การฝึกอบรมยกระดับฝีมือช่างในการจัดการสารทำความเย็นธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ในช่วงเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม พ.ศ. 2567 องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ผ่านโครงการพัฒนาเครือข่ายการทำความเย็นสีเขียว (GCI) ระยะที่ 3 ร่วมกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จัดการฝึกอบรมยกระดับฝีมือช่างในการการจัดการสารทำความเย็นธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มข้น โดยเน้นการจัดการสารทำความเย็นธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้แก่ช่างเครื่องปรับอากาศในบ้านและการพาณิชย์ขนาดเล็ก โครงการฝึกอบรมดังกล่าวได้ถูกออกแบบมาเพื่อเพิ่มพูนความเชี่ยวชาญของช่างเทคนิคในการจัดการอุปกรณ์ที่ใช้สารทำความเย็นธรรมชาติอย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ตามมาตรฐานสิ่งแวดล้อมระดับสากล
เนื้อหาการฝึกอบรมมุ่งเน้นไปที่:
- ปลอดภัยไว้ก่อน: การฝึกอบรมเน้นการปฏิบัติตามขั้นตอนความปลอดภัยขั้นสูง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ช่างจะนำไปใช้ในการจัดการสารทำความเย็นธรรมชาติที่ติดไฟได้ ช่างได้เรียนรู้เกี่ยวกับการประเมินความเสี่ยง การป้องกันสุขภาพและความปลอดภัยในที่ทำงานและการใช้เครื่องมือป้องกันส่วนบุคคล (Personal Protective Equipment: PPE) อย่างถูกต้อง
- ทักษะในการปฏิบัติงาน: การฝึกอบรมภาคปฏิบัติช่วยให้ผู้เข้าร่วมมีทักษะในการติดตั้ง บำรุงรักษา และดำเนินการระบบทำความเย็นที่ใช้สารทำความเย็นธรรมชาติ โดยเน้นความแม่นยำและความปลอดภัยให้แก่ช่าง
- การใช้เครื่องมือและอุปกรณ์: ช่างได้รับการฝึกให้ใช้เครื่องมือที่ทันสมัยซึ่งจำเป็นสำหรับการจัดการสารทำความเย็นอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น เครื่องมือตรวจหาการรั่วไหลของสารทำความเย็นและเครื่องดูดเก็บสารทำความเย็น
โครงการฝึกอบรมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ GCI III ที่ส่งเสริมให้อุตสาหกรรมเครื่องทำความเย็นและเครื่องปรับอากาศ มีความยั่งยืน ความปลอดภัย และความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม โดยได้จัดฝึกอบรมให้กับช่างเป็นจำนวนทั้งสิ้น 83 คน ใน 4 จังหวัดทั่วทั้งภูมิภาคของประเทศไทย ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา สงขลา ขอนแก่น และลำปาง ทั้งนี้ช่างที่เข้ารับการฝึกอบรมจะสามารถนำทักษะที่ได้เรียนรู้ไปใช้ได้ในสถานการณ์จริง เพื่อส่งเสริมการปฏิบัติงานในอุตสาหกรรมเครื่องทำความเย็นและเครื่องปรับอากาศที่ปลอดภัยและมีมาตรฐานในการปฏิบัติงานมากยิ่งขึ้น
อัลบั้มภาพ
คุณศิริพร ภาวิขัมภ์
หัวหน้าโครงการ GCI III ประเทศไทย
อีเมล: siriporn.parvikam(at)giz.de