กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้านเชื้อเพลิงการบินยั่งยืน (SAF) ร่วมหารือความท้าทายและโอกาสการเติบโตของตลาด SAF ในไทย

- GIZ ประจำประเทศไทย จัดประชุมกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้านเชื้อเพลิงการบินยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel: SAF) ครั้งที่ 1 เพื่อหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่มีบทบาทสำคัญในการนำเชื้อเพลิง SAF มาใช้เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนในภาคส่วนการบินของประเทศไทย
เมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2568 องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ภายใต้โครงการ International Hydrogen Ramp-Up Programme (H2Uppp) จัดการประชุมกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้านเชื้อเพลิงการบินยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel: SAF) ครั้งที่ 1 ณ โรงแรมโฟร์พอยท์ส บาย เชอราตัน กรุงเทพ เพลินจิต เพื่อส่งเสริมการหารือเกี่ยวกับความท้าทายและโอกาสสำคัญในการสนับสนุนให้ภาคส่วนการบินของประเทศไทยใช้เชื้อเพลิง SAF งานประชุมนี้เป็นการต่อยอดการสัมมนาภายในกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้านเชื้อเพลิง SAF ที่เริ่มดำเนินงานตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2567
ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบไปด้วยผู้แทนจากภาคเอกชน หน่วยงานภาครัฐ และสถาบันวิจัยหลายแห่ง เช่น บริษัท แอร์บัสกรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด, สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.), กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.), กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.), บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน), ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ, หอการค้าเยอรมัน-ไทย, สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ, บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน), มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ฯลฯ
ดร.โดมินิกา คาลิโนวสกา ผู้อำนวยการโครงการภาคส่วนคมนาคมจาก GIZ ประจำประเทศไทย ได้กล่าวเปิดงานโดยพูดถึงความเชื่อมโยงของ SAF กับภาพรวมของการเปลี่ยนผ่านพลังงานและการลดการปล่อยคาร์บอนในประเทศไทย พร้อมเชิญชวนผู้เข้าร่วมรับฟังข้อมูลเชิงลึกจากผู้เชี่ยวชาญ และร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อส่งเสริมการใช้ SAF ในบริบทของประเทศไทย

ในช่วงแรก ผู้เชี่ยวชาญได้บรรยายทิศทาง SAF ในบริบทของไทยและยุโรป โดย ดร.นุวงศ์ ชลคุป ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยพลังงานคาร์บอนต่ำ สวทช. ร่วมอภิปรายนโยบายการบินของประเทศไทย และนำเสนอข้อมูลเชิงลึกจากความพยายามในการทำแผนที่เชื่อมโยงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้กับผู้เข้าร่วม จากนั้น คุณเคลวิน ลี จากสมาคมการขนส่งทางอากาศนานาชาติ (International Air Transport Association: IATA) แนะนำแบบแผนการรับรองความยั่งยืนของ SAF ที่สามารถทำได้หลายวิธี รวมถึงขั้นตอนและความท้าทายในการดำเนินการ โดยเน้นไปที่บริษัทการบินและผู้ผลิตเชื้อเพลิง SAF ถัดมา คุณสุภาวดี รัตนพันธ์ จากบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ได้บรรยายมุมมองภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่ทำ SAF จากน้ำมันพืชใช้แล้วผ่านกระบวนการการผลิตร่วม (co-processing) และห่วงโซ่คุณค่าของ SAF รวมถึงเชื้อเพลิงและผลิตภัณฑ์ชีวภาพอื่นๆ ของทางหน่วยงาน ในช่วงท้าย คุณฟรังค์ มิสช์เลอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบาย SAF จาก International PtX Hub Academy ประเทศเยอรมนี ร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายและมาตรการจัดการของสหภาพยุโรปที่เกี่ยวข้องกับ SAF ภายในภูมิภาค รวมถึงมาตรการที่อาจส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในอนาคต

(จากซ้าย) ดร.นุวงศ์ ชลคุป จาก สวทช. และคุณสุภาวดี รัตนพันธ์ จากบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

คุณฟรังค์ มิสช์เลอร์ จาก International PtX Hub Academy ประเทศเยอรมนี
ต่อจากช่วงบรรยาย ผู้เข้าประชุมได้ร่วมกิจกรรมกลุ่มเพื่อหารือแลกเปลี่ยนความเห็นด้านความท้าทายและโอกาสที่สำคัญ ในการผลักดันการใช้ SAF ในประเทศไทย โดยมุ่งเน้นไปที่ 5 ปัจจัยหลัก ได้แก่ การสนับสนุนด้านนโยบายที่ไม่เพียงพอ ต้นทุนการผลิตสูง ความต้องการทางตลาดที่ผันผวน วัตถุดิบที่มีจำกัด และขั้นตอนการรับรองและตรวจประเมินมาตรฐาน ตลอดช่วงการหารือ ผู้เข้าประชุมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านนโยบายและโครงข่ายการตลาดที่มีอิทธิพลต่อทิศทางการตลาดและนวัตกรรม SAF ในภาคส่วนการบินของประเทศไทย


ช่วงหารือแลกเปลี่ยนความท้าทายและโอกาสของเชื้อเพลิง SAF ในประเทศไทย
ประเทศไทยสามารถอาศัยทำเลที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์ในฐานะศูนย์กลางการขนส่งระดับภูมิภาคและการมีวัตถุดิบชีวภาพที่หลากหลายในการนำ SAF ไปใช้เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนในภาคส่วนการบินอย่างมีประสิทธิภาพ ตามเป้าหมายสุทธิเป็นศูนย์ใน พ.ศ. 2593 (ค.ศ. 2050) ขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ประเทศไทยกำหนดให้สายการบินในประเทศบูรณาการเชื้อเพลิง SAF เป็นทางเลือกที่สะอาดกว่า ในอัตราส่วนผสมขั้นต่ำ 1% ภายใน พ.ศ. 2569 (ค.ศ. 2026) เพื่อร่วมขับเคลื่อนไทยให้บรรลุเป้าหมายในการใช้พลังงานทางเลือกที่สะอาดกว่าในภาคการบินพลเรือน โดยตั้งเป้าให้มีส่วนผสมเชื้อเพลิง SAF 1-2% ภายใน พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030) และให้มีส่วนผสมเพิ่มเป็น 8% ภายใน พ.ศ. 2579 (ค.ศ. 2036) นอกจากนั้น ปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ของประเทศไทยยังได้เปิดตัวโครงการจูงใจทางภาษีเพื่อดึงดูดการลงทุนจากภาคธุรกิจในการพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพสำหรับการบิน
โครงการ H2Uppp ได้รับการสนับสนุนงบประมาณโดยกระทรวงเศรษฐกิจและการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMWK) ดำเนินโครงการทั่วโลกโดยองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) สำหรับโครงการ H2Uppp ในประเทศไทย มีหอการค้าเยอรมัน-ไทย (German-Thai Chamber of Commerce: GTCC) เป็นผู้ร่วมดำเนินการ และเป็นศูนย์กลางระดับภูมิภาคของโครงการในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยโครงการฯ ตั้งเป้าที่จะสนับสนุนนโยบายและพัฒนาตลาดสำหรับไฮโดรเจนสีเขียวและ Power-to-X ผ่านการศึกษาและการฝึกอบรม การริเริ่มความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (PPP) และโครงการต่างๆ ตลอดจนการส่งเสริมและเผยแพร่ความรู้และการสร้างเครือข่ายกับผู้เชี่ยวชาญในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับภาคเอกชนของประเทศเยอรมนี
ติดตามข้อมูลโครงการ H2Uppp เพิ่มเติม: https://www.thai-german-cooperation.info/th/international-hydrogen-ramp-up-programme-h2-uppp/
ทิม นีส์
ผู้จัดการโครงการ H2Uppp
อีเมล:tim.nees(at)giz.de