TGED สนับสนุนการแลกเปลี่ยนทางธุรกิจระหว่างไทย-เยอรมัน ผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมไทยใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ
เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2567 องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย ผ่านโครงการ Thai-German Energy Dialogue (TGED) จัดการประชุมในหัวข้อ “เทคโนโลยีและวิธีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพของเยอรมันเพื่อการลดคาร์บอนในภาคอุตสาหกรรม” เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจไทยและเยอรมนี และเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงานของภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทย
คุณวรนล จันทร์ศิริ ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวเปิดงานโดยเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยและเยอรมนีในการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน โดยเฉพาะการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในภาคอุตสาหกรรมเพื่อบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศ ซึ่งการแลกเปลี่ยนความรู้ ผ่านความร่วมมือดังกล่าวเป็นประโยชน์อย่างมากต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของไทย
ขณะที่คุณโยฮันเนส แคร์เนอร์ ที่ปรึกษาความร่วมมือทางเศรษฐกิจ สถานเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ประจำประเทศไทย เน้นย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือระหว่างสองประเทศ โดยระบุว่าการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพไม่เพียงแต่สนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ยังช่วยเสริมสร้างการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างสหภาพยุโรปและประเทศไทยอีกด้วย นอกจากนี้ ภาคอุตสาหกรรมของไทยจะได้ประโยชน์จากการนำแนวทางการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมาใช้ เนื่องจากกลไกการปรับคาร์บอนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) จะเปลี่ยนแปลงพลวัตการค้าโลกอย่างมีนัยสำคัญ
คุณอาทิตย์ เวชกิจ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เน้นย้ำความสำคัญของการบรรลุเป้าหมายการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ควบคู่ไปกับการลดการใช้พลังงานผ่านเทคโนโลยีและวิธีการที่มีประสิทธิภาพ โดยนำเสนอความสำเร็จของประเทศเยอรมนีในการใช้พลังงานน้อยลงเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศให้สูงขึ้น ในทางตรงกันข้าม ประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทาย เนื่องจากผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเติบโตเพิ่มขึ้นไปในทิศทางเดียวกันกับการใช้พลังงาน
การประชุมครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมกว่า 50 ท่าน จากกระทรวงพลังงาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และบริษัทเอกชนของไทยที่ต้องการศึกษาวิธีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในอุตสาหกรรม ในงานนี้ บริษัทจากเยอรมนียังได้นำเสนอเทคโนโลยีต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องของไทย คุณชัชพีร์ บังแสง จาก บริษัท ซีเมนส์ จำกัด (Siemens Limited) เน้นย้ำถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน โดยบริษัทต่าง ๆ ควรดำเนินการด้านประสิทธิภาพพลังงานอย่างรอบด้านผ่านกระบวนการดิจิทัลและการกำหนดมาตรฐาน คุณมาร์คุส ฮอนส์ จากบริษัท MAN Energy Solutions นำเสนอนวัตกรรมเทคโนโลยีปั๊มความร้อน (heat pump) สำหรับอุตสาหกรรมเพื่อบรรลุเป้าหมายด้านประสิทธิภาพพลังงานและความยั่งยืน คุณเบเนดิกต์ ไชย จากบริษัท Kaeser Kompressoren กล่าวถึงความสำเร็จของนวัตกรรมดิจิทัลในการพลิกโฉมการจัดการพลังงานและประสิทธิภาพของเครื่องจักรผลิตอากาศอัดด้วยการอัดแก๊ส (compressor)
ในช่วงสุดท้ายของการประชุม คุณสุธรรม เกษแก้วเกลี้ยง จากบริษัท โรเบิร์ต บ๊อช จำกัด – อินดัสเตรียล ฮีต (Robert Bosch Ltd. – Industrial Heat) และคุณธีรยุทธ์ หนูแดง จากบริษัทกรไทย ได้แสดงให้เห็นถึงผลลัพธ์ของการบรรลุเป้าหมายด้านพลังงานด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในหม้อไอน้ำ (steam boilers) นอกจากนี้ คุณเอ็ดมันด์ เชีย จากบริษัท MAN Energy Solutions และคุณฉัฏฐชัย ไชยาธิโรช จากบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (CPF) ยังได้แบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานด้วยเครื่องยนต์ลูกสูบสันดาปภายใน (gas engine) สำหรับประเทศไทย การใช้ชีวมวลเพื่อผลิตก๊าซชีวภาพใช้ในเครื่องยนต์ลูกสูบสันดาปภายในซึ่งถือเป็นกุญแจสำคัญในการบรรลุเป้าหมายการลดคาร์บอนในอุตสาหกรรม
โครงการ Thai-German Energy Dialogue (TGED) สนับสนุนโดยกระทรวงเศรษฐกิจและการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMWK) และดำเนินการโดย GIZ เป็นส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นของประเทศเยอรมนีที่จะสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานหมุนเวียนในระดับนานาชาติ ความร่วมมือนี้เป็นการร่วมมือระหว่างสองประเทศ พร้อมทั้งยังเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ทางเทคนิค เพื่อสร้างแนวทางที่เป็นรูปธรรมในการพัฒนาประสิทธิภาพการใช้พลังงานในภาคเอกชน
ทิม นีส์
ผู้จัดการโครงการ TGED
อีเมล:tim.nees(at)giz.de