ในโอกาสนี้ ผู้เชี่ยวชาญจากกรมวิชาการเกษตร สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และสถาบันท่องเที่ยวโดยชุมชน ยังได้เข้าร่วมเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์การนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปปรับใช้ในการบริหารโครงการความร่วมมือในประเทศต่างๆ อีกด้วย
นอกเหนือจากการเสวนาแล้ว ยังมีการนำเสนอหลักการและเครื่องมือต่างๆ ผ่านกิจกรรม Market Place ซึ่งเป็นฐานการเรียนรู้แบบหมุนเวียนจำนวน 7 ฐาน ได้แก่ ฐานหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ฐานการออกแบบและวางแผนโครงการแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ ฐานการส่งเสริมการมีส่วนร่วมและความเป็นเจ้าของ ฐานการพัฒนาศักยภาพเพื่อการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน ฐานการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ ฐานปัจจัยความสำเร็จในการบริหารโครงการ และฐานการติดตามและประเมินผลแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์
ช่วงท้ายของการสัมมนาได้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้เสนอแนะแนวทางปฏิบัติที่ดี สำหรับการบริหารจัดการโครงการให้บรรลุเป้าหมายทั้ง 5 ด้าน ได้แก่ ความสอดคล้อง ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ความยั่งยืน และผลกระทบ รวมทั้งกำหนดแนวทางการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานเพื่อให้โครงการความร่วมมือเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งความรู้ บทเรียน แนวทางปฏิบัติที่ดี และข้อเสนอแนะต่างๆ จากการสัมมนานี้ จะเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนและกำหนดทิศทางการประสานงานในโครงการของกรมความร่วมมือระหว่างประเทศต่อไป