ความร่วมมือไทย-เยอรมันหนุนฉลากสิ่งแวดล้อมภูฎาน ปูทางสู่ความยั่งยืน
ภูฏานตอกย้ำพันธกิจด้านความยั่งยืน เปิดตัวฉลากสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นโครงการที่พัฒนาโดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์แห่งภูฏาน (BSB) และหน่วยงานด้านการแข่งขันและกิจการผู้บริโภค (CCAA) ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม การค้า และการจ้างงาน (MoICE) โดยได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติ ความปลอดภัยทางปรมณูและคุ้มครองผู้บริโภค (BMUV) สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และประเทศไทย โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสนับสนุนการพัฒนาด้านการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืนในเอเชีย (ประเทศกัมพูชา สปป.ลาว ศรีลังกา เวียดนาม และภูฎาน) (SCP Outreach in Asia – The Next Five) โดยองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ)
โครงการนี้ได้ส่งเสริมให้มีการจัดกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถ เช่น การฝึกอบรมในหัวข้อการพัฒนาแผนงาน มาตรฐาน ISO 14024 การกำหนดหลักเกณฑ์ และการแลกเปลี่ยนความรู้กับประเทศไทย มีการให้รางวัลการใช้ฉลากสิ่งแวดล้อมรุ่นบุกเบิกนี้แก่ผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเริ่มจากผลิตภัณฑ์ซีเมนต์และเหล็กข้ออ้อยที่ผ่านกรรมวิธีทางความร้อน (TMT) งานเปิดตัวนี้จัดขึ้นที่โรงแรมอริยะ เมืองทิมพู โดยมีคุณนามกยัล ดอร์จี (Lyonpo Namgyal Dorji) รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม การค้า และการจ้างงาน (MoICE) และดร.อุล์ฟ เยคเคล (Ulf Jaeckel) ประธานด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหภาพยุโรปและระดับสากล ภายใต้กระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติ ความปลอดภัยทางปรมาณูและคุ้มครองผู้บริโภค สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMUV) เข้าร่วมงาน
คุณนามกยัล ดอร์จี เน้นย้ำถึงความสำคัญในการนำเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาใช้จริง โดยชี้ให้เห็นว่าการเปลี่ยนผ่านนี้นอกจากจะเป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเอื้อประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจอีกด้วย พร้อมเสริมว่า “ความคิดริเริ่มนี้จะเสริมสร้างให้เกิดวัฒนธรรมแห่งความยั่งยืน โดยภาคธุรกิจจะมีความก้าวหน้าที่ยั่งยืน ผู้บริโภคมีความรู้รอบด้าน และชุมชนจะได้รับประโยชน์จากสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลดีต่อสุขภาพมากขึ้น”
ดร.อุล์ฟ เยคเคล ผู้แทนจาก BMUV ชื่นชมความมุ่งมั่นของรัฐบาลภูฏานในการสร้างแผนงานฉลากสิ่งแวดล้อม และเน้นย้ำถึงการที่ภูฏานเป็นหนึ่งในประเทศแรก ๆ ที่บุกเบิกด้านความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยกล่าวว่า “การเปิดตัวฉลากสิ่งแวดล้อมนี้เป็นก้าวสำคัญที่จะนำภูฏานไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน”
การพัฒนาฉลากสิ่งแวดล้อมของภูฎานยึดตามมาตรฐาน ISO 14024 จึงมั่นใจได้ว่าการประเมินผลิตภัณฑ์จะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กวดขันด้านการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการใช้งาน ยกระดับความโปร่งใสและความน่าเชื่อถือ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้ธุรกิจประเภทต่าง ๆ หันมาใช้หลักปฏิบัติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น พร้อมทั้งสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภคในการเลือกผลิตภัณฑ์ที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมในเวลาเดียวกัน
วิลาสินี ภูนุชอภัย
ผู้อำนวยการร่วมโครงการ SCP Outreach
อีเมล:wilasinee.poonuchaphai(at)giz.de