ตัวแทนไทยดูงานหลักการความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นของผู้ผลิตในยุโรป เพื่อพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืนและแก้ปัญหาขยะพลาสติกระดับโลก

คณะผู้แทนไทย ประกอบด้วยตัวแทนจากภาครัฐ นำโดยกรมควบคุมมลพิษ ภาคเอกชน และภาควิชาการ ร่วมศึกษาดูงานหลักการความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility: EPR) ในยุโรปเมื่อวันที่ 3-9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 เพื่อสนับสนุนการพัฒนาร่างพระราชบัญญัติการจัดการบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืนของประเทศไทย ซึ่งดำเนินการโดยกรมควบคุมมลพิษ โดยได้บูรณาการหลักการ EPR ไว้ในกฎหมายดังกล่าว พร้อมทั้งสนับสนุนกรอบการดำเนินงานของประเทศไทยในการเจรจาภายใต้คณะกรรมการเจรจาระหว่างรัฐบาล (INC) สำหรับสนธิสัญญาว่าด้วยพลาสติกโลก ซึ่งการศึกษาดูงานครั้งนี้ประสบความสำเร็จอย่างมาก
คณะผู้แทนไทยได้รับความรู้และประสบการณ์ตรงจากการเยี่ยมชมหลายหน่วยงาน เช่น คณะกรรมาธิการยุโรป กระทรวงสิ่งแวดล้อม โรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์ โรงงานคัดแยกและรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ องค์กรความรับผิดชอบของผู้ผลิต (Producer Responsibility Organizations) และองค์กรระหว่างประเทศในประเทศเดนมาร์ก เยอรมนี และเบลเยียม โดยได้เรียนรู้เกี่ยวกับกฎหมายของประเทศในยุโรป ตลอดจนแนวปฏิบัติที่เป็นนวัตกรรมด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนและการจัดการบรรจุภัณฑ์ การศึกษาดูงานครั้งนี้ยังช่วยส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เพิ่มความเข้าใจเกี่ยวกับระบบ EPR ที่มีประสิทธิภาพ และวางรากฐานสำหรับความร่วมมือในอนาคตที่มุ่งปรับปรุงกลยุทธ์การจัดการขยะและความยั่งยืนของประเทศไทย

ผลลัพธ์ที่น่าสนใจคือขั้นตอนต่อไปของแต่ละหน่วยงานที่ได้หารือร่วมกัน หน่วยงานภาครัฐได้พูดถึงการพัฒนารายละเอียดเกี่ยวกับพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งที่สามารถเพิ่มเติมในร่างกฎหมายได้ รวมถึงการบูรณาการการทำงานของหน่วยงานภาครัฐในทุกระดับ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เกี่ยวกับระบบการจัดการขยะในปัจจุบันที่ยังไม่ได้สอดคล้องกับแนวทาง EPR อย่างเต็มรูปแบบ อีกประเด็นสำคัญคือ เนื่องจาก EPR เป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ในการจัดหาเงินทุนสำหรับระบบการจัดการขยะ ตัวแทนจากภาครัฐที่ทำงานด้านดังกล่าวได้แสดงความคิดเห็นว่าจำเป็นต้องให้ความชัดเจนในเรื่องภาษีสำหรับแต่ละหน่วยงานภายใต้โครงสร้าง EPR ที่กำลังจะเกิดขึ้น และพิจารณามาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนและขับเคลื่อนนโยบาย EPR ของประเทศไทย โดยขั้นตอนต่อไปจะมุ่งเน้นไปที่การเสริมสร้างความรู้ภายในองค์กร

ในส่วนของภาคเอกชนได้กล่าวว่าจะทำงานร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ ยังมีแผนเปิดตัวโครงการการให้ความรู้และการสื่อสารต่างๆ ร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนจากหน่วยงานที่ดำเนินการ EPR โดยสมัครใจได้กล่าวว่าโครงการของพวกเขากำลังอยู่ในช่วงการทดลอง และข้อมูลเชิงลึกที่ได้รับจากการศึกษาดูงานจะนำไปปรับใช้กับโมเดลเหล่านี้ รวมถึงโครงการที่กำลังดำเนินการและโครงการใหม่ต่อไป เช่น การศึกษาความเป็นไปได้ของศูนย์รีไซเคิลวัสดุ (Material Recovery Facility: MRF) ในกรุงเทพฯ และเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ทั้งนี้ ประเทศไทยจำเป็นต้องจัดตั้งและดำเนินการระบบ EPR ให้สอดคล้องกับบริบทของประเทศ ภาคส่วนเอกชนจะทำงานอย่างใกล้ชิดกับพันธมิตรในโครงการต่างๆ รวมถึง GIZ สถานเอกอัครราชทูตเดนมาร์กประจำประเทศไทย และสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมแห่งเดนมาร์กเพื่อขยายขอบเขตการทำงานต่อไป
ในส่วนของภาควิชาการ ได้แสดงการสนับสนุนภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคมในด้านความรู้และความเชี่ยวชาญอย่างเต็มที่ รวมถึงการเผยแพร่ความรู้และส่งเสริมการหารือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียนและแนวทาง EPR อีกด้วย

ในการศึกษาดูงานในประเทศเยอรมนี GIZ ได้จัดการประชุมเรื่อง EPR ณ สถาบันนานาชาติ วิทยาเขตค๊อทเทนฟอร์ส (Campus Kottenforst) เมืองบอนน์ ประเทศเยอรมนี โดยมีตัวแทนจากไทย เดนมาร์ก และเยอรมนี ร่วมกันแลกเปลี่ยนความรู้ในการประชุมด้วย คณะผู้แทนไทยได้เน้นย้ำถึงประเด็นสำคัญที่ต้องดำเนินการเพื่อให้บรรลุ EPR ในประเทศไทย และได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญชาวเยอรมันและเดนมาร์ก โดยได้รับการสนับสนุนจากวิทยากรและองค์กรทั้งหมดที่ร่วมแบ่งปันความรู้ อภิปรายอย่างเปิดกว้าง และเรียนรู้ร่วมกันในครั้งนี้ พร้อมกันนี้ทางคณะผู้แทนไทยยังได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นและได้ร่วมรับประทานอาหารมื้อค่ำกับเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์กและกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยมอีกด้วย

การศึกษาดูงานเรื่อง EPR ครั้งนี้จัดโดยความร่วมมือระหว่าง GIZ ประจำประเทศไทย ภายใต้โครงการ MA-RE-DESIGN ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากกระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติ ความปลอดภัยทางปรมณูและคุ้มครองผู้บริโภค (BMUV) สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี สถานทูตเดนมาร์กประจำประเทศไทย และสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมแห่งเดนมาร์ก