ขณะที่ครัวเรือน กำลังปล่อยสิ่งปฏิกูลและน้ำเสียลงสู่ระบบบำบัดน้ำเสียนั้น บางเมืองต้องเผชิญกับปัญหาและความท้าทายต่างๆ เช่น พื้นที่ใต้ดิน ค่าใช้จ่ายการดำเนินงาน หรือแม้แต่การบริหารจัดการ เมืองที่ตั้งอยู่บนที่ราบสูงหรือเนินสูง อาจได้รับประโยชน์จากระบบแรงโน้มถ่วง แต่คนที่อาศัยบริเวณที่ราบลุ่มหรือพื้นที่ที่มีสภาพดินไม่สมบูรณ์หรือมีพื้นน้ำสูง ก็อาจจะประสบปัญหาได้ ดังนั้นระบบท่อน้ำทิ้งแบบสุญญากาศ จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่ให้ก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจและระบบนิเวศแก่นักวางแผนและเจ้าหน้าที่ภาครัฐในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
องค์การเทศบาล Rajkot ภายใต้การสนับสนุนจาก ICLEI South Asia และโครงการบริหารทรัพยากรแบบบูรณาการของเมืองในเอเซีย (Urban Nexus) ของ GIZ ได้เข้าร่วมการประชุมเชิงเทคนิคเกี่ยวกับระบบท่อน้ำทิ้งแบบสุญญากาศ ระหว่างวันที่ 23-24 มกราคม พ.ศ. 2561 ณ เมือง Rajkot รัฐ Gujarat ประเทศอินเดีย โดยมี ดร. Jaiman Upadhayay นายกเทศมนตรี Darshita Shah รองนายกเทศมนตรี และ Arun Mahesh Babu รองกรรมาธิการ ให้เกียรติเปิดการประชุม ภายในงาน Ruth Erlbeck ผู้อำนวยการโครงการ Urban Nexus ได้อธิบายภาพรวมของโครงการฯ และกล่าวเน้นถึงความจำเป็นในการนำแนวคิด “นอกกรอบ” มาใช้ รวมทั้งการขับเคลื่อนเทคโนโลยีนวัตกรรมเพื่อสร้าง “เมืองอัจฉริยะ” (Smart city) พร้อมกันนี้ ด้าน Ralph Trosse ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคของโครงการฯ ก็ได้ให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งระบบนี้จะให้ความสำคัญต่อประสิทธิภาพของการจัดการของเสีย ด้วยการนำวัตถุดิบที่ผ่านการผลิตและบริโภคแล้วเข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่ และสนับสนุนการใช้ซ้ำ เพื่อคืนความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ทรัพยากรธรรมชาติ ฟื้นฟูระบบนิเวศ ลดผลกระทบเชิงลบ และเพิ่มผลกระทบเชิงบวกต่อระบบเศรษฐกิจ
การประชุม มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถของบุคลากรด้านเทคนิค โดยเฉพาะวิศวกรที่ทำงานด้านระบบบำบัดน้ำเสียและระบบระบายน้ำ และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินงาน ในงานประชุมประกอบด้วยผู้เข้าร่วมกว่า 65 คนจากองค์การเทศบาล Jamnagar และ Ahmedabad นอกจากนี้ยังมี Ireneusz Kubek ผู้เชี่ยวชาญ และ Natalia Paczkowska จากบริษัท AQSEPTENCE / Roediger ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนของประเทศเยอรมนี ที่มาให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับมุมมองทางด้านเทคนิค การจัดการและต้นทุน ค่าใช้จ่ายของท่อน้ำทิ้งแบบสูญญากาศ
ท่อน้ำทิ้งแบบสูญญากาศ นับเป็นทางเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมต่อระบบแรงโน้มถ่วงแบบดั้งเดิมและระบบระบายน้ำแรงดัน เนื่องจากไม่ต้องมีการบำรุงรักษามากนัก และระบบกักเก็บสิ่งปฏิกูลก็มีประสิทธิภาพและเชื่อถือได้ ซึ่งตัวอย่างของท่อน้ำทิ้งแบบสูญญากาศทั่วโลก ก็ถูกนำมาเสนอแก่ผู้เข้าร่วมประชุม
ความเป็นไปได้ในการใช้เทคโนโลยีท่อน้ำทิ้งสูญญากาศในพื้นที่สีเขียวที่จะเกิดขึ้นภายใต้แผนการดำเนินงาน “เมืองอัจฉริยะ” ในเมือง Rajkot นี้ได้ถูกหารือในที่ประชุม นอกจากนี้ยังมีการหารือเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่สามารถใช้สำหรับพื้นที่ที่มีอยู่ซึ่งไม่มีการเชื่อมต่อท่อน้ำทิ้ง ซึ่งการประชุมครั้งนี้ได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดีจาก Pani Banchhanidhi กรรมาธิการเมือง Rajkot ซึ่งแสดงความสนใจที่จะศึกษาความเป็นไปได้ในการประเมินต้นทุนค่าใช้จ่ายที่จะติดตั้งท่อน้ำทิ้งสูญญากาศ บริเวณหนึ่งในพื้นที่ของเมือง
โครงการ Urban Nexus ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกระทรวงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา แห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMZ)