ความก้าวหน้าในการจัดทำเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด พ.ศ. 2578
ตามพันธกรณีในความตกลงปารีส (Paris Agreement: PA) ที่มีผลบังคับต่อทุกประเทศภาคี รวมถึงประเทศไทยซึ่ง จะต้องส่งการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contribution: NDC) ทุกๆ 5 ปี สำหรับประเทศไทยนั้นจะถึงรอบการส่ง NDC ฉบับถัดไปให้แก่กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ก่อนการประชุม COP30 ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2568
ในการจัดทำ NDC พ.ศ. 2578 (NDC 2035) ของประเทศไทยมีการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ในการกำหนดเป้าหมายของการลดก๊าซเรือนกระจก โดยประเทศไทยจะใช้การประเมินผลการลดก๊าซเรือนกระจกเทียบกับปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจริงในปี พ.ศ. 2562 (absolute reduction target) ซึ่งเป็นรูปแบบที่ประเทศพัฒนาแล้วใช้แทนที่การประเมินเทียบกับสมมติฐานการคาดการณ์ภายใต้การประมาณการจากการดำเนินการแบบปกติ(Business as usual: BAU scenario) แบบเดิมที่เคยใช้
นอกจากความท้าทายในการเปลี่ยนวิธีการประเมินเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจกแล้ว ประเทศไทยยังเพิ่มจำนวนสาขาที่เข้ามามีส่วนร่วมจาก 4 สาขา เพิ่มเป็น 5 สาขา โดยเพิ่มสาขาเกษตรกรรมเข้ามาสมทบกับสาขาเดิม ได้แก่ สาขาพลังงาน สาขาคมนาคมขนส่ง สาขาการจัดการของเสีย และสาขากระบวนการอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้ สาขาพลังงานและสาขาคมนาคมขนส่งยังถือเป็นสาขาหลักที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ
กระบวนการทางเทคนิคในการจัดทำ NDC 2035 เริ่มต้นจากการวิเคราะห์ความต้องการใช้พลังงานด้วยแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ที่เรียกว่า Asia Pacific Integrated Model (AIM) โดยอาศัยข้อมูลจากแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี พ.ศ. 2564-2573(สส., 2567) ที่ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (กนภ.) เมื่อต้นปีที่ผ่านมา นำมาใช้เพื่อประเมินศักยภาพการลดก๊าซเรือนกระจกในรายสาขา แผนฯ ดังกล่าวแสดงศักยภาพการลดก๊าซเรือนกระจกใน 5 สาขาที่ร้อยละ 30 ถึง 40 โดยแบ่งเป็น 184.8 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี (MtCO2eq) จากการดำเนินการเองภายในประเทศ และ 37.5 MtCO2eq จากการดำเนินงานโดยการสนับสนุนจากต่างประเทศ ข้อมูลจากแผนฯ ดังกล่าว ประกอบกับรายงานการทบทวนสถานการณ์และการดำเนินการระดับโลก ครั้งที่ 1 (Global Stocktake: GST 1) ถูกรวบรวมและนำมาวิเคราะห์เพื่อเป็นเกณฑ์ในการกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกใน NDC 2035 ของประเทศไทย
(ร่าง) แผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี พ.ศ. 2564 – 2573 (กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม(สส.), 2567)
ในส่วนของการดำเนินงานที่ผ่านมา กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) ได้จัดการประชุมเริ่มต้นการดำเนินงานเมื่อวันที่ 21-22 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 ร่วมกับหน่วยงานประสานงานกลางรายสาขา เพื่อหารือแนวทางในการพัฒนา NDC พ.ศ. 2578 โดยมีหน่วยงานที่เข้าร่วม ได้แก่ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) พร้อมกันนั้น สส. ได้จัดประชุมกลุ่มย่อย (Focus group) ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 9 และ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2567 เพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อแนวทางและมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ (ฉบับร่าง)
โครงสร้างเชิงสถาบันในการจัดทำ NDC ของประเทศ จาก ‘แผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี พ.ศ. 2564-2573’, (สส., 2567)
การประชุมกลุ่มย่อย (ครั้งที่ 1) ต่อการจัดทำร่าง เป้าหมาย แนวทาง และมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย ภายใต้การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด ฉบับที่ 2 (NDC 2035) ที่จัดขึ้นโดย สส. โดยมี ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นประธาน และมีหน่วยงานประสานงานกลางรายสาขา สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เข้าร่วมประชุม
ในขณะที่กระบวนการดำเนินไป ประเทศไทยกำลังจัดทำร่าง NDC ที่ครอบคลุมข้อมูลเกี่ยวกับการลดก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อนำเสนอต่อคณะทำงาน ตลอดจนจัดทำประชาพิจารณ์ และนำเสนอต่อคณะอนุกรรมการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านบูรณาการนโยบายและแผนการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ (sub-committee) เพื่อบูรณาการมาตรการการลดก๊าซเรือนกระจก ก่อนที่จะได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (กนภ.) รวมถึงเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้ความเห็นชอบภายในปี พ.ศ. 2568 และขั้นตอนสุดท้ายคือการส่งรายงาน NDC 2035 ให้ UNFCCC ภายในปี พ.ศ. 2568 ก่อนการประชุม COP30
ติดตามข้อมูลโครงการ CCMB เพิ่มเติมได้ที่: https://www.thai-german-cooperation.info/th/climate-coastal-and-marine-biodiversity-ccmb/