ตัวแทนระดับสูงจากประเทศอินเดีย ไทยและเวียดนามร่วมเข้าการอบรม Maximum Yield Technology หรือ MYT ในประเทศเยอรมนี ในวันที่ 11 – 14 กันยายน 2561 ที่ผ่านมา
แนวทางการบริหารทรัพยากรแบบบูรณาการของเมือง (Nexus) มุ่งเน้นการพึ่งพาอาศัยกันระหว่างน้ำ พลังงานและความมั่นคงด้านอาหาร เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นด้านการบริการขั้นพื้นฐานและการพัฒนาเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรได้อย่างประสิทธิภาพและเกิดความยั่งยืน ความมั่นคงของน้ำ พลังงานและอาหาร ล้วนขึ้นอยู่กับระบบนิเวศ และแหล่งทรัพยากรที่สำคัญอย่างที่ดิน น้ำและพลังงาน ก็นับเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศนี้ ซึ่งต้องสร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์กับการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นทางเลือกใหม่ซึ่งต่างจากระบบเศรษฐกิจแบบเส้นตรงที่เน้นส่งเสริมการผลิต–บริโภค–และทิ้ง กล่าวคือ แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนจะช่วยรักษาทรัพยากรให้มีใช้ไว้ได้นานที่สุด โดยเน้นไปที่การเพิ่มประสิทธิภาพของการจัดการของเสีย ด้วยการนำวัตถุดิบที่ผ่านการผลิตและบริโภคแล้วเข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่และสนับสนุนการใช้ซ้ำ
เมืองส่วนใหญ่ในเอเชีย เผชิญปัญหาการจัดการขยะมูลฝอยที่คล้ายๆ กัน นั่นคือ ขยะที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น ขยะที่ไม่ได้รับการคัดแยก ขยะอินทรีย์และมีความชื้นสูง รวมทั้งการขาดแคลนเชื้อเพลิงขยะ ที่จะถูกนำมาใช้แทนเชื้อเพลิงฟอสซิล ดังนั้นโครงการบริหารทรัพยากรแบบบูรณาการของเมืองในเอเซีย (Urban Nexus) ของ GIZ จึงได้จัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่องเทคโนโลยีการจัดการขยะแบบใหม่ที่เรียกว่า Maximum Yield Technology (MYT) ที่โรงงานบำบัดของเสีย Zweckverband Abfallbehandlung Kahlenberg (ZAK)ในเมือง Ringsheim ประเทศเยอรมนี เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าว และสามารถนำมาปรับใช้กับขยะมูลฝอยของเทศบาลเมืองในเอเชีย เพื่อให้ได้ผลผลิตมากที่สุด มีประสิทธิภาพสูงสุดและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด การอบรมในครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมจากทั้งระดับประเทศ รัฐ เมืองหลัก และเมือง จากประเทศไทย อินเดีย และเวียดนาม จำนวน 16 ท่าน
การอบรมเน้นแนวคิดของระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนและการเปลี่ยนขยะให้เป็นพลังงาน รวมทั้งมีการเสนอแนะวิธีที่จะทำให้เมืองและประเทศที่เข้าร่วม สามารถเรียนรู้และนำไปประยุกต์ใช้เพื่อบรรลุตามความตกลงปารีส การมีส่วนร่วมของประเทศ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และวาระการพัฒนาเมืองใหม่
การฝึกอบรมอธิบายถึงประวัติและโครงสร้างของโรงงานบำบัดของ ZAK ซึ่งใช้เทคโนโลยี MYT ผู้เข้าร่วมการอบรมได้เยี่ยมชมสถานที่บำบัดต่างๆ โรงงานผลิตกระดาษซึ่งใช้เชื้อเพลิงขยะเป็นเชื้อเพลิงทดแทน และถูกผลิตโดยโรงงาน ZAK โรงงานซีเมนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงขยะ) บริษัทบำบัดขยะอินทรีย์และผลิตก๊าซชีวภาพ การศึกษาดูงานในช่วงสองวันสุดท้าย ได้เน้นย้ำถึงหลักเกณฑ์และข้อบังคับที่ทำให้โรงงาน ZAK และเทคโนโลยี MYT ถูกหยิบยกให้เป็นกรณีศึกษาที่ประสบความสำเร็จในเยอรมนีและแนะนำวิธีการที่จะสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ในภูมิภาคเอเชีย
อาจกล่าวได้ว่า การฝึกอบรมครั้งนี้ ได้ให้ข้อมูลที่ครอบคลุมทั้งเรื่องการบำบัดของเสียทางกลและทางชีวภาพ การนำกลับมาใช้ใหม่ การทำเชื้อเพลิงขยะ ตลอดจนวิธีการประยุกต์ใช้ ผู้เข้าร่วมต่างแสดงเจตนารมณ์ที่จะนำวิธีการของโรงงาน ZAK และเทคโนโลยี MYT มาปรับใช้กับพื้นที่ของตน
การอบรมเชิงปฏิบัติเรื่องเทคโนโลยีการจัดการขยะแบบใหม่ที่เรียกว่า Maximum Yield Technology (MYT) ดำเนินการภายใต้โครงการบริหารทรัพยากรแบบบูรณาการของเมืองในเอเซีย (Urban Nexus) ของ GIZ ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากกระทรวงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMZ) และจัดขึ้นร่วมกับรัฐบาลท้องถิ่นเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (ICLEI South Asia) โรงงานบำบัดของเสีย Zweckverband Abfallbehandlung Kahlenberg (ZAK) สมาคมการจัดการขยะมูลฝอยพิเศษ Kahlenberg และ EUWelle
Maximum Yield Technology หรือ MYT เป็นเทคโนโลยีใหม่ในการใช้บำบัดและใช้ประโยชน์จากของเสียจากบ้านเรือน เพื่อคัดแยกพลังงานจากของเสีย และนำพลังงานกลับไปใช้เป็นเชื้อเพลิง
ZAK เป็นสมาคมที่ถูกก่อตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เฉพาะในเรื่องการบำบัดของเสีย ภายใต้ความร่วมมือระหว่างเขตปกครองของ Emmendingen (EM) และ Ortenaukreis (OG) ซึ่งตั้งอยู่ในเมือง Ringsheim ที่มีประชากร 583,000 คน ซึ่งผลิตขยะถึง 100,000 ตันต่อปี ขยะจากครัวเรือนถูกส่งไปยังโรงงาน ZAK โดยบริษัทเอกชน จากนั้น ZAK จะบำบัดของเสียโดยการรีไซเคิล การสกัดก๊าซชีวภาพ การนำขยะมาทำเป็นเชื้อเพลิงขยะ (RDF) และการกำจัดทิ้ง นอกจากนี้โรงงาน ZAK ยังมีหน่วยธุรกิจที่เรียกว่า MYT Business Unit GmbH ซึ่งให้บริการด้านการถ่ายทอดความรู้และความก้าวหน้าในโครงการต่างๆ ที่ใช้เทคโนโลยี MYT