คณะกรรมการกำกับโครงการ TGC EMC วางแนวทางเชิงกลยุทธ์เพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานในหลายภาคส่วน

- โครงการ TGC EMC จัดการประชุมคณะกรรมการกำกับโครงการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อผลักดันความร่วมมือระหว่างภาคส่วน ในการเปลี่ยนผ่านพลังงาน เร่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของไทย
- คณะกรรมการกำกับฯ ได้อนุมัติแผนการดำเนินงานของโครงการพร้อมให้คำแนะนำในการปรับแผนกิจกรรมให้สอดคล้องกับเป้าหมายสำคัญของประเทศในแต่ละภาคส่วน ได้แก่ ภาคพลังงาน ภาคคมนาคมขนส่ง ภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรม และภาคการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- คณะกรรมการกำกับฯ ได้เห็นชอบการจัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือ (MoU) ระหว่าง 8 หน่วยงาน เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานโครงการ
เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2567 โครงการความร่วมมือไทย-เยอรมันด้านพลังงาน คมนาคม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (TGC EMC) จัดประชุมคณะกรรมการกำกับโครงการ ณ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) ในกรุงเทพฯ โดยมี ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรม เป็นประธาน การประชุมครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อรับทราบสถานการณ์ดำเนินงานโครงการ พิจารณาเห็นชอบแผนงาน รวมถึงให้ข้อเสนอแนะเชิงกลยุทธ์ต่อทิศทางและแผนการดำเนินงานโครงการ
นอกจากกรม สส. แล้ว คณะกรรมการกำกับโครงการ TGC EMC ประกอบด้วยผู้แทนหน่วยงานภาครัฐที่ร่วมดำเนินงานโครงการ ได้แก่ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) สังกัดกระทรวงพลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) สังกัดกระทรวงคมนาคม สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรุงเทพมหานคร (กทม.) กรมความร่วมมือระหว่างประเทศของไทย (TICA) สังกัดกระทรวงการต่างประเทศ และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ)

TGC EMC เป็นโครงการความร่วมมือที่ครอบคลุมหลายภาคส่วน เพื่อส่งเสริมการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านการดำเนินงานในห้ากลุ่มงาน ได้แก่ พลังงานหมุนเวียน คมนาคมขนส่ง การลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคอุตสาหกรรม พลังงานชีวมวล และการเงินด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Thai Climate Initiative: ThaiCI) โดยโครงการอยู่ระหว่างการดำเนินงานตามแผนกิจกรรมต่างๆ เช่น แผนระบบพลังงานแบบบูรณาการสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net-zero emissions) การพัฒนานโยบายเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และโครงสร้างพื้นฐานสถานีอัดประจุสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า การพัฒนาแผนที่นำทางการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกลุ่มอุตสาหกรรมย่อยที่สำคัญ และการปรับเปลี่ยนเชื้อเพลิงฟอสซิล เป็นเชื้อเพลิงชีวมวลจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร นอกจากนี้โครงการยังตระหนักถึงความจำเป็นในการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานผ่านการเชื่อมโยงภาคส่วนต่างๆ โดยจะดำเนินโครงการนำร่องในพื้นที่ทดลองโครงการ (City Lab) เพื่อเร่งการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และขยายผลจากการดำเนินการนำร่องไปยังพื้นที่ศักยภาพอื่นๆ อีกทั้งกองทุน ThaiCI ยังสนับสนุนให้เกิดกลไกทางการเงินเพื่อสนับสนุนโครงการด้านการลดก๊าซเรือนกระจกและการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอีกด้วย

“นอกจากการสนับสนุนทางเทคโนโลยีที่จำเป็นต่อการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานอย่างยั่งยืน และข้อเสนอแนะด้านนโยบายในภาคส่วนต่างๆ แล้ว โครงการจะมุ่งเน้นการนำร่องในพื้นที่ทดลองโครงการ (City Lab) ซึ่งถือเป็นโอกาสในการสร้างนวัตกรรมและขับเคลื่อนความร่วมมือในภาคส่วนพลังงาน การขนส่ง อุตสาหกรรม และชีวมวล นอกจากนี้ ThaiCI ยังสนับสนุนกองทุนสิ่งแวดล้อมในกลไกลทางการเงินด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมีศักยภาพที่จะได้รับการลงทุนเพิ่มเติมจากทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ” ดร.พิรุณ กล่าว
คณะกรรมการกำกับ ฯ ยังได้เห็นชอบในการลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือ (MoU) อย่างเป็นทางการ ระหว่างหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องของโครงการและ GIZ โดยคาดว่าพิธีลงนามดังกล่าวจะมีขึ้นในไตรมาสสุดท้ายของปี พ.ศ. 2567
โครงการ TGC EMC ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากแผนงานปกป้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับสากล (IKI) ภายใต้กระทรวงเศรษฐกิจและการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMWK) สนับสนุนประเทศไทยมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี พ.ศ. 2593 ผ่านการดำเนินงานในห้ากลุ่มงาน ได้แก่ พลังงานหมุนเวียน คมนาคมขนส่ง การลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอุตสาหกรรม พลังงานชีวมวล และการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ThaiCI) โดยให้การสนับสนุนด้านเทคโนโลยี ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย และโมเดลธุรกิจเชิงนวัตกรรม