TGC EMC จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อวางแผนปฏิบัติงานและการดำเนินการสำหรับปี 2568

วันที่ 4 – 6 มีนาคม พ.ศ. 2568 โครงการความร่วมมือไทย-เยอรมนี ด้านพลังงาน คมนาคม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Thai-German Cooperation on Energy, Mobility and Climate: TGC EMC) จัดงานประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อวางแผนงานแบบบูรณาการ โดยได้แลกเปลี่ยนความคืบหน้าของโครงการในปี พ.ศ. 2567 และหารือถึงแผนปฏิบัติงานต่างๆ สำหรับปี พ.ศ. 2568 โดยมีผู้แทนจากองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) และองค์กรร่วมดำเนินโครงการ ได้แก่ Agora Energiewende, Agora Verkehrswende, สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (Electric Vehicle Association of Thailand: EVAT), สถาบันวิจัยเฟราน์โฮเฟอร์ (Fraunhofer), มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.), สมาคมพลังงานหมุนเวียนไทย (อาร์อี 100) และวิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมาร์ตกริดเทคโนโลยี (SGTech) เข้าร่วมประชุมดังกล่าว
การประชุมเชิงปฏิบัติการนี้เริ่มต้นขึ้นในวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2568 ด้วยการหารือเชิงกลยุทธ์ระดับผู้บริหาร ซึ่งบุคลากรระดับผู้บริหารในโครงการได้ร่วมกันหารือเพื่อทบทวนความคืบหน้าของโครงการ TGC EMC พร้อมแลกเปลี่ยนในประเด็นที่ท้าทาย และพูดคุยถึงโอกาสต่างๆ ที่จะส่งเสริมแนวทางของโครงการให้ก้าวไปข้างหน้าต่อไป หลังจากหารือช่วงเช้า องค์กรทั้งหมดที่ร่วมดำเนินโครงการและ GIZ ได้ร่วมการอภิปรายตลอดทั้งวันที่เหลือเพื่อทบทวนความสำเร็จและความท้าทายของโครงการในปี พ.ศ. 2567

งานประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อวางแผนงานแบบบูรณาการวันที่ 1 เน้นทบทวนความคืบหน้า ความท้าทาย และบทเรียนที่ได้จากการดำเนินโครงการ TGC EMC ในปี พ.ศ. 2567
พ.ศ. 2568 ถือได้ว่าปีที่สำคัญและเป็น “ปีแห่งการสัมฤทธิ์ผลโครงการ” เพราะ TGC EMC จะนำผลลัพธ์และผลกระทบเชิงบวกที่ได้วางแผนไว้ไปสนับสนุนเป้าหมายการดำเนินงานด้านสภาพภูมิอากาศและการลดคาร์บอนของประเทศไทย งานประชุมในวันที่สองจึงเน้นไปที่การผนวกรวมแผนปฏิบัติงานในปีนี้ของแต่ละกลุ่มงาน ซึ่งผู้เข้าร่วมได้หารือถึงความท้าทาย ความเสี่ยง และโอกาสในการกำหนดทิศทางของโครงการ โดยอาศัยความรู้ความเข้าใจจากวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้และแผนปฏิบัติงานของแต่ละกลุ่มงาน


งานประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อการวางแผนงานแบบบูรณาการวันที่ 2 ผลักดันการหารือข้ามภาคส่วนและการแลกเปลี่ยนแผนปฏิบัติงานสำหรับการดำเนินโครงการในปี พ.ศ. 2568
วันสุดท้ายของงานประชุมเมื่อวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2568 มุ่งสำรวจประเด็นและหัวข้ออื่นๆ ที่โครงการจะทำให้เกิดผลกระทบเชิงบวกได้ โดยเน้นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (digitalisation) ความเท่าเทียมทางเพศและการมีส่วนร่วม ในพื้นที่ที่สามารถสำรวจได้ ผู้เข้าร่วมยังได้หารือถึงแนวคิดที่จะช่วยสนับสนุนการทำงานในหัวข้อการบูรณาการหลายภาคส่วน (Sector Coupling) และการจัดทำเวทีหารือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียระดับประเทศ (National Stakeholder) ซึ่งถือเป็นหนึ่งในผลลัพธ์หลักของโครงการ ที่จะสนับสนุนความร่วมมือเพื่อหาแนวทางในการลดการปล่อยคาร์บอนและการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของประเทศไทย

งานประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อการวางแผนงานแบบบูรณาการวันที่ 2 สำรวจหัวข้อและกิจกรรมหลากหลายภาคส่วนเพื่อสนับสนุนการจัดเวทีหารือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายในประเทศและหัวข้อการบูรณาการหลากหลายภาคส่วน (Sector Coupling)
นอกจากนี้ ยังมีการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการย่อยเรื่องการสื่อสารเชิงกลยุทธ์ในช่วงบ่ายของวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2568 ซึ่งเน้นหารือในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับงานด้านการสื่อสารของโครงการ โดยผู้เข้าร่วมได้อภิปรายแบบสร้างสรรค์เพื่อสำรวจแนวทางเชิงกลยุทธ์ที่สำคัญ พร้อมระบุความท้าทายและโอกาส และระดมความคิดเพื่อส่งเสริมการทำงานด้านการสื่อสารและการเข้าถึงโครงการ TGC EMC

ประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องการสื่อสารเชิงกลยุทธ์โครงการ TGC EMC ส่งเสริมการพูดคุยถึงวิธีการพัฒนาการสื่อสารและการเผยแพร่โครงการ TGC EMC ในระดับต่างๆ
ตั้งแต่เปิดตัวในปี พ.ศ. 2566 โครงการ TGC EMC ได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานรัฐผู้ร่วมดำเนินโครงการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญจากภาคส่วนต่างๆ ในประเทศไทยเพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานและการลดการปล่อยคาร์บอนภายในประเทศ งานประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อการวางแผนงานแบบบูรณาการของโครงการ เป็นพื้นที่การประชุมประจำปีที่เชิญสมาชิกในทีมจากองค์กรที่ร่วมดำเนินโครงการต่างๆ และ GIZ มาร่วมหารือเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในโครงการ พร้อมรับมือกับความท้าทาย และรับรองว่าการดำเนินโครงการจะเป็นไปอย่างสอดคล้องกันและมีประสิทธิผลในปีถัดไป
โครงการ TGC EMC ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากแผนงานปกป้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับสากล (IKI) ภายใต้กระทรวงเศรษฐกิจและการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMWK) สนับสนุนให้ประเทศไทยมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี พ.ศ. 2593 ผ่านการดำเนินงานในห้ากลุ่มงาน ได้แก่ พลังงานหมุนเวียน คมนาคมขนส่ง การลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอุตสาหกรรม พลังงานชีวมวล และการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ThaiCI) โดยให้การสนับสนุนทั้งด้านเทคโนโลยี ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย และโมเดลธุรกิจเชิงนวัตกรรมผ่านหลักบูรณาการหลายภาคส่วน
อินซ่า อิลเก้น
ผู้อำนวยการโครงการ TGC EMC
อีเมล: insa.illgen(at)giz.de