โครงการส่งเสริมมาตรการ แนวทาง และแผนงานเพื่อการปรับปรุงประสิทธิภาพยานยนต์และการเปลี่ยนผ่านสู่ยานยนต์ไฟฟ้า (IMPROVE)
ความเป็นมา
บริบทโลก
ปัจจุบัน 1 ใน 4 ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกี่ยวข้องกับพลังงานที่ปล่อยออกมาทั่วโลกนั้นมาจากภาคขนส่ง ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกำลังเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการขนส่งทางบกในประเทศที่ไม่อยู่ในองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (non-OECD) เนื่องจากยานยนต์สันดาปภายในมีจำนวนมากขึ้น ถึงแม้จำนวนยานยนต์ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ก็ยังคงเป็นส่วนน้อยเมื่อเทียบกับยอดขายยานยนต์ทั่วโลก ในขณะเดียวกัน สัดส่วนของรถยนต์ขนาดใหญ่ (SUVs) เพิ่มขึ้นในทุกตลาดได้หักล้างประโยชน์ที่ได้จากการพัฒนาของประสิทธิภาพยานยนต์ในตลาดยานยนต์สันดาปภายใน
หลายประเทศขาดกฎระเบียบที่จะทำให้ตลาดยานยนต์ส่งเสริมการบรรลุวัตถุประสงค์ด้านสภาพภูมิอากาศและลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลของประเทศได้ โครงการ IMPROVE จะเข้ามาเติมเต็มช่องว่างนี้ใน 4 ประเทศ ได้แก่ โคลัมเบีย เคนยา โมร็อคโค และไทย โดยให้การสนับสนุนกระทรวงที่เป็นหน่วยงานร่วมดำเนินงานในการพัฒนาข้อเสนอเกี่ยวกับนโยบายและกฎระเบียบที่จะช่วยให้ประเทศเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์ที่สะอาดขึ้นและมีประสิทธิภาพการใช้พลังงานมากขึ้น
บริบทประเทศไทย
ในการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (NDC) ฉบับปรับปรุง ประเทศไทยให้คำมั่นที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 30 – 40 ภายในปี พ.ศ. 2573 เมื่อเทียบกับกรณีฐานปกติ (BAU scenario) ซึ่งจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกราว 555 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า มาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคคมนาคมขนส่งอาจสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซได้ถึง 45.61 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ขณะนี้ ภาคคมนาคมขนส่งคิดเป็นประมาณร้อยละ 20 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2562 จากข้อมูลของกรมการขนส่งทางบก ในปี พ.ศ. 2565 มีรถยนต์ในประเทศไทย 43.4 ล้านคัน โดยมีรถยนต์จดทะเบียนใหม่ประมาณ 2.7 ล้านคันต่อปี และในจำนวนนั้น 8 แสนคันเป็นรถยนต์ส่วนบุคคล
ในฐานะประเทศผู้ผลิตยานยนต์อับดับ 10 ของโลก ประเทศไทยสามารถขับเคลื่อนนโยบายการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพด้านยานยนต์ได้ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต ตามนโยบาย “30@30” ประเทศไทยมุ่งที่จะผลักดันให้ร้อยละ 30 ของยานยนต์ที่ผลิตในประเทศ รวมถึงร้อยละ 50 ของรถยนต์ส่วนบุคคลและรถกระบะที่ขายในประเทศ เป็นยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (ZEV) ภายในปี พ.ศ. 2573 นั่นหมายความว่า รถยนต์ใหม่ที่เหลืออีกร้อยละ 70 ในปี พ.ศ. 2573 จะยังคงพึ่งพาการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและปล่อยมลพิษปริมาณมหาศาล เว้นเสียแต่ว่าจะมีการปรับปรุงให้รถเหล่านั้นใช้น้ำมันน้อยลง โครงการ IMPROVE ตั้งใจจะแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยให้การสนับสนุนประเทศไทยในการทำความพยายามนี้ให้สำเร็จ โดยมุ่งเน้นไปที่การสร้างสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับการเพิ่มประสิทธิภาพยานยนต์ และการสร้างสมดุลระหว่างผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมกับผลกระทบทางเศรษฐกิจของนโยบายเหล่านี้ในประเทศไทย
วัตถุประสงค์
โครงการ IMPROVE มุ่งให้การสนับสนุนประเทศร่วมดำเนินโครงการในการบรรลุเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคคมนาคมขนส่ง โดยเน้นไปที่การพัฒนานโยบายการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพด้านยานยนต์
แนวทางการดำเนินงาน
โครงการดำเนินงานโดยเข้าถึงหลายภูมิภาคและดึงหลายหน่วยงานเข้ามามีส่วนร่วม และทำงานร่วมกับกระทรวงที่เป็นหน่วยงานร่วมดำเนินงานและผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ
1. การระบุทางเลือกนโยบาย
ในขั้นแรก โครงการและหน่วยงานร่วมดำเนินงานจะร่วมกันวิเคราะห์ตลาดยานยนต์และรูปการณ์ปัจจุบันของกฎเกณฑ์ในประเทศไทย โดยคำนึงถึงยุทธศาสตร์ด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ พลังงาน และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง รวมถึง การมีอยู่ของข้อมูล การเข้าถึงข้อมูล และคุณภาพของข้อมูล เพื่อให้หน่วยงานร่วมดำเนินงานสามารถระบุเครื่องมือเชิงนโยบายที่สอดคล้องกับประเด็นที่ประเทศไทยให้ความสำคัญและเหมาะสมกับสภาพในท้องถิ่นมากที่สุด โดยอ้างอิงจากการวิเคราะห์นี้
2. การเก็บข้อมูลและการพัฒนาข้อมูลฐาน
แนวทางกฎเกณฑ์แบบใหม่ทำให้ต้องมีพื้นฐานเชิงประจักษ์ที่แน่นหนาและเชื่อถือได้ ดังนั้น เมื่อเลือกเครื่องมือเชิงนโยบายแล้ว โครงการจะให้การสนับสนุนหน่วยงานร่วมดำเนินงานในการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลที่จำเป็นเกี่ยวกับยานพาหนะ การใช้เชื้อเพลิง และการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อสร้างหรือปรับปรุงข้อมูลฐานของการใช้เชื้อเพลิงและการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สำหรับกลุ่มยานยนต์ที่เกี่ยวข้อง
3. การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและการสร้างฉันทามติ
โครงการจะให้การสนับสนุนหน่วยงานร่วมดำเนินงานการในการดึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาข้อเสนอนโยบาย โดยการจัดการประชุมร่วมกับที่ปรึกษาและการประชุมเชิงปฏิบัติการ และจัดตั้งคณะอำนวยการที่ประกอบด้วยตัวแทนจากหลายหน่วยงาน
4. การศึกษาเชิงเทคนิคและการออกแบบข้อเสนอนโยบาย
ด้วยการศึกษาทางวิชาการเชิงลึกจะช่วยสนับสนุนกระบวนการพัฒนาข้อเสนอนโยบาย ซึ่งจำเป็นสำหรับการออกแบบนโยบายใหม่ และการดำเนินการจริง การศึกษานี้ประกอบด้วยฉากทัศน์การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจสังคม และข้อแนะนำทางกฎหมาย
5. การเรียนรู้จากต่างประเทศ
เนื่องจากโครงการมีการดำเนินงานในสี่ประเทศไปพร้อม ๆ กัน แต่ละประเทศจะสามารถได้ประโยชน์จากการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และบทเรียนซึ่งกันและกัน โครงการจะจัดเวทีแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ ตัวอย่างเช่น ในงาน Transport and Climate Change Week ในเมืองเบอร์ลิน ซึ่งประเทศร่วมดำเนินงานจะได้ปฏิสัมพันธ์กับประเทศร่วมดำเนินงานอื่นและกับผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ
การดำเนินงานที่ผ่านมา (สำหรับโครงการที่เริ่มดำเนินการเป็นปีที่ 2 ขึ้นไป)
- ร่างรายงานการศึกษาเพื่อกำหนดขอบเขตรายละเอียด
- การสร้างความร่วมมือระหว่างสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจรและสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในเรื่องข้อเสนอแนะด้านนโยบายประสิทธิภาพพลังงาน
- การจัดตั้งคณะทำงานของโครงการ โดยมีสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจรเป็นประธาน
สนับสนุนงบประมาณโดย
กระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติ ความปลอดภัยทางปรมาณู และคุ้มครองผู้บริโภค สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMUV)
ประเทศ
โคลัมเบีย เคนยา โมร็อกโก ไทย
หน่วยงานร่วมดำเนินงาน
สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม ประเทศไทย
โดยความร่วมมือกับ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ประเทศไทย
ระยะเวลาดำเนินโครงการ
ธันวาคม พ.ศ. 2565 – พฤษภาคม พ.ศ. 2569
เดเนียล บองการ์ต
ผู้อำนวยการโครงการ
อีเมล: daniel.bongardt(at)giz.de
ปพนธนัย นันทชัชวาลย์กุล
ผู้จัดการโครงการ
อีเมล: papondhanai.nanthachatchavankul(at)giz.de