โครงการความร่วมมือไทย-เยอรมัน การปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานและการบรรเทาผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในภาคการขนส่งทางบกของภูมิภาคอาเซียน
“การขนส่งเพื่อชีวิตที่ดีกว่า: เมืองปลอดภัยและอัจฉริยะ” เป็นธีมการประชุมเชิงวิชาการของสมาคมวิจัยวิทยาการขนส่งแห่งเอเชีย (ATRANS) ของปีนี้ ที่กรุงเทพฯ โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานและบรรเทาผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในภาคการขนส่งทางบก ภูมิภาคอาเซียน
หรือ TCC ได้รับเชิญให้อภิปรายในหัวข้อแนวทางการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพด้านยานยนต์ ภาค “การขนส่ง พลังงาน และสิ่งแวดล้อม”
มร. ทาลี ทริค ผู้อำนวยการโครงการ TCC ตั้งข้อสังเกตว่า การขนส่งทางถนนใช้พลังงานรวมประมาณร้อยละ 80 ของการใช้พลังงานทั้งหมดในภาคการขนส่งของโลก โดยคาดว่าการเดินทางด้วยรถยนต์จะเพิ่มขึ้นเป็นสี่เท่าภายในปี 2593 ในภูมิภาคอาเซียนและการขายรถยนต์จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 500 จากกรณีปกติ (BAU Scenario) ระหว่างปี 2553 และ 2593 (IEA ค.ศ.2012) การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากการขนส่งทางถนนจึงอยู่ในระดับที่น่าตกใจ ดังนั้น การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์โดยการดำเนินนโยบายและมาตรการการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพด้านยานยนต์ (หรือเรียกสั้นๆ ว่า แนวทางประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับยานยนต์) จะต้องได้รับการพิจารณาอย่างเร่งด่วน
แนวทางประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับยานยนต์สามารถแบ่งได้เป็นสามประเภท ได้แก่ มาตรการด้านกฎระเบียบ มาตรการทางการเงิน และมาตรการที่เกี่ยวกับการให้ความรู้และการปลุกจิตสำนึก ในขณะที่มาตรการประเภทแรกอาจหมายถึงการกำหนดมาตรฐานของยางหรือมาตรฐานการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของยานยนต์ มาตรการประเภทที่สองอาจเกี่ยวข้องกับการดำเนินการ “feebate” หรือการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมและ/หรือการให้เงินคืนจากการซื้อรถยนต์ตามมาตรฐานการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่กำหนด โดยรถยนต์ที่ปล่อยจำนวนกรัมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อกิโลเมตรสูงกว่ามาตรฐานที่กำหนดจะต้องจ่ายภาษีเพิ่ม ส่วนยานพาหนะที่มีอัตราการปล่อยต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนดได้รับเครดิตเงินคืน สำหรับมาตรการประเภทสุดท้าย คือการปลุกจิตสำนึกของผู้บริโภครวมถึงการติดฉลาก เนื่องจากฉลากจะให้ข้อมูลของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของยานพาหนะและยังอาจแสดงถึงผลตอบแทนที่ได้จากการประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงจากการใช้ยานพาหนะ ซึ่งอาจช่วยให้ผู้บริโภคตัดสินใจจากข้อมูลดังกล่าวก่อนที่จะซื้อยานพาหนะ
ประเทศพันธมิตรของโครงการ TCC ประกอบด้วยเวียดนาม ไทย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ซึ่งจะสังเกตเห็นว่า เวียดนามและไทยมีการนำนโยบายประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับยานยนต์มาใช้แล้ว ส่วนประเทศที่เหลือ ยังอยู่ระหว่างการพัฒนานโยบายดังกล่าว บนพื้นฐานของยุทธศาสตร์ที่กำหนดโดยแผนยุทธศาสตร์การขนส่งของอาเซียน (KLTSP ค.ศ. 2016-2025) โครงการ TCC จะส่งเสริมให้ประเทศพันธมิตรดำเนินมาตรการการขนส่งที่ยั่งยืน ปรับปรุงระบบข้อมูลและการตรวจวัด รายงานผล และทวนสอบ (MRV) ซึ่งรวมถึงการประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงโดยใช้แนวทาง Avoid-Shift-Improve/Fuel (ASI/F) ในการนี้ โครงการ TCC มีความสนใจเป็นอย่างยิ่งที่จะร่วมมือกับสถาบันวิจัยเพื่อขยายการเข้าถึงข้อมูลภาคการขนส่ง ตลอดจนส่งเสริมการฝึกอบรมและการเสริมสร้างศักยภาพในประเทศพันธมิตรของโครงการ