ภาพลักษณ์ของน้ำมันปาล์มในสายตาใครหลายคนนั้นไม่ต่างจาก “ผู้ร้าย” ที่บุกเข้ามาทำลายผืนป่า พรากชีวิตของสัตว์น้อยใหญ่ และบ้านของชนกลุ่มคนพื้นเมือง มิหนำซ้ำ น้ำมันปาล์มยังเป็นปัจจัยสำคัญของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตลอดจนปัญหามลพิษทางอากาศขั้นรุนแรง ซึ่งเกิดจากการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อปลูกต้นปาล์ม ทำให้เกิดกระแสต่อต้านและการรณรงค์ให้เลิกใช้น้ำมันปาล์มขึ้น
แต่รู้ไหม . . น้ำมันปาล์มและการเพาะปลูกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนั้นไปด้วยกันได้
สวนปาล์มในจังหวัดกระบี่ ประเทศไทย (เครดิตรูปภาพ: GIZ Thailand)
กนกวรรณ ศาศวัตเตชะ ผู้จัดการโครงการการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมประจำประเทศไทย (เครดิตรูปภาพ: GIZ Thailand)
กนกวรรณ ศาศวัตเตชะ ผู้จัดการโครงการการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมประจำประเทศไทย เล่าให้ฟังว่า ทำไมการผลิตน้ำมันปาล์มโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ ‘เป็นไปได้’
“เราต้องยอมรับว่า การบุกรุกเพื่อปลูกปาล์มคือเรื่องจริง แต่ต้องเข้าใจด้วยว่า พื้นที่ปลูกปาล์มไม่ได้มาจากผืนป่าทั้งหมด จึงไม่ควรเหมาว่าน้ำมันปาล์มทั้งหมดเป็นผู้ร้าย”
กนกวรรณ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในความเป็นจริง ประเทศไทยมีระบบการปกป้องและอนุรักษ์ผืนป่าที่ดีและพื้นที่ปลูกปาล์มใหม่ส่วนใหญ่ในประเทศล้วนมากจากพื้นที่การเกษตรเดิม เช่น สวนยางพารา สวนผลไม้ หรือนาข้าวร้าง ดังนั้น ปัญหาการบุกรุกป่าเพื่อปลูกต้นปาล์มในเมืองไทยจึงแทบเป็นศูนย์
“การต่อต้านน้ำมันปาล์มโดยไม่รู้แน่ชัดว่าน้ำมันปาล์มเหล่านั้นมาจากผืนป่าจริงหรือไม่ ย่อมส่งผลเสียมากกว่าผลดีเพราะนั้นเท่ากับเป็นการตัดท่อรายได้ของเกษตรกรรายย่อยหลายแสนครัวเรือนในประเทศไทยที่ไม่ได้บุกรุกป่า”
น้ำมันปาล์มเป็นภัยคุกคามต่อธรรมชาติ .. จริงหรือ?
ปาล์มเป็นพืชผลสำคัญและเก่าแก่ มนุษย์ในอดีตใช้ผลปาล์มเพื่อสกัดน้ำมันมาปรุงอาหาร และนำใบของปาล์มไปจักสานทำสิ่งต่างๆ ตั้งแต่หลังคาบ้านไปจนถึงตะกร้า อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา ความต้องการใช้น้ำมันปาล์มพุ่งสูงขึ้นมาก ส่วนหนึ่งมาจากประโยชน์สารพัดและเนื้อสัมผัสแบบครีมของน้ำมัน อีกส่วนหนึ่งมาจากการให้ผลผลิตของปาล์มซึ่งใช้พื้นที่แค่เกือบครึ่งหรือมากกว่าครึ่งหนึ่งของพืชผลอื่นๆ เพื่อผลิตน้ำมันปริมาณมากกว่า 6-10 เท่า เช่น ถั่วเหลือง เรปซีด เมล็ดดอกทานตะวัน มะพร้าว และมะกอก
รายงานบัญชีแดงขององค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ระบุว่า อุรังอุตังทั้ง 3 สายพันธุ์ ได้แก่ บอร์เนียว (Bornean), สุมาตรา (Sumatran) และทาปานูลี (Tapanuli) อยู่ในเกณฑ์ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง หลังได้รับผลกระทบจากการทำลายทรัพยากรป่าไม้ รวมถึงการแผ้วถางป่าเพื่อเพาะปลูกปาล์มน้ำมัน
แต่ในปัจจุบัน น้ำมันปาล์มกลับเป็นพืชที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง เนื่องจากเชื่อกันว่า พื้นที่ป่าฝนเขตร้อน ที่อยู่อาศัยของกลุ่มชนพื้นเมือง และสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์หลายชนิด เช่น เสือโคร่งและลิงอุรังอุตังในประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซีย ถูกคุกคามร้ายแรงจากการแผ้วถางป่าให้กลายเป็นสวนปาล์ม
แต่กนกวรรณกลับเห็นต่าง โดยให้เหตุผลว่า การผลิตน้ำมันปาล์มที่เน้นเร่งผลผลิตอย่างเดียวจนขาดความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมต่างหากที่เป็นต้นเหตุของการตัดไม้ทำลายป่า
“ป่าฝนเขตร้อนทุกๆ แห่งนอกจากเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า แล้วยังมีบทบาทที่สำคัญมากในการเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์และเป็นผืนป่าที่ผลิตก๊าซออกซิเจน หรืออากาศบริสุทธิ์ให้กับพวกเรา”
เมื่อผู้ปลูกปาล์มละเลยการผลิตที่ยั่งยืน เท่ากับว่าพวกเขาทำลายบ้านของสัตว์ป่านานาชนิด ทำลายปอดของโลก และเพิ่มปัญหาโลกร้อนแบบทวีคูณ
“หลังจากตัดต้นไม้ใหญ่ไปขายแล้ว ซากพืชที่เหลือจะถูกเผาทิ้งเพื่อเคลียร์พื้นที่ก่อนปลูกต้นปาล์ม ก่อให้เกิดปัญหาหมอกควัน หรือฝุ่นที่ทำลายสุขภาพมนุษย์เราตามมา”
การปลูกปาล์มที่ไม่ทำลายผืนป่า
สวนปาล์มที่ผ่านการรับรองมาตรฐานขององค์กรสนับสนุนการผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน หรือ อาร์เอสพีโอ (Roundtable on Sustainable Palm Oil: RSPO) จะไม่สามารถแผ้วถางป่าที่มีความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญ (เช่น ชนิดพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์) หรือระบบนิเวศที่เปราะบางได้ ผู้ปลูกปาล์มที่ได้รับการรับรองจะต้องดำเนินมาตรการเพื่อลดการกัดเซาะหน้าดินให้น้อยที่สุดและปกป้องแหล่งน้ำ
นอกจากความห่วงใยด้านสิ่งแวดล้อม ผู้ปลูกปาล์มต้องใส่ใจประเด็นสิทธิมนุษยชน เช่น การจ่ายค่าแรงขั้นต่ำ การไม่ใช้แรงงานเด็ก และการได้รับความยินยอมจากชุมชนท้องถิ่นล่วงหน้าโดยชุมชนท้องถิ่นจะยังมีอิสระและได้รับข้อมูลข่าวสารอย่างครบถ้วน
พูดสะท้อนความรู้สึกต่อการฝึกอบรมทักษะวิทยากรให้กับเกษตรกรและเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เดือนกรกฎาคม 2562 (เครดิตรูปภาพ: GIZ Thailand)
“ปัจจุบัน ประเทศไทยมีภาพลักษณ์การผลิตน้ำมันปาล์มที่ดี ไม่มีปัญหาบุกรุกพื้นที่ป่าหรือป่าพรุรุนแรง แต่ถ้าคนไทยยังคงนิ่งเฉย ไม่สนับสนุนน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนตอนนี้ ประเทศไทยอาจมีภาพลักษณ์ที่แย่เหมือนประเทศอินโดนีเซียหรือมาเลเซียก็ได้”
ทุกวันนี้ น้ำมันปาล์มที่ผลิตตามมาตรฐาน RSPO ทั่วโลกมีสัดส่วนเพียงแค่ร้อยละ 19 เท่านั้น ในขณะที่ประเทศไทยมีเกษตรกรที่สามารถปลูกปาล์มยั่งยืนน้อยกว่าร้อยละ 1 “เกษตรกรผู้ปลูกน้ำมันในไทยส่วนใหญ่ยังไม่รู้จักและขาดความรู้เรื่องการปลูกปาล์มยั่งยืน”
ในเมืองไทย มีเกษตรกรผู้ผลิตปาล์มประมาณ 2.4 แสนครัวเรือน มีประมาณร้อยละ 79 เป็นเกษตรกรรายย่อย (เครดิตรูปภาพ: GIZ Thailand)
การแทรกแซงจากรัฐบาลในประเทศผู้ผลิตมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากวิธีแก้ปัญหาน้ำมันปาล์มที่อาศัยกลไกตลาดเพียงอย่างเดียวนั้นไม่ยั่งยืน กนกวรรณกล่าวเพิ่มเติมว่า คณะกรรมการน้ำมันปาล์มแห่งชาติ (กนป.) และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) และสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ควรเร่งส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรและอุตสาหกรรมผู้ผลิตในห่วงโซ่อุปทานอย่างจริงจังเพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิตน้ำมันปาล์มในบ้านเราให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล เพื่อลดผลกระทบเชิงลบต่อผืนป่าและทุกชีวิตที่อยู่ในนั้น
“ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหาเกษตรกรปลูกปาล์มอย่างยั่งยืน โรงงานควรรับซื้อน้ำมันปาล์มจากแหล่งผลิตที่ยั่งยืนและต้องสื่อสารให้ผู้บริโภครับทราบ”
พื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันและโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดิบของประเทศไทยส่วนใหญ่อยู่ในภาคใต้ เช่น กระบี่ สุราษฏร์ธานี และชุมพร คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 86.4 ของพื้นที่ปลูกน้ำมันปาล์มทั่วประเทศ (เครดิตรูปภาพ: GIZ Thailand)
บทบาทของ ‘ผู้บริโภค’ ที่หายไป
สิ่งสำคัญที่ยังขาดหายไป คือ เสียงของผู้บริโภคในประเทศที่ยังไม่มีความต้องการน้ำมันปาล์มยั่งยืน เพราะไม่รู้ว่าน้ำมันปาล์มเป็นส่วนประกอบที่สำคัญที่พบได้ในผลิตภัณฑ์ที่เราใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวันกว่าครึ่งของอาหารที่วางขายในซุปเปอร์มาร์เก็ตเองก็มีส่วนประกอบของน้ำมันปาล์ม
“ผู้บริโภคหลายคนอาจจะคิดว่าปัญหาการบุกรุกทำลายป่าเป็นเรื่องไกลตัวและไม่ใช่ปัญหาที่ตนก่อขึ้น แต่ความจริงมันเป็นใกล้ตัวเรามาก เพราะมากกว่าร้อยละ 50 ของผลิตภัณฑ์หลายอย่างที่อยู่รอบตัวเรา เช่น อาหารและไบโอดีเซลมีน้ำมันปาล์มเป็นส่วนผสม ผู้บริโภคเป็นคนกำหนดได้ว่าจะ ‘หยุด’ หรือ ‘ปล่อย’ ให้ปัญหาดำเนินต่อไป”
คุณกนกวรรณอธิบายให้ฟังเพิ่มเติมว่า เกษตรกรหนึ่งคนจะสามารถปลูกปาล์มอย่างยั่งยืนได้ต้องผ่านหลายขั้นตอนและต้องเข้าอบรมเพิ่มพูนความรู้และทักษะหลายอย่าง ซึ่งมีต้นทุนและค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงก่อนจะผ่านการรับรอง RSPO ได้
น้ำมันปาล์มโอเลอินตราเทสโก้ (Tesco) เป็นน้ำมันปาล์มและผลิตภัณฑ์แรกของเมืองไทยที่ได้รับมาตรฐาน RSPO และวางจำหน่ายในซุปเปอร์มาร์เก็ต
“น่าเสียดายที่น้ำมันปาล์มที่ผลิตอย่างยั่งยืนจากไทยถูกส่งออกไปผลิตเป็นสินค้าและวางขายในตลาดยุโรปหมด ในฐานะที่เป็นคนไทย เราอยากมีโอกาสได้ใช้สินค้าที่มีส่วนผสมของน้ำมันปาล์มยั่งยืนในบ้านเราบ้าง”
เพียงแค่ผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าที่มีฉลาก RSPO ค่าใช้จ่ายตรงนั้นจะกลายเป็นผลกำไรสู่เกษตรกรผู้ปลูกปาล์ม ทำให้คุณภาพชีวิตของเกษตรกรและครอบครัวดีขึ้น อีกทั้งสร้างแรงจูงใจในการปลูกปาล์มอย่างยั่งยืนและรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมต่อไป
คืนกำไร คืนคุณภาพชีวิตที่ดีให้เกษตรกร
อีกหนึ่งบทบาทของคนที่ไม่ควรมองข้าม…เกษตรกรผู้ผลิตปาล์มน้ำมัน
เมื่อเอ่ยถึงเกษตรกรผู้ผลิตปาล์มน้ำมัน ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของทั้งกระบวนการเลยก็ว่าได้ เพราะถ้าพูดถึงน้ำมันปาล์มเกษตรกรส่วนใหญ่ก็จะมองภาพได้ตั้งแต่เรื่องของการทำสวน การใส่ปุ๋ย และกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสวนปาล์ม เรียกได้ว่าปาล์มน้ำมันอยู่คู่กับเกษตรกรตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งเข้านอน
วันนี้เราได้มีโอกาสมานั่งคุยกับคุณประคอง สกุลสวน เกษตรกรที่ใช้ชีวิตกับสวนปาล์มน้ำมันไม่น้อยกว่า 40 ปี
“เมื่อก่อนถ้าพูดถึงปาล์มน้ำมัน ภาพที่เกิดขึ้นในหัวคือ “น้ำมันพืช” ที่อยู่ในครัว เท่านั้นจริงๆ แต่ทุกวันนี้เมื่อตื่นนอนขึ้นมา มันเหลือเชื่อมากที่ต้องเจอกับผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของน้ำมันปาล์มอยู่รอบตัวทั้งวัน ตั้งแต่หัวจรดเท้า ไม่ว่าจะเป็น ยาสีฟัน แชมพู สบู่ โลชั่น เครื่องสำอาง น้ำยาล้างจาน ผงซักฟอก อาหาร น้ำมันรถ และอีกมากมาย และทำให้รู้เลยว่า นี่เราคือผู้ผลิต “ต้นทางของปาล์มน้ำมัน” น้ำมันจากสวนเราต้องไปอยู่ในผลิตภัณฑ์หลายๆ ชิ้นอย่างแน่นอน”
ปาล์มน้ำมันที่บอกว่าเป็นพืชที่น่ารังเกียจนั้น ประคองก็เคยได้ยิน เนื่องจากภาพลักษณ์ที่เราเห็นเรื่องหมอกควัน การเผาป่า สัตว์ป่าถูกเผา ในความเป็นจริงในประเทศไทยเราอาจจะไม่ได้เป็นแบบนั้น แต่เมื่อเราเป็นผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน ก็พลอยได้รับผลกระทบตรงนี้ไปด้วย
ประคอง สกุลสวน สมาชิกแปลงใหญ่ปาล์มน้ำมันอำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ (เครดิตรูปภาพ: GIZ Thailand)
แล้วต้องทำอย่างไรให้ปาล์มน้ำมันเป็นพืชที่สวยงามและมีความยั่งยืน
ตอนนี้เกษตรกรในประเทศไทยได้รับความรู้เรื่องการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืนมากขึ้น เนื่องจากมีหลายหน่วยงาน เช่น มหาวิทยาลัย หรือแม้แต่โรงงานเองที่เข้ามาส่งเสริม ให้การอบรม และคอยแจ้งข่าวสารต่างๆ เกี่ยวกับสถานการณ์ปาล์มน้ำมันให้กับเกษตรกร ประคองและเพื่อนๆ ชาวสวนมีการปรับเปลี่ยนการปฏิบัติไปในแนวทางความยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งเธอเห็นว่ามันดีมาก
“ที่นี่เราเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน หลังจากที่ได้อบรม พวกเราทุกคนเข้าสวนบ่อยขึ้น เข้าใจถึงการใส่ปุ๋ยที่ถูกต้อง เหมาะสม และใส่อย่างไรไม่ให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น ถ้าใกล้ตลิ่งหรือริมน้ำก็จะไม่ใส่ เพื่อป้องกันการชะล้างสารเคมีลงไปในน้ำ อีกทั้งตัวใบปาล์มเอง เราก็เพิ่งมารู้ว่ามันช่วยคลุมดินรักษาความชื้นและลดการชะล้างพังทะลายของดิน ความรู้ที่ได้รับช่วยทำให้เราเข้าใจและน่าจะปรับปรุงสวนของเราให้ดีขึ้นได้ ตอนนี้ก็ลดการใช้สารเคมีกันไปเยอะแล้ว ดีต่อสิ่งแวดล้อม ดีต่อสุขภาพของพวกเรา และทำให้เรามีความสุขในอาชีพมากขึ้น”
ประคองยังทิ้งท้ายไว้อีกด้วยว่า…
“เราทุกคนต้องช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อม โดยเลือกวิธีการจัดการสวนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ฉันคิดว่าการผลิตปาล์มน้ำมันด้วยแนวทางยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแบบนี้ เป็นแนวทางที่เกษตรกรทุกคนควรนำไปปฏิบัติ”