระบบข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และระบบการตรวจสอบย้อนกลับโดยใช้คิวอาร์โค้ด (QR Code) เพื่อให้ง่ายต่อการติดตามและควบคุมคุณภาพผลผลิต
คุณอากุง บีโม ลิสเทนู (Agung Bimo Listyanu) ผู้ประสานงานระดับภูมิภาค ดานอน กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบนิเวศ กล่าวว่า “พวกเรารู้สึกตื่นเต้นที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการและได้ร่วมผลักดันความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมมะพร้าว การรวมตัวของเกษตรกรในครั้งนี้ จะเชื่อมโยงให้พวกเขาสามารถเข้าถึงและร่วมแบ่งปันแนวทางการฟื้นฟูด้วยเกษตรอินทรีย์ที่ดียิ่งขึ้นได้”
คุณลิซ่า เฟาสต์ (Lisa Faust) ผู้จัดการโครงการการฟื้นฟูด้วยเกษตรอินทรีย์สำหรับมะพร้าวน้ำหอมอย่างยั่งยืน กล่าวถึงการรวมตัวของกลุ่มเกษตรกรต้นแบบในครั้งนี้ว่า ช่วยเสริมสร้างแรงจูงใจในการดำเนินงานและทำให้พวกเขาเกิดความมั่นใจว่าเจ้าหน้าที่จาก ReCAP จะคอยให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง
“เป็นเรื่องดีมากที่ได้เห็นว่ากลุ่มเกษตรกรต้นแบบสนับสนุนและให้กำลังใจซึ่งกันและกัน การดำเนินโครงการในระยะการนำร่องนี้เราได้เห็นว่าพวกเขาเปลี่ยนแปลงไปสู่แนวทางการฟื้นฟูด้วยเกษตรอินทรีย์ได้อย่างไร พวกเราโชคดีและตื่นเต้นมากที่ได้ร่วมทำงานและแบ่งปันประสบการณ์กับกลุ่มเกษตรกรชาวสวนมะพร้าวรุ่นบุกเบิกแนวทางการเกษตรกรรมยั่งยืนเหล่านี้”
คุณชัยชนะ รอดเจริญสุข หนึ่งในเกษตรกรต้นแบบ วัย 58 ปีกล่าวว่าหลังจากที่ได้รับการฝึกอบรมการฟื้นฟูเกษตรอินทรีย์อย่างยั่งยืน เขาได้นำเอาคำแนะนำและเทคนิคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแนวทางการจัดการของเสีย การเพาะเลี้ยงชันโรง การปลูกพืชคลุมดิน และการปลูกพืชแซม มาใช้กับสวนมะพร้าวของตนเองในพื้นที่อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อให้เป็นไปตามแนวทางการทำสวนมะพร้าวอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
“ผมยังไม่สามารถพูดได้เต็มปากว่าสวนมะพร้าวของผมเป็นเกษตรอินทรีย์ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ด้วยการสนับสนุนของเจ้าหน้าที่จาก ReCAP และความรู้ที่ได้รับจากการฝึกอบรม ทำให้ผมรู้สึกมีความมั่นใจมากขึ้นที่จะนำเอาแนวทางการทำเกษตรที่ยั่งยืนเหล่านี้มาพัฒนาสวนมะพร้าวอย่างยั่งยืนต่อไป”
ประกอบไปด้วย
ศรีจักรภัทร เฉลิมชัย Email: Srijakpat.Chalermchai(at)giz.de
Data from the following embedded codes are sent to Google Inc. More information in our Privacy Policy.
YouTube
Enable or disable cookies for embedding and playing YouTube videos on our site.
(เปิดหรือปิดคุกกี้สำหรับการฝังและเล่นวิดีโอ YouTube บนเว็บไซต์ของเรา)