เปิดตัวโครงการ TGC EMC กลุ่มงานพลังงานชีวมวล ชูการจัดการวัสดุเหลือใช้จากข้าวและอ้อยเพื่อลดการเผาในภาคเกษตร ณ จังหวัดนครสวรรค์

งานเปิดตัวโครงการ TGC EMC กลุ่มงานพลังงานชีวมวล ณ จังหวัดนครสวรรค์
เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2567 องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ภายใต้โครงการความร่วมมือไทย – เยอรมันด้านพลังงาน คมนาคม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลุ่มงานพลังงานชีวมวล (TGC EMC Biomass) จัดงานเปิดตัวโครงการฯ เพื่อประกาศจุดมุ่งหมายในการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนโดยส่งเสริมการแปรรูปวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่มาจากการปลูกข้าวและอ้อยเป็นพลังงานชีวมวล ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดมลพิษทางอากาศจากการเผาในพื้นที่การเกษตร อีกทั้งเพิ่มช่องทางสร้างรายได้ให้เกษตรกรรายย่อยในประเทศไทย

คุณทวี เสริมภักดีกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงานที่จัดขึ้น ณ ห้องสัมมนา กองเสบียงฟาร์ม อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ โดยมี ดร.กาญจนา ขวัญเมือง รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ดร.ชิษณุชา บุดดาบุญ รองอธิบดีกรมการข้าว คุณครองศักดิ์ สงรักษา รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร คุณบดินทร์ เกษมศานติ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ รวมถึงแขกผู้มีเกียรติจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนเกษตรกรในพื้นที่กว่า 150 ท่าน ร่วมเป็นสักขีพยานในงานเปิดตัวครั้งนี้

ภาพหมู่ผู้เข้าร่วมงานเปิดตัวโครงการ TGC EMC กลุ่มงานพลังงานชีวมวล ณ ห้องสัมมนา กองเสบียงฟาร์ม จังหวัดนครสวรรค์

คุณทวี เสริมภักดีกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ กล่าวเปิดงาน
จังหวัดนครสวรรค์เป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีการปลูกข้าวและอ้อยมากที่สุดในประเทศไทย จึงมีวัสดุเหลือใช้จากฟางข้าวและใบอ้อยเป็นจำนวนมาก คุณทวี เสริมภักดีกุล ได้กล่าวถึงความสำคัญของการนำทรัพยากรดังกล่าวมาแปรรูปให้เกิดประโยชน์ เช่น การนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาแปรรูปเป็นพลังงานเชื้อเพลิงชีวมวลเพื่อผลิตไฟฟ้าหรือพลังงานความร้อนในอุตสาหกรรมหรือโรงไฟฟ้าชีวมวล ซึ่งนอกจากจะเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับวัสดุเหล่านี้ ยังสามารถลดปัญหามลพิษอันเกิดจากการเผาในที่โล่ง และเป็นทางเลือกให้เกษตรกรได้สร้างรายได้เสริมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต
โดยคุณทวีได้กล่าวเสริมในพิธีเปิดงานถึงการเข้าร่วมโครงการฯ ว่า “จังหวัดนครสวรรค์มีความพร้อมและยินดีอย่างยิ่งที่จะเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้ เรามีทรัพยากรที่เหมาะสม ทั้งในด้านเกษตรกรรมและการแปรรูปพลังงาน รวมถึงมีความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ที่จะช่วยให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้”
ภายในงานเปิดตัวโครงการฯ ได้มีการจัดทอล์กโชว์ที่สร้างความตระหนักรู้ถึงผลกระทบของปัญหาทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการเผาในพื้นที่เกษตร พร้อมกับการผลักดันองค์ความรู้ในการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนผ่านการจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อในรูปแบบต่างๆ รวมถึงแนวทางในการสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร โดยมีแขกรับเชิญผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายสถาบันและหน่วยงานให้เกียรติมาเป็นวิทยากรร่วมแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ ดังนี้
- รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร จากมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) บรรยายในหัวข้อ“การจัดการวัสดุการเกษตร: แนวทางสู่ระบบเกษตรเท่าทันภูมิอากาศ
- คุณสุวารี สมีเพ็ชร์ ผู้จัดการกลุ่มวิสาหกิจชุมชนข้าวอินทรีย์บ้านท้องคลอง อำเภอเก้าเลี้ยว จังหวัดนครสวรรค์ บรรยายในหัวข้อ “เรียนรู้จากผืนดิน: การจัดการฟางข้าวและตอซังตามแนวทางเกษตรอินทรีย์”
- คุณนาวิน พุ่มนาค ประธานนาแปลงใหญ่ข้าวบ้านหนองอ้อ โครงการฟางทองคำ บรรยายในหัวข้อ “แลกเปลี่ยนบทเรียนธุรกิจฟางข้าวจากโครงการ “ฟางทองคำ”
- รศ.ดร.สุนีรัตน์ ฟูกุดะ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) บรรยายในหัวข้อ“พลังงานสะอาด สร้างรายได้จากชีวมวลฟางข้าวและใบอ้อย”
- คุณปริญญ์ ศิริวิริยะกุล ผู้จัดการโรงงาน บริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บรรยายในหัวข้อ “การเพิ่มมูลค่าวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเพื่อผลิตพลังงาน”

รศ.ดร.สุนีรัตน์ ฟูกุดะ กับหัวข้อการบรรยายเรื่อง “พลังงานสะอาด สร้างรายได้จากชีวมวลฟางข้าวและใบอ้อย”

คุณลิซ่า เฟาสต์ (ที่ 3 จากขวา) ผู้จัดการโครงการ TGC EMC กลุ่มงานพลังงานชีวมวล ร่วมถ่ายภาพกับวิทยากรทั้ง 5 ท่าน
นอกเหนือจากการแบ่งปันองค์ความรู้ที่นำโดยเกษตรกร หน่วยงานภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคเอกชน งานเปิดตัวโครงการฯ นี้ยังเปิดพื้นที่ให้นักศึกษาและประชาชนได้มีส่วนร่วมแสดงความสามารถในการแสดงชุด “TGC EMC รวมใจไทย-เยอรมนี สร้างสรรค์พลังงานชีวมวล” จากนักศึกษาศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเจ้าพระยา ที่นำเสนอบทเพลงอันผสมผสานความเป็นพื้นบ้านไทยและสื่อถึงความร่วมมือไทย-เยอรมันในกลุ่มงานพลังงานชีวมวลได้อย่างสร้างสรรค์ และยังมีตลาดนัดสีเขียวเกษตรกร ซึ่งเป็นพื้นที่เปิดโอกาสให้เกษตรกรรายย่อยกว่า 10 กลุ่มจากทั่วจังหวัดนครสวรรค์ได้ประชาสัมพันธ์และจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากชุมชนของตนเอง สร้างความสนใจให้ผู้ร่วมงานได้เป็นอย่างมาก

การแสดงชุด “TGC EMC รวมใจไทย-เยอรมัน สร้างสรรค์พลังงานชีวมวล”

บรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยสินค้าเกษตรในตลาดนัดสีเขียว
ดร.ทีโม เมนนิเคน ผู้อำนวยการ GIZ ประจำประเทศไทย ได้กล่าวสรุปถึงภารกิจสำคัญที่โครงการฯ ตั้งเป้าไว้ ได้แก่ การดำเนินงานวิจัยและพัฒนาการแปรรูปพลังงานชีวมวลในระดับท้องถิ่นและภูมิภาค โดยคำนึงถึงทรัพยากรและบริบทของความต้องการในแต่ละพื้นที่ การสนับสนุนกรอบนโยบายที่เอื้อต่อพลังงานชีวมวลและลดการเผาในที่โล่ง การเสริมสร้างเครือข่ายภาคีที่แน่นแฟ้นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน และการส่งเสริมเกษตรกรให้ยึดมั่นในแนวทางการทำการเกษตรที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยโครงการ TGC EMC ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงเศรษฐกิจและการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMWK) ผ่านกองทุนแผนงานปกป้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับสากล (IKI) และคาดการณ์ว่าจะช่วยนำประเทศไทยไปสู่การบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี พ.ศ. 2593 (ค.ศ. 2050)

ดร.ทีโม เมนนิเคน ผู้อำนวยการ GIZ ประจำประเทศไทย กล่าวสรุปก่อนปิดพิธีการ
หลังจากงานเปิดตัวโครงการฯ ช่วงเช้าสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ในช่วงบ่ายคณะดำเนินงานโครงการฯ พร้อมด้วยกลุ่มภาคีที่มาร่วมงานในครั้งนี้ ได้มุ่งหน้าเยี่ยมชมการสาธิตการจัดการฟางข้าวหลังการเก็บเกี่ยวโดยการอัดก้อนฟาง และการปั่นฟางสดโดยได้รับความอนุเคราะห์จากเครือข่ายกลุ่มวิสาหกิจชุมชนข้าวอินทรีย์บ้านท้องคลอง อำเภอเก้าเลี้ยว จังหวัดนครสวรรค์

ดร.นิตยา ชาอุ่น ให้ความรู้เรื่องการจัดการฟางข้าว

การสาธิตการอัดก้อนฟางข้าว ซึ่งเป็นการจัดการฟางข้าวแบบไม่เผา

ภาพหมู่ ณ แปลงสาธิตของเครือข่ายกลุ่มวิสาหกิจชุมชนข้าวอินทรีย์บ้านท้องคลอง

คณะดำเนินงานโครงการฯ GIZ ประจำประเทศไทย เยี่ยมชมอาคารสัญลักษณ์ต้นแม่น้ำเจ้าพระยา (พาสาน) จังหวัดนครสวรรค์
งานเปิดตัวโครงการ TGC EMC กลุ่มงานพลังงานชีวมวลในครั้งนี้ผ่านไปอย่างราบรื่นและน่าประทับใจ นับเป็นความสำเร็จก้าวแรกซึ่งแสดงถึงศักยภาพจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่มีเป้าหมายร่วมกัน