MA-RE-DESIGN จัดประชุมด้านการพัฒนาโครงสร้างหน่วยงานความรับผิดชอบของผู้ผลิตและแนวทางการกำหนดค่าธรรมเนียม EPR ในไทย

เมื่อวันที่ 17-18 ธันวาคม พ.ศ. 2567 องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ผ่านโครงการการลดการใช้ การออกแบบที่ยั่งยืน และการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์พลาสติกเพื่อป้องกันขยะในทะเล (MA-RE-DESIGN) ร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวกับหลักการความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility: EPR) ณ โรงแรมเมอเวนพิค บีดีเอ็มเอส เวลเนส รีสอร์ต กรุงเทพ เพื่อหารือเกี่ยวกับการจัดการบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืนในประเทศไทย โดยเฉพาะเรื่องการพัฒนาโครงสร้างองค์กรความรับผิดชอบของผู้ผลิต (Producer Responsibility Organisation: PRO) และการกำหนดค่าธรรมเนียม EPR
การประชุมนี้มีผู้เข้าร่วมกว่า 50 คนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรภาคประชาสังคม และสถาบันการศึกษา ซึ่งช่วยส่งเสริมให้มีการสนทนาและความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง พร้อมวางรากฐานในการสร้างกรอบ EPR ที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยต่อไป นอกจากนั้นยังมีการพูดคุยถึงความท้าทาย เช่น ความจำเป็นในการรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชน และแนวทางที่ชัดเจนสำหรับภาคธุรกิจ โดยย้ำว่าความร่วมมือร่วมใจเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้

ผู้เข้าร่วมได้ความรู้ที่มีประโยชน์จากต่างประเทศ โดยมีหลายกรณีศึกษาที่แสดงให้เห็นถึงระบบ EPR ที่มีประสิทธิภาพและสามารถนำมาใช้ในประเทศไทยได้ การแบ่งกลุ่มย่อยยังเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับโครงสร้างวิธีการคำนวณค่าธรรมเนียม EPR และโครงสร้าง PRO โดยย้ำความสำคัญของการสร้างระบบค่าธรรมเนียมที่เป็นธรรม และการสร้างแรงจูงใจในการปฏิบัติในระยะยาว พร้อมให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจ

การประชุมครั้งนี้ได้สรุปความสำคัญของการส่งเสริมแนวปฏิบัติทางนโยบายบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน โดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างกระตือรือร้นที่กรอบ EPR มีศักยภาพที่จะช่วยลดขยะพลาสติกและปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลได้ โดยข้อมูลและข้อเสนอแนะที่ได้จากการประชุมจะเป็นแนวทางในการพัฒนาเพื่อปรับปรุงโครงสร้าง PRO และสนับสนุนการพัฒนาร่างพระราชบัญญัติการจัดการบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืนซึ่งดำเนินงานโดยกรมควบคุมมลพิษต่อไป

โครงการ MA-RE-DESIGN (Marine Litter Prevention through reduction, sustainable design, and recycling of plastic packaging) ภายใต้การสนับสนุนของกระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติ ความปลอดภัยทางปรมาณูและคุ้มครองผู้บริโภค สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMUV) ดำเนินงานโดย GIZ องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) และกลุ่มประสานความร่วมมือทางทะเลในภูมิภาคเอเชียตะวันออก โดยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งองค์การสหประชาชาติ (UNEP-COBSEA) ร่วมกับกรมควบคุมมลพิษในฐานะพันธมิตรโครงการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และองค์กรไม่แสวงหากำไร ในการสนับสนุนการดำเนินงานทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาคเพื่อจัดการขยะบรรจุภัณฑ์พลาสติกและการปกป้องท้องทะเลไทย
อัลบั้มภาพ
คุณอัลวาโร่ ซูริต้า
ผู้อำนวยการโครงการ MA-RE-DESIGN
อีเมล: alvaro.zurita(at)giz.de