“ปัจจุบันคนไทยสร้างขยะประมาณ 1.14 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน ซึ่งสัดส่วนของขยะร้อยละ 64 นั้นเป็นขยะอาหาร ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่เยอะมาก และควรได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายตั้งแต่ระดับครัวเรือน ระดับภาคธุรกิจไปจนถึงระดับนโยบายในการแก้ไขปัญหา” นางสุวรรณา เตียรถ์สุวรรณ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ได้หยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นมาพูดในการประชุมเชิงปฏิบัติการ “Towards SDG 12.3 Food Loss and Waste” เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2561 ณ โรงแรมสุโกศล กรุงเทพฯ
ผู้เข้าร่วมไม่ว่าจะเป็นนักวิจัยชาวไทยและชาวต่างชาติ รวมทั้งผู้กำหนดนโยบายของประเทศไทยต่างให้ความสนใจ พร้อมร่วมแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ด้านแนวทางการลดขยะอาหาร เพื่อหวังบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) ข้อ 12.3 ที่ต้องการลดจำนวนขยะอาหารทั่วโลกกว่าครึ่งภายในปีพ.ศ. 2573
“ประเทศไทยกำลังร่างแผนและนโยบายเพื่อลดปริมาณการสูญเสียอาหารและขยะอาหาร ภายใต้ความร่วมมือระหว่างคพ. และ GIZ ในแผนงานความร่วมมือไทย-เยอรมันด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แม้ว่าขณะนี้เรายังขาดข้อมูลตลอดห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมอาหาร ดิฉันเชื่อว่าการประชุมครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวทางในการเก็บรวบรวมข้อมูลด้านการสูญเสียอาหารและขยะอาหารทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลก เพื่อช่วยกระตุ้นเตือนประชาชนให้ตระหนักถึงปัญหาวิกฤตขยะอาหาร หากเริ่มจากภาคครัวเรือน เราก็พร้อมจะสนับสนุนให้เกิดการบริโภคที่ยั่งยืนและลดการทิ้งอาหารที่ไม่จำเป็น” นางสุวรรณา กล่าวเพิ่มเติม
ด้าน รศ. ดร. ธงชัย สุวรรณสิชณน์ ผู้อำนวยการฝ่ายเกษตร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย กล่าวว่า “วิกฤติขยะอาหารกำลังเป็นปัญหาใหญ่ที่สร้างผลกระทบไปทั่วโลก อาหาร 1 ใน 3 ของโลกถูกทิ้ง ขณะที่ร้อยละ 11 ของประชากรโลกกำลังเผชิญกับความอดอยาก ปัจจุบันอาหารที่ถูกทิ้งสร้างมูลค่าความเสียหายต่อเศรษฐกิจโลกราว 9 แสนล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ดังนั้น การผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน จึงเป็นหัวข้อที่รัฐบาลไทยให้ความสำคัญและตั้งเป้าหมายในการลดปริมาณการสูญเสียอาหารและขยะอาหารไว้ร้อยละ 5 นับตั้งแต่พ.ศ. 2563 การแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ของทุกท่านในวันนี้จะนำไปสู่การเก็บและพัฒนาข้อมูลพื้นฐานด้านการสูญเสียอาหารและขยะอาหารของประเทศไทยอย่างแน่นอน”
“คนมองปัญหาขยะอาหารว่าเป็นเรื่องไกลตัวและมองปัญหาโดยไม่ได้เชื่อมโยงตัวเองกับผลกระทบที่เกิดขึ้น การสูญเสียอาหารและขยะอาหารนั้น ก่อให้เกิดขยะอินทรีย์จำนวนมหาศาล หากเราจัดการกับขยะอินทรีย์ไม่ถูกสุขลักษณะ จะกลายเป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ เพราะขยะอินทรีย์จะปล่อยก๊าซมีเทนที่รุนแรงกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์ถึง 14 เท่า กองขยะที่มีปริมาณขยะอาหารมากจะยิ่งเป็นกองขยะที่ปล่อยมลพิษร้ายแรงที่สุด ผมหวังว่าผลของการประชุมในวันนี้จะมีส่วนช่วยให้เกิดแนวทางการรับมือปัญหาการสูญเสียอาหารและขยะอาหารทั้งของประเทศไทยและของโลกให้ดียิ่งขึ้น” มร. แวร์เนอร์ คอสมันน์ ผู้อำนวยการโครงการภายใต้แผนงานความร่วมมือไทย-เยอรมันด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ GIZ ประเทศไทย กล่าว
นอกจากนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) ในฐานะหน่วยงานประสานงานเพื่อการรายงานข้อมูลด้าน SDG ของประเทศไทยได้เปิดเผยว่า ข้อมูลด้านการสูญเสียอาหารและขยะอาหารของประเทศไทยยังมีค่อนข้างจำกัด ซึ่งความท้าทายในการเก็บข้อมูล ได้แก่ การให้คำนิยามที่ไม่ชัดเจน ข้อมูลไม่มีคุณภาพ ความสามารถในการเก็บข้อมูลของบุคลากรไม่เพียงพอ รวมถึงบทบาททับซ้อนระหว่างหน่วยงาน โดยสสช. มีแผนจะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมเพื่อกำหนดตัวชี้วัดของประเทศเพื่อใช้ในการรายงาน SDG ข้อ 12.3 เร็วๆ นี้
ปัจจุบันหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนต่างร่วมรณรงค์เพื่อลดปริมาณอาหารเหลือทิ้งและขยะอาหาร มีการมอบการรับรอง “The Pledge of Food Waste” ให้กับโรงแรมที่สามารถลดอาหารเหลือทิ้งและขยะอาหารได้ รวมถึงห้างสรรพสินค้า TESCO เองที่ได้ดำเนินโครงการด้านนโยบายบริจาคอาหารและลดราคาสินค้าที่เหลือจากการวางขาย ใช้บรรจุภัณฑ์ที่ช่วยยืดอายุอาหาร และยังทำงานร่วมกับชาวสวนในการวางแผนการเพาะปลูกผักและผลไม้ให้พอดีกับความต้องการในการซื้อหาของผู้บริโภคมากที่สุด ซึ่งหนึ่งในปัจจัยของความสำเร็จก็คือ การร่วมมือกันระหว่างชาวสวนและผู้จัดการโครงการของ TESCO ในการวางแผนการเพาะปลูกและใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพเพื่อลดปริมาณขยะอาหาร
ดร. รัตนาวรรณ มั่งคั่ง ผู้อำนวยการศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านกลยุทธ์ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กล่าวสรุปผลของการประชุมไว้ว่า ตัวอย่างและความท้าทายที่ได้แลกเปลี่ยนกันในวันนี้จะนำไปสู่การร่างแผนและนโยบายเพื่อเก็บข้อมูล พัฒนาฐานข้อมูลและตัวชี้วัด รวมถึงกลไกการรายงานปริมาณการสูญเสียอาหารและขยะอาหารอย่างเหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ เราจะต้องอาศัยความร่วมมือของภาคธุรกิจและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและทัศนคติของผู้บริโภค โดยทำให้ทุกคนเข้าใจว่า ปัญหาขยะอาหารสามารถเริ่มต้นได้ที่จานอาหารในทุกมื้อของเราทุกคน เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็วและประสบผลสำเร็จที่สุด
การประชุมดังกล่าว จัดขึ้นโดยมีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านกลยุทธ์ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจากคณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (VGREEN) บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และ GIZ เป็นเจ้าภาพจัดงาน และถือเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมวิชาการนานาชาติด้านการประเมินวัฏจักรชีวิตด้านเกษตรและอาหารครั้งที่ 11 หรือ 11th LCA FOOD 2018: International Conference on Life Cycle Assessment of Food ซึ่งมีการนำเสนอตัวอย่างวิธีวัดและเก็บข้อมูลอาหารเหลือทิ้งและขยะอาหารจากคู่มือ Food Loss and Waste Accounting and Reporting Standard ของ World Resource Institute รวมถึงอธิบายคำจำกัดความ วิธีการสรุป คำนวณปริมาณ และรายงานข้อมูลอาหารเหลือทิ้งและขยะอาหาร นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีต่อการพัฒนาการเก็บข้อมูลในประเทศไทย
Food loss และ Food waste ตามคำจำกัดความขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้กล่าวไว้ว่า Food loss เป็นการสูญเสียในขั้นตอนการผลิต ขั้นตอนหลังการเก็บเกี่ยว และขั้นตอนการแปรรูป เช่น การสูญเสียขณะใช้เครื่องจักรเก็บเกี่ยว การสูญเสียขณะขนส่ง หรือการสูญเสียในกระบวนการปอกเปลือก การหั่น และการต้มไม่ถูกต้อง เป็นต้น ซึ่งเป็นขั้นตอนก่อนได้ผลิตภัณฑ์สุดท้ายเพื่อการบริโภค ส่วน Food waste คือผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมบริโภคที่ถูกทิ้งไว้ให้เสียหมดอายุ ทิ้งเนื่องจากบริโภคไม่หมด หรือแม้กระทั่งการเข้าใจผิดว่าไม่สามารถบริโภคได้ เช่น เปลือกของผักและผลไม้เปลี่ยนสี ทำให้ผู้บริโภคไม่เลือกซื้อและร้านขายปลีกทำลายทิ้ง เป็นต้น