FINISHED on 22 เม.ย. 2559
ความเป็นมา
เนื่องจากภาคการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) ดังนั้นประสิทธิภาพการใช้พลังงาน สภาพสิ่งแวดล้อม และความปลอดภัยในการขนส่งสินค้าอันตราย จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสร้างความมั่นใจได้ว่าประเทศจะยังคงเติบโต และสามารถเพิ่มสวัสดิการให้แก่บุคลากร ตลอดจนมีศักยภาพในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ และช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมได้
การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับภาคการขนส่งสินค้า ซึ่งดำเนินการภายใต้แผนงานหลักการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS CEP) ของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) บ่งชี้ว่าการเคลื่อนย้ายสินค้าในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงเพิ่มขึ้นร้อยละ 75 ระหว่างปี พ.ศ. 2545 และ 2554 และการส่งออกสินค้าจากกลุ่มประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงเพิ่มขึ้นเกือบสามเท่าในช่วงเวลาเดียวกัน อีกทั้งการขยายตัวของโครงสร้างพื้นฐานการขนส่ง ยังทำให้กิจกรรมการขนส่งและการจราจรเพิ่มขึ้น
การขยายตัวของโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งดังกล่าว ทำให้มีการใช้เชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น ส่งผลให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) และการนำเข้าน้ำมันสูงขึ้นตามไปด้วย การสำรวจของบริษัทขนส่งสินค้าแสดงให้เห็นว่าต้นทุนในการใช้เชื้อเพลิงมักจะคิดเป็นร้อยละ 40 ถึง 60 ของต้นทุนในการดำเนินงานทั้งหมด ดังนั้น เพื่อให้มั่นใจว่าภาคการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์จะพัฒนาได้อย่างยั่งยืน จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิงและเสริมสร้างความปลอดภัย
วัตถุประสงค์
เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ปรับปรุงสภาพสิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัย และความปลอดภัยในภาคการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์
แนวทางการดำเนินงานและกิจกรรม
โครงการฯ เป็นส่วนหนึ่งของแผนงาน SWITCH Asia Programme ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสหภาพยุโรป (EU) โดย GIZ เป็นผู้ดำเนินโครงการฯ หลักร่วมกับสมาคมขนส่งอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS-FRETA) และสถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง (MI) นอกจากนี้ โครงการฯ ยังทำงานร่วมกับสมาคมที่เกี่ยวข้องใน 5 ประเทศ รวมถึงสมาคมผู้รับจัดการขนส่งสินค้า สมาคมรถบรรทุก และสมาคมขนส่งอาเซียน เพื่อให้การดำเนินกิจกรรมโครงการฯ มีประสิทธิภาพและเกิดความยั่งยืน
โครงการฯ ยกระดับมาตรการที่มีอยู่ด้านความปลอดภัยและความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของภาคการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ ซึ่งจะช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงต่อปริมาณการขนส่ง ส่งเสริมความปลอดภัยในการขนส่งสินค้าอันตราย อันนำไปสู่การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ กิจกรรมส่วนใหญ่จะต่อยอดจากประสบการณ์ของความสำเร็จที่ผ่านมาและนำการริเริ่มใหม่ๆ ที่ดำเนินการอยู่มาเติมเต็ม อาทิ แผนงานหลักการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS CEP) ของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) การเสริมสร้างขีดความสามารถของสมาชิกสมาคมขนส่งอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS-FRETA) และโครงการอาเซียน-เยอรมันด้าน “การขนส่งและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”
กิจกรรมหลักครอบคลุมสี่สาขา ดังนี้
- ประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิงและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ด้วยการส่งเสริมการขับขี่ปลอดภัย การขับขี่เพื่อประหยัดพลังงาน การเปลี่ยนแปลงและบำรุงรักษาเทคโนโลยี การเป็นตัวแทนขนส่งสินค้า เครือข่ายด้านโลจิสติกส์ และการจัดการทางการเงินที่ดีขึ้นของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)
- การขนส่งสินค้าอันตราย โดยดำเนินการตามพิธีสารอาเซียนและอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงที่มีอยู่ บนพื้นฐานของ EU-ADR
- การเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อลงทุนในเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และปลอดภัยยิ่งขึ้น
- มาตรการสนับสนุนด้านนโยบายและการสร้างความตระหนักรู้ของลูกค้า อาทิ มาตรฐานและการติดฉลาก แรงจูงใจทางเศรษฐกิจ กฎระเบียบ และการริเริ่มด้านการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการขนส่ง ซึ่งการริเริ่มดังกล่าวมุ่งดำเนินการที่ประเทศไทยและเวียดนาม
สนับสนุนงบประมาณโดย
- สหภาพยุโรป
- กระทรวงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMZ)
ประเทศ
ประเทศกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม และไทย
ระยะเวลาดำเนินโครงการ
02.2559 – 01.2562