ความเป็นมา
รายงานดัชนีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก (Global Climate Risk Index) ประจำปี พ.ศ. 2560 ระบุว่าประเทศไทยติดอันดับที่ 10 ของกลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การบริหารจัดการทรัพยากรนํ้าอย่างยั่งยืนจะเป็นเรื่องที่ยากมากขึ้นทุกปีเนื่องด้วยการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร การขยายตัวของชุมชนเมือง การเติบโตทางเศรษฐกิจ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อรับมือกับความท้าทายนี้ ประเทศไทยจึงส่งเสริมการสร้างภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระดับประเทศและภูมิภาค โดยได้จัดส่งข้อเสนอการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (NDC) ภายใต้ความตกลงปารีสซึ่งระบุให้มาตรการการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างบูรณาการเป็นมาตรการสำคัญในการปรับตัวเพื่อให้บรรลุถึงความมั่นคงทางด้านน้ำ การลดความเสี่ยงจากอุทกภัยและภัยแล้ง รวมทั้งการจัดการสภาพภูมิอากาศที่รุนแรง
วัตถุประสงค์
เพื่อสนับสนุนกรอบการดำเนินงานระดับประเทศในการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างบูรณาการภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสนับสนุนการใช้มาตรการการปรับตัวโดยอาศัยระบบนิเวศเพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงอุทกภัยทั้งในระดับประเทศและระดับลุ่มน้ำ
แนวทางการดำเนินงาน
การพัฒนานโยบายระดับประเทศ
โครงการช่วยบูรณาการการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งรวมถึงการแก้ปัญหาโดยใช้ระบบนิเวศเข้าสู่ยุทธศาสตร์และแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระดับชาติ รวมทั้งพัฒนาแนวทางการปฏิบัติการจัดทำแผนแม่บทลุ่มน้ำภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อปรับใช้ในลุ่มน้ำทั้ง 22 ลุ่มน้ำของประเทศไทย
การปฏิบัติงานในระดับจังหวัดและท้องถิ่น
โครงการช่วยสนับสนุนการส่งเสริมศักยภาพด้านเทคนิคและการบริหารจัดการเพื่อเพิ่มการเข้าถึงข้อมูลความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และพัฒนาแผนแม่บทลุ่มน้ำที่คำนึงถึงความอ่อนไหวของสภาพภูมิอากาศ ใช้แนวคิดด้านการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยใช้มาตรการการปรับตัวโดยอาศัยระบบนิเวศเป็นกลยุทธ์ที่แนะนำการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับลุ่มน้ำ
การติดตามประเมินผล
โครงการพัฒนากรอบการทำงานด้านการติดตามและรายงานผลของมาตรการการปรับตัวในภาคส่วนน้ำ เพื่อให้สอดคล้องกับการติดตามและประเมินผลของกระบวนการการดำเนินงานของแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (NAP) และการรายงานผลด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับชาติภายใต้ความตกลงปารีส (Paris Agreement)
มาตรการด้านการเงิน
โครงการพัฒนาและนำเสนอทางเลือกของกลไกทางการเงินระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ในการดำเนินมาตรการด้านการปรับตัวเพื่อใช้เป็นต้นแบบในด้านการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคส่วนน้ำ
ความร่วมมือระหว่างประเทศ
โครงการสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือ และแลกเปลี่ยนการเรียนรู้เกี่ยวกับแนวปฏิบัติที่ดีในระดับชาติและนานาชาติของประสบการณ์ในประเทศไทยที่เกี่ยวกับด้านการบูรณาการด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคส่วนน้ำอย่างเป็นระบบ
ผลการดำเนินโครงการที่ผ่านมา
- การร่วมกันพัฒนาเครื่องมือเพื่อใช้ประเมินเรื่องการบูรณาการด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและการปรับตัวโดยอาศัยระบบนิเวศในภาคส่วนน้ำ และเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เพื่อให้เกิดการพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายร่วมกันเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคส่วนน้ำ
- ลุ่มน้ำยมซึ่งอยู่บริเวณภาคเหนือตอนล่าง และลุ่มน้ำสะแกกรังซึ่งอยู่ในภาคกลางของประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็นพื้นที่นำร่องในการดำเนินกิจกรรมของโครงการเพื่อสนับสนุนการวางแผนโดยมีการวิเคราะห์ความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ และการพัฒนามาตรการการปรับตัวโดยอาศัยระบบนิเวศ
- การพัฒนาความร่วมมือด้านการวิจัยระหว่าง สทนช. และมหาวิทยาลัยที่ได้รับคัดเลือก เพื่อสนับสนุนการพัฒนาวิธีการติดตามและประเมินผลต่อผลกระทบและผลประโยชน์ของมาตรการการปรับตัวโดยอาศัยระบบนิเวศแบบใช้ระบบดิจิทัล รวมทั้งจัดหาหลักฐานเชิงวิทยาศาสตร์ที่แสดงให้เห็นความสำคัญของระบบนิเวศที่มีบทบาทในการสร้างภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในลุ่มน้ำ
สนับสนุนงบประมาณโดย
กระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติ ความปลอดภัยทางปรมาณูและคุ้มครองผู้บริโภค สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMUV)
ประเทศ
ไทย
หน่วยงานร่วมดำเนินงาน
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กรมทรัพยาการน้ำ (ทน.) กรมชลประทาน (ชป.) กรมโยธาธิการและผังเมือง (ยผ.)
ระยะเวลาดำเนินโครงการ
มกราคม 2561 – ธันวาคม 2565
รับชมวิดีโอเกี่ยวกับโครงการ