คณะกรรมการ MSME อาเซียน หารือแผนพัฒนา อาเซียน แอคเซส อย่างยั่งยืนเพื่อปูทางสู่โลกไร้พรมแดน
ผู้แทนคณะกรรมการด้านวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อยอาเซียนร่วมประชุมเพื่อวางแผนพัฒนาอาเซียน แอคเซส ณ กรุงเทพมหานคร
- คณะกรรมการด้านวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อยอาเซียน (ACCMSME) ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) สำนักเลขาธิการอาเซียน (ASEC) และ GIZ จัดประชุมหารือ ณ กรุงเทพมหานคร เพื่อวางแผนพัฒนา อาเซียน แอคเซส (ASEAN Access) ให้ยั่งยืนต่อไป
- ที่ประชุมเน้นย้ำถึงแผนพัฒนาฟีเจอร์ต่างๆ บนอาเซียน แอคเซส อาทิ แมช (MATCH) การจับคู่ทางธุรกิจออนไลน์ เพื่อกระตุ้นการค้าข้ามพรมแดนทั้งภายในและภายนอกภูมิภาค เลิร์น (LEARN) ห้องเรียนออนไลน์เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ และเครือข่ายผู้ประกอบการจากทั้งภาครัฐและเอกชน
- ผู้แทนจากประเทศสมาชิกได้แลกเปลี่ยนความเห็นและพูดคุยถึงแผนการบริหารแพลตฟอร์มภายหลังปี พ.ศ. 2568
5 สิงหาคม พ.ศ. 2567 – อาเซียน แอคเซส (ASEAN Access) แพลตฟอร์มระดับภูมิภาคอาเซียนที่ให้บริการด้านเครือข่ายธุรกิจและข้อมูลการค้าระหว่างประเทศฉลองครบรอบ 3 ปี ในโอกาสนี้คณะกรรมการด้านวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อยอาเซียน (ACCMSME) จึงร่วมจัดประชุมหารือ เพื่อวางแผนพัฒนาแพลตฟอร์มและฟีเจอร์หลักต่างๆของ อาเซียน แอคเซส ให้ดียิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต
คุณวิทวัส ล่ำซำ ผู้อำนวยการฝ่ายความร่วมมือระหว่างประเทศ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ประเทศไทย ประธานคณะทำงานเฉพาะกิจอาเซียน (ASEAN Task Force) ได้กล่าวย้ำว่าความร่วมมือของประเทศสมาชิกอาเซียนจะเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยพัฒนาแพลตฟอร์มอาเซียน แอคเซส ให้เติบโตต่อไปหลังปี พ.ศ. 2568 นอกจากนี้คุณวิทวัสยังกระตุ้นให้ผู้แทนจากประเทศสมาชิกพิจารณาโครงสร้างการบริหารงานบนแพลตฟอร์มตามความพร้อมของแต่ละประเทศเพื่อความต่อเนื่องในการให้บริการของแพลตฟอร์ม และเพื่อรักษาเครือข่ายธุรกิจและข้อมูลการค้าให้คงอยู่ต่อไป
“แม้ว่า อาเซียน แอคเซส จะเป็นตัวแทนของความสำเร็จในหลายๆ ด้าน แต่เราควรต้องคำนึงถึงความยั่งยืนของเว็บไซต์ในอนาคตด้วย ประเทศสมาชิกอาเซียนควรต้องเตรียมพร้อมและร่วมมือกันสานต่อ อาเซียน แอคเซส ให้ดำเนินการต่อไปหลังปี พ.ศ. 2568” คุณวิทวัสกล่าวเปิดประชุม พร้อมย้ำว่าความร่วมมือจากประเทศสมาชิกอาเซียนจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่จะส่งเสริมให้แพลตฟอร์มยืนหยัดเพื่อให้บริการวิสาหกิจขนาดกลาง และย่อม ด้านการค้าระหว่างประเทศอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
คุณวิทวัส ล่ำซำ ผู้อำนวยการฝ่ายความร่วมมือระหว่างประเทศ (สสว.)
ในที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับฟีเจอร์หลักของอาเซียน แอคเซส ได้แก่ กิจกรรมการจับคู่ทางธุรกิจออนไลน์ผ่านฟีเจอร์ แมช (MATCH) การเสริมสร้างศักยภาพผู้ประกอบการออนไลน์ผ่านเลิร์น (LEARN) และการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการจากทุกภาคอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม อุตสาหกรรมสิ่งทอ และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ผู้แทนจากประเทศสมาชิกยังได้หารือเกี่ยวกับการจัดเสวนา (Market Talks) ในหัวข้อ อุตสาหกรรมการเกษตรและตลาดฮาลาล เพื่อกระตุ้นการค้าข้ามพรมแดนภายในภูมิภาค และเสริมศักยภาพให้กับผู้ประกอบการ SMEs เพื่อเตรียมความพร้อมสู่ตลาดสากล
นอกจากนี้คณะผู้แทนจากประเทศสมาชิกได้เน้นย้ำความตั้งใจที่จะบูรณาการแพลตฟอร์ม อาเซียน แอคเซส เข้าสู่แผนปฏิบัติการระดับภูมิภาคและระดับชาติภายหลังปี พ.ศ. 2568 เพื่อบริหารและรักษาแพลตฟอร์มให้คงอยู่ต่อไป ที่ประชุมยังได้แลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับแผนการดำเนินงานที่เหมาะสมกับความพร้อมของแต่ละประเทศ โดยผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจากทุกประเทศสมาชิกสามารถสนับสนุนอาเซียน แอคเซสได้อย่างเต็มที่ เพื่อดูแลและบริหารแพลตฟอร์ม อาเซียน แอคเซส ในระยะสั้น กลาง และยาว ต่อไป
ผู้แทนจากคณะกรรมการด้านวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อยอาเซียน แสดงความคิดเห็นขณะร่วมประชุม
อาเซียน แอคเซส เปิดตัวเมื่อมิถุนายน พ.ศ. 2564 เป็นแพลตฟอร์มชั้นนำในภูมิภาคอาเซียนที่ให้บริการครบวงจรด้านเครือข่ายธุรกิจและข้อมูลการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งมีฟีเจอร์หลักคือ MATCH และ LEARN โดยแพลตฟอร์มได้รับการพัฒนาและความช่วยเหลือทางเทคนิคจากองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ผ่านโครงการพัฒนาโครงสร้างวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN SME II) และได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกระทรวงความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาแห่งสหพันธรัฐเยอรมนี (BMZ)
ปัจจุบันแพลตฟอร์มได้ขยายฐานผู้ใช้งานจนมีสมาชิกแล้วกว่า 3,500 ราย โดยมีเครือข่ายธุรกิจและฐานข้อมูลผู้ให้บริการอย่างกว้างขวาง
สามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ASEAN Access ได้ที่ https://www.aseanaccess.com.
วีดีโอแนะนำ ASEAN Access https://youtu.be/YEKKLO5jTAU?si=4uB2NgRWPBOemdss
ซิต้า ซิมเปล
ผู้อำนวยการโครงการ ASEAN SME II
อีเมล:sita.zimpel(at)giz.de