ถอดบทเรียนโครงการ ไทย ไรซ์ นามา เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ตลาดข้าวปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำในไทย
การรวมกันของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการ ไทย ไรซ์ นามา
- สถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศจัดการประชุมนโยบายในหัวข้อ “การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ตลาดข้าวที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศไทย: เรียนรู้จากโครงการ ไทย ไรซ์ นามา”
- ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้พูดคุยแลกเปลี่ยนและปรึกษาหารือในประเด็นการพัฒนาที่สำคัญ และความท้าทายในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การผลิตข้าวที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำในประเทศไทย
- โครงการ ไทย ไรซ์ นามา ริเริ่มการเปลี่ยนแปลงระบบการผลิตข้าวในประเทศไทย โดยข้อมูลเชิงลึกและบทเรียนจากโครงการนี้จะช่วยพัฒนาโครงการ Thai Rice GCF ต่อไป
ขณะที่ทั่วโลกให้ความสนใจกับแนวปฏิบัติทางการเกษตรที่ยั่งยืน สถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศ (International Rice Research Institute หรือ IRRI) ได้จัดการประชุมนโยบายในหัวข้อ “การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ตลาดข้าวที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศไทย: เรียนรู้จากโครงการ ไทย ไรซ์ นามา” ณ กรุงเทพมหานคร โดยผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่รวมถึงผู้กำหนดนโยบาย นักวิชาการ นักวิจัย และตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ ได้มาพูดคุยแลกเปลี่ยนและปรึกษาหารือในประเด็นการพัฒนาที่สำคัญ และความท้าทายในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การผลิตข้าวที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำในประเทศไทย รวมทั้งแสดงให้เห็นว่านี่คือช่วงเวลาสำคัญสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ลงทุนในเกษตรกรรมยั่งยืน ตลอดจนนำเสนอกลยุทธ์การลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อการเปลี่ยนแปลงระดับรากฐานสำหรับข้าวไทย
ดร.บียอร์น โอเล ซานเดอร์ ผู้แทน IRRI ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ภาคเกษตรกรรมเป็นแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สูงเป็นอันดับสองของประเทศไทยรองจากภาคพลังงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปลูกข้าวนั้นคิดเป็นสัดส่วนราว 55% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางภาคเกษตร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นก๊าซมีเทน จึงเป็นเป้าหมายสำคัญของการพัฒนาที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ โครงการ ไทย ไรซ์ นามา เปิดตัวในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2561 เป็นกำลังสำคัญในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การผลิตข้าวที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำในประเทศไทย โดยแสดงให้เห็นว่าการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีลดก๊าซเรือนกระจกในวงกว้างนั้นเป็นไปได้ โครงการริเริ่มนี้ใช้กลยุทธ์สามส่วน (A tri-fold strategy) ซึ่งประกอบไปด้วยเทคโนโลยีการผลิตข้าวที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ บริการเทคโนโลยีบรรเทาผลกระทบ และการพัฒนานโยบายและมาตรการสนับสนุน
ดร. ชิษณุชา บุดดาบุญ รองอธิบดีกรมการข้าว
ดร.ชิษณุชา บุดดาบุญ รองอธิบดีกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า “เวทีนี้ถือเป็นก้าวสำคัญเพื่อความร่วมมือที่มีประสิทธิภาพระหว่างกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) สถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ (IRRI) และภาคีจากหน่วยงานกระทรวงต่างๆ รวมถึงมหาวิทยาลัยและภาคเอกชน เพื่อเสริมศักยภาพประเทศไทยในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว และการปรับเปลี่ยนสู่การผลิตข้าวที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ ด้วยการใช้เทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวและสนับสนุนการลดโลกร้อนต่างๆ ซึ่งการประชุมนี้เป็นเวทีให้นักวิจัย นักนโยบาย และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมารับรู้ แลกเปลี่ยน และให้ข้อเสนอแนะ ที่มุ่งเน้นการพัฒนาระบบการตรวจวัด (Measurement) รายงาน (Reporting) และทวนสอบ (Verification) หรือที่เรียกว่าระบบ MRV ซึ่งออกแบบมาเพื่อการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกที่ดีขึ้นต่อแนวทางปฏิบัติในการผลิตข้าว ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกในการเชื่อมโยงกับตลาด ตลอดจนเพิ่มมูลค่าให้กับการผลิตข้าวผ่านการลดก๊าซเรือนกระจก ที่สำคัญก็คือในการประชุมวันนี้มีสัมมนาในหัวข้อระบบ MRV สำหรับการผลิตข้าว เพื่อสนับสนุนความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วย”
[จากซ้ายไปขวา] ดร.นานา คึนเคล ผู้อำนวยการและผู้ประสานงาน กลุ่มโครงการด้านเกษตรและอาหาร GIZ ประจำประเทศไทย ดร.ชิษณุชา บุดดาบุญ รองอธิบดีกรมการข้าว และ ดร.บียอร์น โอเล ซานเดอร์ ผู้แทน IRRI ประจำประเทศไทย
โครงการ ไทย ไรซ์ นามา ถือเป็นโครงการริเริ่มการเปลี่ยนแปลงระบบการผลิตข้าวในประเทศไทย ข้อมูลเชิงลึกและบทเรียนจากโครงการนี้จะช่วยพัฒนาและเสริมพลังให้กับโครงการ Thai Rice GCF ที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ การมุ่งเน้นระบบ MRV ควบคู่ไปกับเทคโนโลยีการทำนาข้าวที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำขั้นสูง แสดงให้เห็นว่าโครงการ Thai Rice GCF มุ่งมั่นที่จะสร้างความก้าวหน้าในเกษตรกรรมยั่งยืนและแนวทางปฏิบัติที่ชาญฉลาดด้านสภาพภูมิอากาศ เพื่อการเปลี่ยนแปลงในวงการข้าวของประเทศไทย
ณัฐฐา ลือชาติเมธิกุล
เจ้าหน้าที่โครงการ ไทย ไรซ์ นามา
อีเมล: nattha.luechatmatikul(at)giz.de