เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเตรียมใช้นวัตกรรมร่วมขับเคลื่อนการลดการปล่อยคาร์บอนในภาคขนส่ง

การประชุมเชิงปฏิบัติการเครือข่ายแหล่งเรียนรู้สิ่งแวดล้อมเมืองยั่งยืน “ก้าวสู่เมืองคาร์บอนต่ำ: คมนาคมขนส่งคาร์บอนต่ำ (Decarbonized Transport)”
- กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม และโครงการ TGC EMC ร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเครือข่ายแหล่งเรียนรู้สิ่งแวดล้อมเมืองยั่งยืนให้แก่เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นในโครงการเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน
- เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นได้เรียนรู้ที่จะระบุความท้าทายในพื้นที่และสร้างสรรค์แนวทางแก้ปัญหาใหม่ ๆ โดยใช้หลักการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking)
- กรณีศึกษาของซิตี้แล็บ และเวทีเสวนาระหว่างเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ผู้วางนโยบาย และผู้ให้ทุน ทำให้เห็นความจำเป็นในการดำเนินการร่วมกันเพื่อสนับสนุนให้เมืองนำนวัตกรรมไปใช้เพื่อบรรลุเป้าหมายในการเป็นเมืองคาร์บอนต่ำ
เมื่อวันที่ 27 – 29 สิงหาคม พ.ศ. 2567 กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) ภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับโครงการความร่วมมือไทย-เยอรมันด้านพลังงาน คมนาคม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Thai-German Cooperation on Energy, Mobility and Climate: TGC EMC) ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเครือข่ายแหล่งเรียนรู้สิ่งแวดล้อมเมืองยั่งยืนภายใต้หัวข้อ “ก้าวสู่เมืองคาร์บอนต่ำ: คมนาคมขนส่งคาร์บอนต่ำ” ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองส่วนท้องถิ่นในโครงการเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืนของ สส. ได้มารวมตัวกัน เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ในการจัดการสิ่งแวดล้อมในเมืองและเรียนรู้ซึ่งกันและกันภายในเครือข่าย
งานครั้งนี้มีตัวแทนเข้าร่วมกว่า 90 คน จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและสำนักงานสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติกว่า 20 จังหวัดทั่วประเทศไทย การประชุมได้เพิ่มพูนความเข้าใจ แลกเปลี่ยนความรู้ และถ่ายทอดนวัตกรรมด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมในเมืองและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงเสริมสร้างเครือข่ายให้เข้มแข็ง และออกแบบกิจกรรมที่ช่วยขับเคลื่อนงานด้านความยั่งยืนในพื้นที่เมือง นอกจากนี้ โครงการ TGC EMC ยังได้ใช้โอกาสนี้สำรวจหาพื้นที่นำร่องที่มีศักยภาพในการเป็นพื้นที่ดำเนินแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคคมนาคมขนส่งสำหรับกิจกรรมซิตี้แล็บ (City Lab) ของโครงการอีกด้วย

ดร.โดมินิกา คาลินอฟสกา ผู้อำนวยการโครงการ TGC EMC กล่าวต้อนรับ
ดร.โดมินิกา คาลินอฟสกา ผู้อำนวยการโครงการ TGC EMC ได้กล่าวว่า การลดก๊าซเรือนกระจกในภาคคมนาคมขนส่งเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องทำ โดยการใช้นวัตกรรมมาช่วยแก้ไขปัญหา และการบูรณาการะหว่างภาคส่วนเพื่อจัดการกับความท้าทายที่มีอยู่เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ประสบผลสำเร็จ ทั้งนี้โครงการ TGC EMC ได้จัดตั้ง City Lab ขึ้น เพื่อให้เป็นพื้นที่สำหรับการพัฒนา ทดสอบ และขยายผลแนวทางการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ เพื่อจัดการความท้าทายด้านการคมนาคมขนส่ง ในขณะเดียวกัน ก็ส่งเสริมระบบขนส่งคาร์บอนต่ำและยั่งยืนอีกด้วย

(ภาพซ้าย) คุณอุมา ศรีสุข ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการมีส่วนร่วมต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม สส. กล่าวรายงานเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความยั่งยืน (ภาพขวา) ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กล่าวเปิดงาน
คุณอุมา ศรีสุข ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการมีส่วนร่วมต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม สส. ได้กล่าวรายงานเรื่องสถานการณ์ของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความสำคัญของการดำเนินงานเพื่อมุ่งไปสู่อนาคตที่ยั่งยืน ก่อนที่ ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม จะเน้นถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ประเทศไทยกำลังเผชิญและความเสียหายที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ ดร.พิรุณยังย้ำว่าการคมนาคมขนส่งเป็นหนึ่งในภาคส่วนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดจึงต้องแก้ไขปัญหานี้ รวมถึงต้องสนับสนุนให้เมืองใช้นวัตกรรมเพื่อส่งเสริมความยั่งยืนในท้องถิ่นมากขึ้น

คุณปพนธนัย นันทชัชวาลย์กุล ที่ปรึกษาอาวุโสในโครงการ TGC EMC บรรยายในหัวข้อ “การลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และการคมนาขนส่งที่ยั่งยืน”
นอกจากนี้ คุณปพนธนัย นันทชัชวาลย์กุล ที่ปรึกษาอาวุโสในโครงการ TGC EMC ได้บรรยายในหัวข้อ “การลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และการคมนาขนส่งที่ยั่งยืน” ซึ่งพูดถึงความเชื่อมโยงระหว่างการคมนาคมขนส่งและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หลักการหลีกเลี่ยง-เปลี่ยนแปลง-ปรับปรุง (Avoid-Shift-Improve) และแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคคมนาคมขนส่ง

ผู้แทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในกิจกรรมการคิดเชิงออกแบบ
จากนั้น ผู้เข้าร่วมประชุมได้ใช้เวลาครึ่งวันกับกิจกรรมการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) เพื่อเรียนรู้และฝึกฝนการใช้หลักการดังกล่าวในบริบทของการคมนาคมขนส่ง ซึ่งผู้เข้าร่วมได้ลองนำความท้าทายในท้องถิ่นของตนมาคิด ก่อนที่จะระบุผู้มีส่วนได้เสีย สำรวจต้นตอของปัญหา และหาทางแก้ไขอย่างสร้างสรรค์ กิจกรรมนี้ได้รับความสนใจอย่างมากและช่วยให้ผู้เข้าร่วมได้สะท้อนมุมมองและแนวคิดที่มีประโยชน์

(จากซ้ายไปขวา) ดร.วิศทวัสธ์ เกษเวชเจริญศุข ผู้เชี่ยวชาญจากสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) คุณสมพร เหมืองทอง นักวิชาการสุขาภิบาลชำนาญการ จากเทศบาลนครหาดใหญ่ และคุณตฤณวัสส์ สุวรรณปริค ผู้ประสานงานโครงการเชียงใหม่เมืองอัจฉริยะและนวัตกรรมอย่างยั่งยืนเทศบาลนครเชียงใหม่ บรรยายในหัวข้อ “กรณีศึกษาการขับเคลื่อนการประยุกต์ใช้นวัตกรรมเพื่อเมืองที่ยั่งยืนและปล่อยคาร์บอนต่ำในประเทศไทยและในต่างประเทศ”
การประชุมวันสุดท้ายมุ่งเน้นเรื่องการประยุกต์ใช้นวัตกรรมมีการบรรยายภายใต้หัวข้อ “กรณีศึกษาการขับเคลื่อนการประยุกต์ใช้นวัตกรรมเพื่อเมืองที่ยั่งยืนและปล่อยคาร์บอนต่ำในประเทศไทยและในต่างประเทศ” ดร.วิศทวัสธ์ เกษเวชเจริญศุข ผู้เชี่ยวชาญจากสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) ได้พูดถึงการดำเนินการแนวคิด City Lab ที่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศ ได้แก่ ปักกิ่ง เพนซิลเวเนีย และเชจู เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้และการดำเนินงานได้จริงของ City Lab จากนั้นคุณสมพร เหมืองทอง นักวิชาการสุขาภิบาลชำนาญการ จากเทศบาลนครหาดใหญ่ เล่าว่า เทศบาลนครหาดใหญ่ได้ดำเนินการเพื่อให้หาดใหญ่เป็นเมืองอัจฉริยะสีเขียว ด้านคมนาคม ผ่านการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า การดัดแปลงรถยนต์ไฟฟ้า และการเดินทางที่ไม่ใช้เครื่องยนต์ ในขณะที่ คุณตฤณวัสส์ สุวรรณปริค ผู้ประสานงานโครงการเชียงใหม่เมืองอัจฉริยะและนวัตกรรมอย่างยั่งยืนเทศบาลนครเชียงใหม่ ได้แบ่งปันประสบการณ์ในการนำแนวทางแก้ปัญหาในภาคคมนาคมขนส่งที่สร้างสรรค์มาใช้ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและปรับปรุงคุณภาพอากาศผ่านโครงการ “Chiang Mai City Lab” เพื่อให้เชียงใหม่กลายเป็นเมืองคาร์บอนต่ำ

เวทีเสวนาหัวข้อ “การประยุกต์ใช้นวัตกรรมและกลไกสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมเมืองที่ยั่งยืนและปล่อยคาร์บอนต่ำ” ผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ คุณสมพร เหมืองทอง จากเทศบาลหาดใหญ่ คุณอลงกต ศรีวิจิตรกมล ผู้อำนวยการกลุ่มขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจก จาก สส. คุณมนัสพงษ์ มั่งไคร้ ผู้จัดการส่งเสริมนวัตกรรม ฝ่ายโครงสร้างพื้นฐานนวัตกรรม จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ คุณอัครเดช วิเศษนคร หัวหน้างานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล จากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และคุณมารี-เลนา ฮุตฟิลส์ จากโครงการ Urban-Act ของ GIZ
นอกจากนั้นยังมีการจัดเวทีเสวนาส่งท้ายในหัวข้อ “การประยุกต์ใช้นวัตกรรมและกลไกสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมเมืองที่ยั่งยืนและปล่อยคาร์บอนต่ำ” ซึ่งได้มีการแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับความจำเป็นในการสร้างกลไกสนับสนุนที่ครอบคลุมและแข็งแกร่งเพื่อการบูรณาการนวัตกรรมให้เข้าไปอยู่ในการบริหารจัดการเมือง นโยบายภาครัฐ แหล่งเงินทุนภายในประเทศ และโอกาสในการเข้าถึงเงินทุนจากต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมความพยายามในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับท้องถิ่น ซึ่งอาจเป็นต้นตอของปัญหา
ประชุมปฏิบัติการครั้งนี้ได้นำเสนอหลักการใหม่ที่จะช่วยวิเคราะห์ปัญหาในท้องถิ่น โดยเฉพาะในภาคคมนาคมขนส่ง และประโยชน์ของการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการวางแผนการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน ทั้งนี้การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับท้องถิ่นมีความสำคัญ และมีส่วนช่วยในความพยายามของประเทศไทยที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนใน พ.ศ. 2593
โครงการ TGC EMC สนับสนุนความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี พ.ศ. 2593 โดยได้รับงบประมาณจากแผนงานปกป้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับสากล (IKI) ภายใต้กระทรวงเศรษฐกิจและการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMWK) โครงการ TGC EMC จะช่วยให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี การพัฒนานโยบาย และนวัตกรรมต้นแบบธุรกิจ ผ่าน 5 กลุ่มงาน ได้แก่ พลังงานหมุนเวียน คมนาคมขนส่ง การลดคาร์บอนในอุตสาหกรรม พลังงานชีวมวล และการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ดร.โดมินิกา คาลินอฟสกา
ผู้อำนวยการโครงการ TGC EMC
อีเมล: dominika.kalinowska(at)giz.de